posttoday

คนหนุนตัดสิทธิผู้สมัครเลือกตั้งทุจริตตลอดชีวิต

14 กุมภาพันธ์ 2559

นิด้าโพลเผย คนหนุนตัดสิทธิผู้สมัครเลือกตั้งไม่สุจริตตลอดชีวิต เห็นด้วยให้รัฐมนตรีที่ศาลตัดสินว่ามีความผิดพ้นตำแหน่งทันที

นิด้าโพลเผย คนหนุนตัดสิทธิผู้สมัครเลือกตั้งไม่สุจริตตลอดชีวิต เห็นด้วยให้รัฐมนตรีที่ศาลตัดสินว่ามีความผิดพ้นตำแหน่งทันที

เมื่อวันที่ 14 ก.พ. ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “การป้องกันการทุจริตคอร์รัปชัน” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 8 – 9 ก.พ. 2559 จากประชาชนที่มีอายุ 18 ปี ขึ้นไป ทั่วประเทศ กระจายทุกระดับการศึกษาและอาชีพ รวมทั้งสิ้น จำนวน 1,250 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการกำหนดกลไกการป้องกันการทุจริตคอร์รัปชั่นของนักการเมืองทุกระดับลงในร่างรัฐธรรมนูญ

จากการสำรวจ เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อการกำหนดในรัฐธรรมนูญว่า “ผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคนใดทำให้การเลือกตั้งไม่สุจริตและไม่เป็นธรรม ควรตัดสิทธิการลงสมัครรับเลือกตั้งตลอดชีวิต” พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 82.88 ระบุว่า เห็นด้วย รองลงมา ร้อยละ 13.20 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย ร้อยละ 2.40 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ เห็นด้วยในการตัดสิทธิการลงรับสมัครรับเลือกตั้ง แต่ควรตัดสิทธิเป็นระยะเวลา 3 – 10 ปี ขึ้นอยู่กับเจตนาและความร้ายแรง และร้อยละ 1.52 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

ด้านความคิดเห็นของประชาชนต่อการกำหนดในรัฐธรรมนูญว่า “รัฐมนตรีคนใดที่ศาลตัดสินว่ามีความผิด ให้จำคุกหรือให้รอ ลงอาญา (เว้นแต่คดีเล็กน้อย) ต้องให้พ้นจากตำแหน่งทันที ไม่ต้องรอศาลสุดท้าย (ชั้นศาลฎีกา)” พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 87.68 ระบุว่า เห็นด้วย รองลงมา ร้อยละ 10.64 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย ร้อยละ 0.32 ระบุว่าอื่น ๆ ได้แก่ ไม่เชื่อมั่นในกระบวนการยุติธรรมการตัดสินของศาล และร้อยละ 1.36 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

สำหรับความคิดเห็นของประชาชนต่อการกำหนดในรัฐธรรมนูญว่า “ผู้ที่ถูกศาลตัดสินว่าผิดเพราะทำการทุจริตต่อหน้าที่หรือร่ำรวยผิดปกติ ควรถูกห้ามลงสมัครรับเลือกตั้งตลอดชีวิต” พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 86.00 ระบุว่า เห็นด้วย รองลงมา ร้อยละ 12.24 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย ร้อยละ 0.80 ระบุว่าอื่น ๆ ได้แก่ ควรตัดสิทธิการลงรับสมัครเป็นระยะเวลา 3 – 10 ปี และร้อยละ 0.96 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

เมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อการกำหนดในรัฐธรรมนูญว่า “ส.ส. หรือ ส.ว. คนใดหรือกลุ่มใดแปรญัตติ นำงบประมาณไปใช้เพื่อประโยชน์ทั้งทางตรง และทางอ้อมแก่ตนเองและพวกพ้องต้องพ้นจากตำแหน่ง และถูกตัดสิทธิลงสมัครรับเลือกตั้งในทุกระดับตลอดไป” พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 92.72 ระบุว่า เห็นด้วย รองลงมา ร้อยละ 6.40 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย และร้อยละ 0.88 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

ด้านความคิดเห็นของประชาชนต่อการกำหนดในรัฐธรรมนูญว่า “รัฐมนตรีคนใดมีคำสั่งให้จัดทำแผนงานโครงการ อันเป็นการนำงบประมาณไปใช้เพื่อประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและพวกพ้อง รัฐมนตรีผู้นั้นต้องพ้นจากตำแหน่งและต้องคืนเงินต้นพร้อมดอกเบี้ย” พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 92.48 ระบุว่า เห็นด้วย รองลงมา ร้อยละ 5.20 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย ร้อยละ 0.32 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ ควรตรวจสอบให้แน่ชัดว่าเป็นโครงการที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนร่วมอย่างแท้จริงหรือไม่ และหากมีความผิดจริงควรลงโทษโดยให้พ้นจากตำแหน่งเพียงอย่างเดียว และร้อยละ 2.00 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

ท้ายที่สุดเมื่อถามถึงความคิดเห็นของประชาชนต่อการกำหนดในรัฐธรรมนูญว่า “ข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐผู้ใดไม่ได้คัดค้านเป็นลายลักษณ์อักษรต่อคำสั่งของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองให้จัดทำแผนงานโครงการอันเป็นการนำงบประมาณไปใช้เพื่อประโยชน์ทั้งทางตรงและทางอ้อมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและพวกพ้องข้าราชการและเจ้าหน้าที่รัฐผู้นั้น ต้องถูกลงโทษทางวินัยและต้องคืนเงินต้นพร้อมดอกเบี้ย” พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 84.00 ระบุว่า เห็นด้วย รองลงมา ร้อยละ 12.00 ระบุว่า ไม่เห็นด้วย ร้อยละ 0.56 ระบุอื่น ๆ ได้แก่ ควรพิจารณาตามความผิด และหากมีความผิดจริงควรถูกลงโทษทางวินัยเพียงอย่างเดียวโดยไม่ต้องคืนเงินต้นพร้อมดอกเบี้ย และร้อยละ 3.44 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

คนหนุนตัดสิทธิผู้สมัครเลือกตั้งทุจริตตลอดชีวิต