posttoday

สนช.รับหลักการร่างพ.ร.บ.แร่

17 มีนาคม 2559

มติสนช.รับหลักการกฎหมายแร่ กำหนดการทำเหมืองต้องรักษาสิ่งแวดล้อม-สุขภาพ

มติสนช.รับหลักการกฎหมายแร่ กำหนดการทำเหมืองต้องรักษาสิ่งแวดล้อม-สุขภาพ

เมื่อวันที่ 17 มี.ค. ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติ 148 ต่อ 1 เสียงรับหลักการร่างพ.ร.บ.แร่ โดยตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาในรายละเอียดจำนวน 21 คน และมีเวลาการทำงาน 60 วันก่อนส่งกลับมาให้ที่ประชุมสนช.ให้ความเห็นชอบ

ทั้งนี้ สาระสำคัญของร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว คือ การกำหนดให้รัฐมีหน้าที่ในการบริหารจัดการแร่เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศชาติและประชาชนอย่างยั่งยืน โดยคำนึงถึงดุลยภาพในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และ ผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมอย่างรอบด้าน โดยกำหนดให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและกระทรวงอุตสาหกรรมร่วมกันจัดทำแผนบริหารจัดการแร่ อย่างน้อยต้องประกอบด้วย การสำรวจทรัพยากรแร่ แหล่งแร่สำรอง การจำแนกเขตพื้นที่ศักยภาพแร่ พื้นที่ที่สมควรสงวนหวงห้ามหรืออนุรักษ์ไว้

จากนั้นได้มีการเปิดอภิปรายโดยส่วนใหญ่สมาชิกสนช.เห็นด้วยกับร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว โดยนายวัลลภ ตั้งคณานุรักษ์ สมาชิกสนช. กล่าวว่า สนับสนุนร่างพ.ร.บ.ดังกล่าว เพื่อดำเนินการกับการทำเหมืองแร่ เพราะที่ผ่านมาก็มีบทเรียนเกี่ยวกับการทำเหมืองแร่ที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนและสภาพแวดล้อม ไม่ว่าจะเป็นเหมืองคลิตี้และเหมืองปิล็อค ที่กาญจนบุรี เหมืองทองคำที่จังหวัดพิจิตร แต่ขอตั้งข้อสังเกตในมาตรา 9 ที่ห้ามไม่ให้ทำเหมืองแร่ในพื้นที่ที่แผนแม่บทบริหารจัดการแร่ กำหนดให้มีการสงวน หวงห้าม หรืออนุรักษ์ไว้ เว้นแต่มีความจำเป็นในทางเศรษฐกิจและไม่สามารถหาพื้นที่อื่นทดแทนได้ โดยต้องได้ความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) ซึ่งเห็นว่าต้องมีการกำหนดเด็ดขาดไม่จำเป็นต้องไปขอความเห็นชอบจากครม.

ขณะที่นายสนิท อักษรแก้ว สมาชิกสนช. อภิปรายว่า ร่างพ.ร.บ.นี้ให้ตั้งคณะกรรมการ 2 ชุด คือคณะกรรมการแร่ ซึ่งเป็นคณะกรรมการระดับชาติ และคณะกรรมการแร่ระดับจังหวัด ซึ่งเห็นว่าองค์ประกอบของคณะกรรมการยังไม่ครอบคลุมตัวแทนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงสาธารณสุข กรมประมง ตัวแทนจากกระทรวงกลาโหม เป็นต้น เนื่องจากบางพื้นที่เกี่ยวกับความมั่นคง บางพื้นที่ทำเหมืองในทะเล ซึ่งต้องมีตัวแทนบุคคลเหล่านี้ ในฐานะมีความรู้ความเชี่ยวชาญ
ด้าน นางอรรชกา สีบุญเรือง รมว.อุตสาหกรรม  ชี้แจงว่า สำหรับการต่อสัญญาให้สัมปทานแก่เหมืองทองคำ ที่จังหวัดพิจิตรนั้น จะต้องรอผลการศึกษาจากคณะกรรมการชุดต่างๆก่อนว่าเหมืองทองคำดังกล่าวก่อให้เกิดผลเสียในพื้นที่มากน้อยเพียงใด โดยขณะนี้กระทรวงอุตสาหกรรมได้มีการทำงานร่วมกันในหลายกระทรวงเพื่อศึกษาผลกระทบ ทั้งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และกระทรวงสาธารณสุข รวมทั้งยังมีบุคคลที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมเป็นกรรมการด้วย

นางอรรชกา กล่าวว่า การประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อวันที่ 15 มี.ค. ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรีมีความห่วงใยในเรื่องเหมืองทองคำดังกล่าวด้วย และสั่งให้นำผลการศึกษาเข้าครม.เพื่อพิจารณาในการต่อสัญญาสัมปทาน ดังนั้น การต่อสัญญาไม่ได้ขึ้นอยู่กับกระทรวงอุตสาหกรรมเพียงกระทรวงเดียว แต่ขึ้นอยู่ที่ครม.ด้วย อย่างไรก็ตาม ถ้าร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวมีผลบังคับใช้ จะต้องทำแผนแม่บทว่าในการประทานบัตร การทำเหมืองแร่ จะต้องปฏิบัติอย่างไรได้บ้าง  และยืนยันว่าทางครม.ได้คำนึงถึงผลประโยชน์ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และประชาชน