posttoday

โพลนิด้าคนหนุนมี "สว.สรรหา" ช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปี

20 มีนาคม 2559

นิด้าโพลเผยคนเห็นด้วยมี สว.สรรหา ช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปี พร้อมให้ผบ.เหล่าทัพเข้าร่วมดำรงตำแหน่งช่วยแก้ปัญหาประเทศ

นิด้าโพลเผยคนเห็นด้วยมี สว.สรรหา ช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปี พร้อมให้ผบ.เหล่าทัพเข้าร่วมดำรงตำแหน่งช่วยแก้ปัญหาประเทศ

เมื่อวันที่ 20 มี.ค. ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) สรรหา ในช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปี” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 14 – 15 มี.ค. จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปี ขึ้นไป กระจายทุกระดับการศึกษาและอาชีพ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,250 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการสรรหาสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ในช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปี โดยเป็น ส.ว. สรรหาที่มาจากกลุ่มต่าง ๆ และระหว่างวันที่ 17 – 18 มี.ค. ได้ดำเนินการสำรวจประชาชนจากหน่วยตัวอย่างเดิมที่มีอายุ 18 ปี ขึ้นไป กระจายทุกระดับการศึกษาและอาชีพ รวมทั้งสิ้น จำนวน 801 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการแต่งตั้งผู้บัญชาการเหล่าทัพ ได้แก่ ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เข้ามาเป็น สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) สรรหาโดยตำแหน่ง ในช่วงเปลี่ยนผ่านประมาณ 5 ปี

จากผลการสำรวจ เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อการให้มีสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) สรรหา มาควบคุม และกำหนดทิศทางการบริหารประเทศ ในช่วงเปลี่ยนผ่านประมาณ 5 ปี พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 52.08 ระบุว่า เห็นด้วย เพราะ บ้านเมืองจะได้เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นอีกทั้งได้ตรวจสอบและควบคุมดูแลการทำงานของรัฐบาลได้ รองลงมา ร้อยละ 40.64 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย เพราะ ส.ว. ควรมาจากการเลือกตั้งของประชาชนหรือ ให้มีการเลือกตั้งด้วยส่วนหนึ่ง อีกทั้งระยะเวลา 5 ปีนานเกินไป อาจเป็นการสืบทอดอำนาจ และอาจเป็นการนำเอาพรรคพวกตนเองเข้ามา ร้อยละ 0.32 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ ควรมีระยะเวลาในการดำรงตำแหน่ง 3 ปี ขณะที่บางส่วน ระบุว่า ทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย และร้อยละ 6.96 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

ต่อมาเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อการให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาเป็น สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) สรรหาในช่วงเปลี่ยนผ่านประมาณ 5 ปี พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 51.36 ระบุว่า เห็นด้วย เพราะ มีความรู้ด้านกฎหมายและชอบการทำงานของ คสช. ที่เข้ามาดูแลเรื่องคอร์รัปชัน ดูจากผลงานที่ผ่านมาของ คสช. ทำงานได้ดี รองลงมา ร้อยละ 44.64 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย เพราะ ส.ว. ควรมาจากการเลือกตั้งของประชาชน ไม่อยากให้ คสช.มีอำนาจทางการเมืองเพราะจะเป็นการสืบทอดอำนาจ ร้อยละ 0.32 ระบุว่า มีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย และร้อยละ 3.68 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

ขณะที่ความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อการให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) บางส่วน เข้ามาเป็น สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) สรรหาในช่วงเปลี่ยนผ่านประมาณ 5 ปี พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 53.76 ระบุว่า เห็นด้วย เพราะ ดูจากการทำงานที่ผ่านมา สนช. หลายคนสามารถเป็น ส.ว.ได้ ซึ่งหลาย ๆ ท่านมีความรู้ความสามารถด้านกฎหมายจะได้ช่วยกันควบคุมและปรับปรุงการทำงาน รองลงมา ร้อยละ 36.72 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย เพราะ ส.ว. ควรมาจากการเลือกตั้งของประชาชน และอยากให้เปลี่ยนชุดใหม่ไม่ต้องการให้คนที่ออกกฎหมายมาเป็นคนตรวจสอบกฎหมายเอง บางส่วนมองว่าเป็นการสืบทอดอำนาจ ในขณะที่บางส่วนบอกว่าควรสรรหาจากบุคคลภายนอก (ที่ไม่ใช่ สนช.) ดีกว่า ร้อยละ 0.56 ระบุว่า มีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย และร้อยละ 8.96 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

ด้านความคิดเห็นของประชาชนที่มีต่อการให้สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) บางส่วน เข้ามาเป็น สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) สรรหาในช่วงเปลี่ยนผ่านประมาณ 5 ปี พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 54.80 ระบุว่า เห็นด้วย เพราะ ดูจากการทำงานที่ผ่านมา สปท. หลายคนสามารถเป็น ส.ว.ได้ ซึ่งหลาย ๆ ท่านมีความรู้ความสามารถด้านกฎหมาย รองลงมา ร้อยละ 36.16 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย เพราะ ส.ว. ควรมาจากการเลือกตั้งของประชาชน และอยากให้เปลี่ยนชุดใหม่เพื่อไม่ให้ดูเป็นการสืบทอดอำนาจ ร้อยละ 0.32 ระบุว่า มีทั้งเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย และร้อยละ 8.72 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

ท้ายที่สุดจากการสำรวจจากหน่วยตัวอย่างเดิมจำนวน 801 หน่วยตัวอย่าง ในประเด็นเรื่องการแต่งตั้งผู้บัญชาการเหล่าทัพ ได้แก่ ปลัดกระทรวงกลาโหม ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ และ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ เข้ามาเป็น สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) สรรหาโดยตำแหน่ง ในช่วงเปลี่ยนผ่านประมาณ 5 ปี พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 49.31 ระบุว่า เห็นด้วย เพราะ ทำให้ ส.ว. สรรหาที่เข้ามีความหลากหลายทางอาชีพ ซึ่งผู้บัญชาการเหล่าทัพ นั้นเป็นผู้ที่มากด้วยความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ จะได้เข้ามาช่วยกันแก้ไขปัญหาของประเทศ เป็นการสร้างพื้นฐานที่มั่นคงในการปรับเปลี่ยนระบบการบริหารงาน น่าจะมีระบบการทำงานที่ดีขึ้น รองลงมา ร้อยละ 42.07 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย เพราะ มองว่าเป็นการสืบทอดอำนาจของทหาร อาศัยระบบพวกพ้อง และเป็นการใช้อำนาจทางทหารมากเกินไป อาจเกิดปัญหาความขัดแย้งภายหลัง ควรให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการเลือกตั้ง ส.ว. จะดีกว่า หรือควรมาจากกลุ่มอาชีพอื่น ๆ เช่น กลุ่มนักวิชาการ กลุ่มเกษตรกร เป็นต้น ร้อยละ 1.50 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ เป็นใครก็ได้ขอให้มีความจริงใจในการแก้ไขประเทศ และร้อยละ 7.12 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

โพลนิด้าคนหนุนมี "สว.สรรหา" ช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปี