posttoday

"ประสาร" แนะกรธ.บัญญัติสิทธิชุมชนในร่างรธน.ให้ชัด

14 กุมภาพันธ์ 2559

"ประสาร"จี้กรธ.ใส่ประเด็น สิทธิชุมชนในร่างรัฐธรรมนูญให้ชัดเหมือนปี40-50 หวั่นประชาชนไร้เครื่องมือต่อกรรัฐ

"ประสาร"จี้กรธ.ใส่ประเด็น สิทธิชุมชนในร่างรัฐธรรมนูญให้ชัดเหมือนปี40-50 หวั่นประชาชนไร้เครื่องมือต่อกรรัฐ

นายประสาร มฤคพิทักษ์ แกนนำกลุ่ม 40 สว. และอดีตสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้านการเมือง เปิดเผยว่า สิทธิชุมชนเป็นคนละเรื่องกับที่กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ชี้แจง ว่าได้บัญญัติให้เป็นหน้าที่ของรัฐไว้แล้วรวมทั้งที่อธิบายว่าถ้ารัฐธรรมนูญไม่บัญญัติสิทธิใดๆ แปลว่าประชาชนมีสิทธินั้นๆ  ตนเห็นว่าเป็นสภาพนามธรรมและเลื่อนลอยอย่างยิ่ง ประชาชนจับต้องไม่ได้เลย

ทั้งนี้การบัญญัติให้สิทธิชุมชน เท่ากับประกาศว่าชุมชนเป็นเจ้าของสิทธิหรือเป็นผู้ทรงสิทธิที่จะใช้สิทธินั้นๆได้ เช่น สิทธิชุมชนในรัฐธรรมนูญปี 2540 และ 2550

นายประสารกล่าวว่า เกือบ 20 ปีที่ผ่านมา ชุมชนในสังคมไทยได้รับสิทธิและคุ้นเคยกับการใช้สิทธิชุมชนจนกลายเป็นวิถีชีวิตไปแล้ว ศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์จะมีจริงหรือไม่ ก็อยู่ที่ประชาชนหรือชุมชนเป็น"ผู้ทรงสิทธิ"จริงๆ ไม่ใช่ไปฝากผีฝากไข้ไว้กับรัฐ ที่มักจะไปด้วยกันกับทุนมากกว่าจะเห็นค่าประชาชน รัฐธรรมนูญฉบับใหม่นี้จึงควรที่จะยืนยันสิทธิของชุมชน หากไม่แล้วก็จะปล่อยให้ชุมชนและประชาชนอ้างว้างและว้าเหว่  มีตัวอย่างสิทธิชุมชนที่ขอยกมาให้เห็นสิทธิชุมชน (ตาม ม.67 ของ รธน.50 และ ม.56 ของ รัฐธรรมนูญ40) ว่า การดำเนินโครงการที่อาจเกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ต้อง 1.ทำ EIA/HIA 2.จัดรับฟังความเห็นประชาชน 3.ให้องค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อม  ให้ความเห็น และ"สิทธิชุมชนที่จะฟ้องรัฐย่อมได้รับความคุ้มครอง"

"บทบัญญัติที่รัฐธรรมนูญ 2 ฉบับรับรองไว้นี้ หลุดหายไปทั้งยวง จาก รัฐธรรมนูญร่างล่าสุด ถ้าเกิดกรณีมลพิษอุบาทว์แบบมาบตาพุด หรือที่กำลังจะเกิดผลกระทบรุนแรงจากเขตเศรษฐกิจพิเศษประชาชนจะมีเครื่องมืออะไรมาต่อสู้ในศาลปกครองหรือศาลอื่นๆได้"นายประสาร กล่าว