posttoday

เปิด 6ประเด็นร้อนร่างรธน.ฉบับ"มีชัย"

29 มกราคม 2559

สรุปสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกอย่างเป็นทางการจำนวน 15 หมวด

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ เตรียมแถลงสรุปสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรกอย่างเป็นทางการจำนวน 15 หมวด (ไม่รวมบทเฉพาะกาล) ในวันที่ 29 ม.ค. ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจดังนี้

1.หน้าที่ของรัฐ เป็นบทบัญญัติใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อนในรัฐธรรมนูญของไทย โดยในครั้งนี้อยู่ในหมวด 5 มีทั้งสิ้น 12 มาตรา ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดให้รัฐต้องดำเนินการให้ประชาชนได้รับการศึกษาตามความต้องการในระบบต่างๆ รวมทั้งการศึกษาตลอดชีวิต และต้องเป็นการศึกษาที่มุ่งให้ผู้เรียนเป็นคนดี มีวินัย ภูมิใจในชาติ และมีความรับผิดชอบต่อคอยครัวและประเทศชาติ

เช่นกันกับ การให้รัฐต้องส่งเสริม สนับสนุน และให้ความรู้แก่ประชาชนถึงอันตรายที่เกิดจากการทุจริตและประพฤติมิชอบทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน และต้องมีมาตรการที่มีประสิทธิภาพเพื่อแก้ปัญหาการทุจริตอย่างเข้มงวด

อีกทั้งการดำเนินการใดของรัฐหรือที่รัฐจะอนุญาตให้ผู้ใดดำเนินการ ถ้ามีลักษณะที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อความสงบสุข สุขภาพของประชาชน สิ่งแวดล้อม รัฐต้องดำเนินการให้ประชาชนที่เกี่ยวข้องมีส่วนร่วมและรับฟังความคิดเห็นเพื่อนำมาประกอบการพิจารณา และต้องดำเนินการให้มีการเยียวยาความเดือดร้อนหรือเสียหายให้แก่ประชาชนหรือชุมชนที่ได้รับผลกระทบอย่างเป็นธรรมโดยไม่ชักช้า

2.รัฐสภา (หมวด7) มีเนื้อหาที่น่าสนใจ 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่ 1 การเลือกตั้งสส. กำหนดให้มีสส. 500 คน ประกอบด้วย สส.ระบบแบ่งเขตเลือกตั้ง 350 คน และ สส.ระบบบัญชีรายชื่อ 150 คน โดยใช้ระบบที่เรียกว่า "จัดสรรปันส่วนผสม"ด้วยการลงคะแนนในบัตรเลือกตั้งเพียงใบเดียวเพื่อคำนวณหาจำนวนสส.ทั้งสองระบบ มีวัตถุประสงค์ที่พยายามทำให้ทุกคะแนนที่ประชาชนลงเลือกตั้งจะไม่ถูกทิ้ง เนื่องจากในอดีตคะแนนของประชาชนที่เลือกตั้งสส.แบ่งเขตเลือกตั้ง ซึ่งไม่ได้คะแนนเป็นลำดับที่ 1 ของเขตเลือกตั้งนั้นจะถูกทิ้งให้สูญเปล่า

ขณะเดียวกัน คณะกรธ.ยังกำหนดเป็นหลักการสำคัญว่าระบบการเลือกตั้งซึ่งใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียวนี้ จะทำให้ประชาชนเกิดความสนใจที่จะมาใช้สิทธิเลือกตั้งมากขึ้น พร้อมกันนี้ัยังทำให้พรรคการเมืองตระหนักและระมัดระวังในการส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งที่ต้องไม่ให้เกิดการทุจริตเลือกตั้ง เพราะการเลือกตั้งใหม่จะมีผลต่อจำนวนสส.แบบบัญชีรายชื่อด้วย 

ส่วนที่ 2การได้มาซึ่งสว. กำหนดให้มีสว. 200 คน มาจากการเลือกกันเองของบุคคลซึ่งมีความรู้ ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ อาชีพ หรือเคยทำงานด้านต่างๆที่หลากหลายของสังคม การให้สว.มีสัดส่วนที่จากกลุ่มต่างๆที่หลากหลาย เพื่อให้บุคคลดังกล่าวได้สะท้อนแนวความคิดและในทกบริบทอย่างรอบด้านทั้งการกลั่นกรองกฎหมาย การประนอมทางความคิดความต้องการเพื่อสร้างความเห็นชอบร่วมกัน
สว.จะมีวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี จะดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกินหนึ่งวาระไม่ได้ เพื่อให้มีสภาที่สามารถดำเนินงานด้านนิติบัญญัติในช่วงที่ระยะเวลาของสภาผู้แทนราษฎรสิ้นสุดลงและในขณะเดียวกันเพื่อเปิดโอกาสให้บุคคลที่มีแนวความคิดใหม่ๆได้เข้ามามีบทบาทในการพัฒนาประเทศ รวมทั้งเพื่อให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาประเทศที่มีระยะเวลา 5 ปี

3.คณะรัฐมนตรี (หมวด8) กำหนดให้นายกรัฐมนตรีมาจากการเลือกของสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งต้องเลือกมาจากผู้ที่มีชื่ออยู่ในบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองแจ้งไว้ต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โดยพรรคการเมืองจะเสนอชื่อบุคคลที่เป็นนายกฯได้ไม่เกิน 3 รายชื่อ ทั้งนี้ นายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันแล้วเกิน8ปีไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นการดำรงตำแหน่งติดต่อกันหรือไม่

สำหรับการแต่งตั้งรัฐมนตรีจะเป็นอำนาจของนายกรัฐมนตรี โดยจะต้องไม่เป็นบุคคลที่มีพฤติกรรมอันเป็นการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง อีกทั้งต้องเป็นบุคคลที่มีความซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์

คณะรัฐมนตรีที่จะเข้ามาบริหารประเทศต้องแถลงนโยบายต่อรัฐสภาภายใน15 วันนับตั้งแต่วันเข้ารับหน้าที่โดยนโยบายดังกล่าวต้องสอดคล้องกับหน้าที่ของรัฐ แนวนโยบายแห่งรัฐและยุทธศาสตร์ชาติ รวมทั้งต้องเปิดเผยแหล่งที่มาของรายได้ในการมาดำเนินนโยบาย

ในการบริหาราชการแผ่นดิน คณะรัฐมนตรีต้องดำเนินการตามรัฐธรรมนูญและนโยบายที่ได้แถลงไว้ต่อรัฐสภา และต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์อื่นๆด้วย อาทิ การใช้จ่ายเงินแผ่นดินต้องเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยวินัยการเงินการคลังของรัฐอย่างเคร่งครัด ยึดถือและปฏิบัติตามหลักการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดี และรัฐมนตรีต้องรับผิดชอบต่อสภาฯในเรื่องที่อยู่ในหน้าที่และอำนาจของตน

หากเกิดกรณีที่คณะรัฐมนตรีไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ต่อไปได้ หรือมีการลาออกของคณะรัฐมนตรีทั้งคณะ โดยไม่สามารถเปิดสภาฯเพื่อเลือกนายกรัฐมนตรีคนใหม่ได้ จะให้ปลัดกระทรวงปฏิบัติหน้าทีแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเท่าที่จำเป็น และให้ปลัดกระทรวงเลือกกันเองว่าจะให้ใครมาทำหน้าที่แทนนายกรัฐมนตรี

4.ศาล มีความน่าสนใจตรงที่การกำหนดโครงสร้างและอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญ (หมวด11)โดยบัญญัติให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 9 คน ได้แก่ 1.ผู้พิพากษาในศาลฎีกาที่ไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาหัวหน้าคณะ จำนวน 3 คน 2.ตุล่าการในศาลปกครองที่ไม่ต่ำกว่าตุลาการศาลปกครองสูงสุด 2คน 3.ผู้ทรงคุณวุฒิด้านนิติศาสตร์ที่ดำรงตำแหน่งระดับศาสตราจารย์มาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี 1คน4.ผู้ทรงคุณวุฒิด้านรัฐศาสตร์ในระดับศาสตราจารย์ 1 คน และ 5.ผู้ทรงคุณวุฒิที่เคยรับราชการในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีหรือเทียบเท่า หรือไม่ต่ำกว่ารองอัยการสูงสุด 2 คน

ศาลรัฐธรรมนูญมีหน้าที่และอำนาจ ประกอบด้วย 1.พิจารณาวินิจฉัยความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายหรือร่างกฎหมาย 2.วินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับอำนาจหน้าที่ของสภาฯ วุฒิสภา รัฐสภา คณะรัฐมนตรี องค์กรอิสระ 3.หน้าที่และอำนาจอื่นๆตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ โดยการวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้เป็นไปตามตัวอักษรหรือตามความมุ่งหมายของรัฐธรรมนูญ และถ้าไม่มีบทบัญญัติที่จะยกมาปรับแก่กรณีใดได้ ให้วินิจฉัยไปตามประเพณีการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญให้ถือเป็นเด็ดขาด มีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล และองค์กรอื่นของรัฐ

5.องค์กรอิสระ (หมวด12) มีทั้งหมด 5 องค์กร ประกอบด้วย คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)ผู้ตรวจการแผ่นดิน คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยในร่างรัฐธรรมนูญบัญญัติให้การปฏิบัติหน้าที่ของและการใช้อำนาจต้องเป็นไปโดยเที่ยงธรรม กล้าหาญ และปราศจากอคติในการใช้ดุลพินิจ

ที่สำคัญกำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระรวมกันกำหนดมาตรฐานทางจริยธรรมเพื่อใช้บังคับกับศาลรัฐธรรมนูญ องค์กรอิสระ ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดิน หัวหน้าหน่วยงานธุรการของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ สส. สว. และคณะรัฐมนตรี ซึ่งมาตรฐานดังกล่าวต้องมีการรับฟังความคิดเห็นจากสภาฯ วุฒิสภา และคณะรัฐมนตรี พร้อมกับต้องครอบคลุมถึงการรักษาเกียรติภูมิและผลประโยชน์ของชาติและต้องระบุให้ชัดว่าการฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรงมีลักษณะเป็นอย่างไร

ไม่เพียงเท่านี้ ในกรณีที่อาจมีการดำเนินการอย่างหนึ่งใดที่อาจมีผลเสียหายแก่การเงินการคลังของรัฐ ให้ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินเสนอผลตรวจสอบการกระทำดังกล่าวให้กับคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน และถ้าคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินเห็นด้วยกับผลการตรวจสอบนั้นให้ปรึกษาหารือร่วมกับกกต.และป.ป.ช. และหากมีความเห็นพ้องร่วมกันสามารถมีหนังสือแจ้งไปที่สภาฯ วุฒิสภา และคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบได้โดยเร็วและต้องเปิดเผยผลการตรวจสอบให้ประชาชนทราบด้วย

เช่นเดียวกับ ในกรณีที่พบว่ามีการใช้จ่ายเงินแผ่นดินที่มีลักษณะเป็นการทุจริต จงใจใช้อำนาจหน้าที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ หรืออาจมีผลให้การเลือกตั้งไม่เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม ให้ผู้ว่าการตรวจเงินแผ่นดินแจ้งกับป.ป.ช.และกกต.หรือหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องให้ทราบและดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ต่อไป

6.การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ (หมวด 15) มีข้อห้ามที่สำคัญ คือ การแก้ไขเพิ่มเติมที่เป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐจะกระทำไม่ได้

ผู้ที่มีสิทธิเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญได้นั้นประกอบด้วย 1คณะรัฐมนตรี 2.สส.ไม่น้อยกว่า 1ใน5 ของจำนวนสส.ทั้งหมด 3.สส.และสว.รวมกันไม่น้อยกว่า1ใน5ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดของรัฐสภา3.ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่า 5 หมื่นคน โดยการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะดำเนินการเป็น 3 วาระ ได้แก่ วาระที่1ขั้นรับหลักการ วาระที่2ขั้นการพิจารณาเรียงลำดัีบมาตรา และวาระที่3 ขั้นการให้ความเห็นชอบสุดท้าย

โดยการลงมติในวาระที่1 นอกจากจะต้องได้เสียงเห็นชอบเกินกึ่งหนึ่งแล้วยังต้องได้เสียงเห็นชอบจากสว.ไม่น้อยกว่า 1 ใน3ของสว.ทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ด้วย เช่นเดียวกับ วาระที่ 3 จะต้องมีสส.จากทุกพรรคการเมืองที่มีสส.ในสภาฯไม่น้อยกว่า10คนลงมติเห็นชอบไม่น้อยกว่าร้อยละ10 และสส.จากแต่ละพรรคการเมืองที่มีสส.ในสภาฯไม่ถึง 10 คนรวมกันลงมติเห็นชอบไม่น้อยกว่าร้อยละ10 และต้องมีสว.เห็นชอบไม่น้อยกว่า1ใน3ด้วย ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญถึงจะผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา

อย่างไรก็ตาม ถ้าเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญในหมวดทั่วไป พระมหากษัตริย์ บทบัญญัติการแก้ไขรัฐธรรมนูญ หรือเรื่องที่เกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่งต่างๆตามรัฐธรรมนูญหรือเรื่องที่เกี่ยวกับหน้าที่อำนาจของศาลหรือองค์กรอิสระ จะต้องมีการทำประชามติภายหลังจากที่รัฐสภาให้ความเห็นชอบ

ทั้งนี้ ก่อนที่นายกรัฐมนตรีจะนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯ สส.หรือ สว.จำนวนไม่น้อยกว่า1ใน10 มีสิทธิเข้าชื่อเสนอต่อประธานรัฐสภาเพื่อให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยศาลรัฐธรรมนูญต้อง พิจารณาให้เสร็จภายใน 30 วัน และระหว่างการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ นายกฯจะนำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าฯไม่ได้