posttoday

“ทินพันธุ์”ย้ำงานปฏิรูปต้องมาจากสปท.ทุกคน

16 ตุลาคม 2558

ประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ระบุ งานปฏิรูปต้องมาจากสมาชิก สปท.ทุกคน

ประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ระบุ งานปฏิรูปต้องมาจากสมาชิก สปท.ทุกคน

วันที่ 16 ต.ค. ร.อ.ทินพันธุ์ นาคะตะ ประธานสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) กล่าวมอบนโยบายการบริหารราชการแก่ผู้บริหารสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ว่า วิสัยทัศน์นั้นส่วนตัวไม่ค่อยมีเท่าไร เพราะมันเป็นจินตนาการ ไม่ใช่การมองโลกแห่งความเป็นจริง แต่ส่วนตัวก็อยู่ทั้งโลกอุดมคติ และโลกแห่งความเป็นจริง

“การปฏิรูปครั้งนี้ ถ้าปฏิรูปเรื่องเดียวที่สำคัญได้ก็ถือว่าดี แต่ถ้าหลายสิบเรื่องได้ยิ่งประเสริฐ ถ้าทำได้สำเร็จจะเป็นคุณูปการต่อประเทศได้ หากครั้งนี้การปฏิรูปไม่สำเร็จ อย่าหวังเลยว่าสิ่งนี้จะเกิดขึ้นอีก นี่เป็นโอกาสสุดท้ายที่ประชาชนหวังมาก ซึ่งผมจะยึดหลักว่า จะปฏิรูปใครต้องปฏิรูปตัวเองก่อน จึงอยากเรียกร้องให้ทุกคนทุกอาชีพปฏิรูปตัวเองด้วย ทำไปพร้อมๆกัน เราจะปฏิรูปคนอื่นโดยเว้นแต่ตัวเองไม่ได้”ร.อ.ทินพันธุ์ กล่าว

ส่วนการให้ความคิดเห็นนั้น มองว่า คนไทยชอบใช้ความเห็นส่วนตัวพูดรายวันไปเรื่อย จะเห็นว่าตนหลีกเลี่ยงไม่ให้สัมภาษณ์ เพราะรับหน้าที่ตรงนี้จะพูดแทนคนอื่นไม่ได้ ความเห็นส่วนตัวต้องไปพูดที่บ้าน การเป็นประธานจะต้องไม่ชี้นำ ต้องวางตัวเป็นกลาง มีหลักการ มีมารยาท จะพูดได้แค่มติของที่ประชุมทั้ง 200 คน เพื่อนที่ร่วมงานก็จะไม่แบ่งฝักแบ่งฝ่าย ดังนั้น การจะแถลงชี้แจงการทำงานของสปท. ตนก็จะทำเดือนละหน หรือ ที่มีวาระจำเป็น ไม่มีอะไรขึงขังตายตัว

นอกจากนี้ ต้องเข้าใจว่า สปท. เป็นสภาวิชาการ สภาที่ปรึกษา สมาชิกสปท. 200 คน คือ ที่ปรึกษาคณะรัฐมนตรี  (ครม.) ไม่ได้มีอำนาจอะไร มีหน้าที่ค้นคว้าวิจัยแล้วเสนอแนะออกไป ฉะนั้น ต้องมีแผน มาตรการ วิธีการแก้ปัญหา อย่างเป็นรูปธรรม สุดท้ายจึงอยู่ที่ผู้มีอำนาจว่า จะเห็นด้วยกับข้อเสนอสปท.หรือไม่ อาจจะเห็นด้วยบางเรื่อง ทุกเรื่อง หรือไม่เห็นด้วยเลยก็ได้  ทุกอย่างขึ้นอยู่กับรัฏฐาธิปัตย์ที่มีอำนาจตัดสินใจ สามารถจะเปลี่ยนการปกครองเป็นคอมมิวนิสต์ เป็นเผด็จการ เป็นระบอบกษัตริย์ ก็ยังได้เลย ซึ่งผู้มีอำนาจจะเห็นด้วย ก็ต่อเมื่อการปฏิรูปนั้นมีประโยชน์

อย่างไรก็ตาม ต้องขอบคุณสปช. ที่ศึกษา วาระปฏิรูป 37 เรื่องเอาไว้ โดยการประชุมสปท.ในวันที่ 19 – 20 ต.ค. ก็จะหารือแนวทางการทำงาน โดยมอบหมายให้ นายอลงกรณ์ พลบุตร รองประธานสปท.คนที่หนึ่ง ในฐานอดีตสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) รับผิดชอบแจกจ่ายงานปฏิรูป

ส่วนการเปิดศูนย์เรื่องราวร้องทุกข์ให้ น.ส.วลัยรัตน์ ศรีอรุณ รองประธานสปท.คนที่สอง รับผิดชอบ พร้อมกับตั้งกรรมาธิการ (กมธ.) ชุดต่างๆขึ้นมา เพื่อนำเรื่องที่สปช.ทำไว้ มาศึกษาอีกครั้ง หากเห็นว่าดี ก็จะขับเคลื่อนผลักดันต่อไป จนเกิดผล เช่น ใช้มาตรา 44 ออกคำสั่งมาเลย หรือ ให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ร่างกฎหมาย แต่หากเห็นว่า ต้องปรับปรุง ก็จะทำการแก้ไข แต่หากเห็นว่า ไม่ใช่ ก็ต้องหยุดไว้ หรือเห็นเรื่องใหม่ที่เป็นประโยชน์ ก็จะทำการศึกษา

นอกจากนี้ ยังมีรายงานการปฏิรูปของหน่วยงานอื่นอย่าง ครม. คสช. กระทรวงกลาโหม ตลอดจนรายงานปฏิรูปของชุด นพ.ประเวศ วะสี ชุดนายอานันท์ ปันยารชุน แต่อย่างไรก็ตาม เวลาที่เหลือมีอีกไม่นาน จะเอาทั้งหมดที่มีคงไม่ได้ สิ่งสำคัญที่ต้องทำความเข้าใจสุดท้าย คือ ผู้มีอำนาจ ไม่ได้มีอำนาจ100% ในการตัดสินใจ เพราะมันยังมีอุปสรรค ตัวแปร และเงื่อนไขบางอย่างที่ไม่อาจทำได้  

อย่างไรก็ตาม เมื่อถามว่า 37 วาระการปฏิรูป เรื่องไหนสำคัญที่สุด ประธาน สปท. ระบุว่า ไม่อาจตอบแทนสมาชิกสปท.ทั้ง 200 คนได้ ยังไม่เห็นงาน ส่วนตัวมีหน้าที่เป็นประธานเท่านั้น ต้องประชุมกันปรึกษาหารือลำดับความสำคัญก่อนหลังอีกครั้ง จึงต้องอาศัยระบบกมธ. ใครสนใจเรื่องอะไรก็มาร่วมชุดนั้น เรื่องที่มีอยู่ทั้งหมดต้องคำนึงถึงเวลาที่มีอยู่จำกัด สปท.จะตัดสินใจล่วงหน้าว่าเรื่องไหนดีหรือไม่ คงไม่ได้ ต้องดูด้วยตัวเอง คงไม่อาจให้ความสำคัญระหว่างเพชรกับเม็ดทรายได้ เพราะทุกเรื่องสำคัญเท่ากันหมด ส่วนการประชุมแม่น้ำ 5 สาย ในวันที่ 28 ต.ค.นี้ สปท.คงต้องปรึกษากันก่อนว่า จะหารือเรื่องอะไร

เมื่อถามว่า หนักใจหรือไม่ หากถูก คสช.สั่งซ้ายหันขวาหัน เพราะมาจากการแต่งตั้งของนายกรัฐมนตรี ร.อ.ทินพันธุ์ กล่าวว่า ส่วนตัวเปลี่ยนอาชีพมาเป็นอาจารย์ ก็เพราะอาจารย์ที่โรงเรียนเตรียมทหารคนหนึ่งสอนว่า ทหารคืออาชีพฆ่าคน จึงออกจากทหารมาเป็นอาจารย์เต็มตัว มีจุดยืน มีหลักการ จะมาสั่งซ้ายหันขวาหัน หรือสั่งให้ 2 บวก 2 เท่ากับ 3 ไม่ได้ ตนมีคุณธรรม จริยธรรม และศีลธรรม ต้องเชื่อฟัง บิดา มารดา และต้องเชื่อฟังรัฐ ใครจะมาสั่งไม่ได้

ส่วนการให้ความสำคัญกับการปราบปรามทุจริตคอร์รัปชั่น ส่วนตัวทำเรื่องนี้มานานมาก เคยเป็นที่ปรึกษาของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ 8 ปีครึ่ง เป็นคนร่างนโยบาย กำหนดให้รัฐมนตรีต้องชี้แจงทรัพย์สิน จนกลายเป็นที่มาของการให้ความสำคัญในเรื่องนี้ 

ส่วนเรื่องกระบวนการปรองดองนั้นถือเป็นเรื่องสำคัญ คงต้องสานต่อจากที่สปช.ศึกษาไว้ และการนิรโทษกรรมจะเป็นส่วนหนึ่งของการปรองดองหรือไม่นั้น ส่วนตัวไม่ทราบ เพราะไม่เคยเห็น เนื่องจากหายจากการเมืองไทยไป 30 ปี ไม่ได้ติดตามอะไรเท่าไรนัก โดยเฉพาะ 3 ปี ที่ผ่านมา ไม่ได้ติดตามข่าว เพราะมันเครียด หากติดตามคงเอาชีวิตไม่รอด

เมื่อถามว่า หายไปแล้วทำไมจึงกลับมา “ผมเป็นคนมีเกียรติมากๆ จนทำให้ชีวิตลำบาก ยากจนมากๆเหมือนกัน อย่างตอนเป็นรัฐมนตรี บางครั้งยังไม่มีเงินเติมน้ำมันรถ ไม่มีเงินซื้อขนมกิน แต่เราก็ยังยึดมั่นในอุดมการณ์ มีความซื่อสัตย์ สุจริต แต่ก็มีความสุขกับความลำบาก เมื่อเขาต้องการเรา เราก็มารับใช้บ้านเมือง แต่หากไม่ต้องการ เราก็ไป” ประธานสปท.กล่าว