posttoday

ค้านตัดอำนาจสว.ถอดถอนนักการเมือง

25 พฤศจิกายน 2558

รองประธานสนช.คนที่1“สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย”ค้านตัดอำนาจสว.ถอดถอนนักการเมือง

รองประธานสนช.คนที่1“สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย”ค้านตัดอำนาจสว.ถอดถอนนักการเมือง

นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนที่ 1 กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมาการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) กำหนดที่มาสว.อาจจะเป็นการเลือกตั้งทางอ้อม โดยเชื่อว่ากรธ.กำลังออกแบบเพื่อให้ได้สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับประเทศไทย ขณะนี้ประเด็นอยู่ที่ว่าจะออกแบบอย่างไรให้ระบบถ่วงดุลและการตรวจสอบได้สำเร็จ ซึ่งถือว่าเป็นหลักการสำคัญในการปกครองระบอบประชาธิปไตย สามารถทำงานได้อย่างแท้จริง และต้องยอมรับข้อเท็จจริง คือ การถ่วงดุลและการตรวจสอบระหว่างฝ่ายบริหารและฝ่ายนิติบัญญัติ ลำพังสภาผู้แทนฯกับรัฐบาลยังไม่ประสบความสำเร็จในเชิงการถ่วงดุลและการตรวจสอบอย่างแท้จริง

ทั้งนี้ เพราะต้องยอมรับว่าเสียงข้างมากในสภาฯ คือ เสียงที่จัดตั้งรัฐบาล เพราะฉะนั้นอาจจะมีคำถามเกิดขึ้นได้ ว่าในยามที่ต้องตรวจสอบรัฐบาล ซึ่งก็คือเสียงข้างมากของตัวเองในสภาฯนั้น สามารถทำหน้าที่และเข้าใจภารกิจของตัวเองได้อย่างแท้จริงมากน้อยแค่ไหน ดังนั้นกลไกของประเทศไทยจึงใช้ระบบสองสภาฯ นอกเหนือจากมีสว.มาตรวจสอบอีกชั้นหนึ่งเพื่อรักษาระบบถ่วงดุลอำนาจ

อย่างไรก็ตาม เห็นว่าที่มาของสว.จะมาอย่างไรก็ตาม แต่ที่สุดแล้วจะต้องตอบโจทย์ในเรื่องของการสร้างดุลอำนาจที่เหมาะสมและถูกต้องให้เกิดขึ้นได้ ไม่ว่าจะออกแบบสว.อย่างไร จะมาจากการเลือกตั้ง มาจากการสรรหา หรือผสมทั้งสองอย่าง ถ้าวุฒิสภายังไม่สามารถทำหน้าที่ ในการเป็นเครื่องการสร้างดุลอำนาจที่เหมาะสม ก็คิดว่าไม่ใช่วิธีที่จะเป็นคำตอบของการปฏิรูปประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

“ไม่ว่าสว.จะมาจากไหน ผมขอไปดูว่ารายละเอียดทั้งหมดที่จะได้มาซึ่งสว.ในอนาคตตอบโจทย์การสร้างดุลอำนาจหรอไม่ ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นประเด็นหนึ่งที่ผมจะนำไปประชุมร่วมกับคณะกรรมาธิการรวบรวมความเห็นฯของสนช. ก่อนที่จะสรุปความเห็นเพื่อส่งต่อไปให้ กรธ. ภายในต้นเดือนม.ค.59” นายสุรชัย กล่าว

ส่วนที่กรธ.มีแนวคิดให้ตัดอำนาจการถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองของสว.ออกไปนั้น ซึ่งในหลักการส่วนตัวไม่เห็นด้วยที่จะไปตัดออก แต่เชื่อว่าเหตุผลที่กรธ.จะตัดออก เพราะดูผลงานในอดีต เพราะที่ผ่านมาไม่เคยเห็นสว.ถอดถอนใครได้เลย แต่ถ้ามีความเข้าใจว่าการถอดถอนนักการเมืองหรือผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงออกจากตำแหน่งนั้น คือโทษทางการเมือง ไม่ใช่โทษทางแพ่ง หรือโทษทางอาญา ดังนั้น จะเอาตรงนี้กลับไปให้ทางศาลเป็นผู้ตัดสิน จะเป็นการดึงศาลมายุ่งเกี่ยวกับการเมืองหรือไม่ ใครจะเป็นคนตอบคำถามนี้ ฉะนั้นการที่เขาออกแบบให้โทษทางการเมือง ให้ฝ่ายการเมืองจัดการกันเอง

“ผมคิดว่าเป็นหลักการที่ถูกต้องอยู่แล้ว เพียงแต่หลักการนั้นนำมาสู่การปฏิบัติไม่ได้ ก็ต้องไปดูว่าเป็นเพราะอะไรจึงปฏิบัติไม่ได้ ซึ่งแท้จริงแล้วมาจากการสร้างดุลอำนาจที่ไม่เหมาะสม ระหว่างฝ่ายนิติบัญญัติกับฝ่ายบริหาร ทำให้กลไกปฏิบัติไม่ได้ เพราะเดินหน้าไปก็ลูบหน้าปะจมูก เป็นพรรคพวกคนรู้จักที่อยู่ในแวดวงเดียวกันหมด จึงต้องย้อนกลับไปว่าเราแก้ที่สาเหตุแล้วหรือยัง คือ ทำอย่างไรให้การออกแบบดุลอำนาจที่เหมาะสมเกิดขึ้นได้”นายสุรชัย กล่าว