posttoday

สนช.ขอครม.ทบทวนพรบ.ขอทานใหม่

26 พฤศจิกายน 2558

สนช.ขอครม.ทบทวนพรบ.ขอทานใหม่เพื่อให้เกิดความคลอบคลุม

สนช.ขอครม.ทบทวนพรบ.ขอทานใหม่เพื่อให้เกิดความคลอบคลุม

การประชุมสภานิติบัญญํติแห่งชาติ (สนช.) ที่มีนายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสนช.คนที่ 2 เป็นประธานการประชุม ได้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ควบคุมการขอทาน พ.ศ. ที่นายมณเฑียร บุญตัน สมาชิกสนช.กับคณะเป็นผู้เสนอ โดยนายมณเทียร ชี้แจงหลักการและเหตุผลของร่างกฎหมายว่า เนื่องจากปัจจุบันการขอทานมีลักษณะของการแสวงหาผลประโยชน์โดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จากผู้ซึ่งอาศัยความอ่อนด้อยทางร่างกาย สติปัญญา ความสามารถ หรือสภาพจิตใจของบุคคลอื่นทำให้เกิดความเสียหายและความสงบเรียบร้อยของประเทศ

นอกจากนี้ ประกอบกับ พ.ร.บ.ควบคุมการขอทาน พ.ศ. 2484  ได้ใช้บังคับมานานแล้ว บทบัญญัติต่างๆจึงไม่เหมาะสมกับสภาวการณ์ปัจจุบัน  จึงควรกำหนดให้การจัดระเบียบเกี่ยวกับการสงเคราะห์และการควบคุมการขอทานให้ชัดเจน และเหมาะสมยิ่งขึ้น รวมทั้งกำหนดให้บุคคลซึ่งกระทำการใดๆให้ผู้อื่นกระทำการขอทานตามสถานที่ต่างๆให้ได้รับโทษทางอาญา ทั้งนี้ การปฏิบัติเป็นกิจวัตรตามศาสนาและประเพณีไม่อยู่ภายใต้บังคับกฎหมายนี้  

ด้าน นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) ขอรับร่างพ.ร.บ.ดังกล่าวไปพิจารณาโดยเพื่อความรอบคอบและเกิดประโยชน์จะให้กระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ความเห็นประกอบ โดยใช้เวลาไม่น้อยกว่า 20 วัน ก่อนจะเสนอเข้าสู่ที่ประชุมสนช.เพื่อพิจารณารับหลักการต่อไป โดยขณะนี้ร่างพ.ร.บ.ควบคุมการขอทาน ที่นำเสนอโดยกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้เข้าสู่การพิจารณาของครม. และได้ผ่านการตรวจสอบของคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว ซึ่งอยู่ในขั้นตอนของสำนักงานเลขาธิการครม.ที่จะนำเสนอให้เข้าสู่การพิจารณาของสนช. โดยร่างดังกล่าวมีเนื้อหาคล้ายคลึงกัน แต่อาจมีประเด็นที่แตกต่างกันบ้าง

ขณะที่ ตัวแทนสถาบันดนตรีคนตาบอดแห่งประเทศไทย และกลุ่มศิลปินไม้เท้าขาว ได้เข้ามอบดอกไม้เพื่อแสดงความขอบคุณ นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์  ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สังคม กิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการและผู้ด้อยโอกาส สภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. และนายมณเฑียร บุญตัน สมาชิกสนช.  ที่ผลักดันร่างพ.ร.บ.ควบคุมการขอทาน พ.ศ. ...

โดยนายวัลลภ กล่าวว่า กมธ.ได้รับเรื่องร้องเรียนจากผู้พิการทางสายตาที่ใช้ความสามารถส่วนตัวตัวในการเล่นดนตรีหรือที่เรียกว่าวณิพก ว่าถูกจับกุมตลอดเวลาตามพ.ร.บ.ควบคุมการขอทาน พ.ศ.2484 ทั้งที่ไม่ได้เป็นขอทาน จึงอยากให้มีกฎหมายแยกบุคคลที่เป็นขอทานและวณิพกให้ชัดเจน

อย่างไรก็ดี ทางกมธ.จึงได้ดำเนินการร่างกฎหมายดังกล่าวและเสนอต่อที่ประชุมสนช.วันนี้ (26พ.ย.) ซึ่งทางรัฐบาลก็มีกฎหมายที่มีความคล้ายคลึงกันถึง 90% โดยจะส่งเข้ามาประกบร่างพ.ร.บ.ฉบับของสนช.ด้วย