posttoday

หนุนอดีต 2 กกต.ร่วมวงกรธ.

07 ตุลาคม 2558

“สมชัย”หนุนอดีต 2 กกต.ร่วมกรธ.ชี้เป็นเรื่องดีแก้ปัญหาเลือกตั้ง

“สมชัย”หนุนอดีต 2 กกต.ร่วมกรธ.ชี้เป็นเรื่องดีแก้ปัญหาเลือกตั้ง

วันที่ 7 ต.ค.นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านบริหารงานเลือกตั้ง กล่าวถึงกรณีที่นายอภิชาต สุขัคคานนท์ และนายประพันธ์ นัยโกวิท อดีต กกต. ร่วมเป็นคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) นั้น ถือว่า เป็นคนมีประสบการณ์ในเรื่องข้อกฎหมาย หลายคนก็เป็นบุคคลสำคัญในอดีต และการที่มีอดีตกกต.ร่วมเป็น ด้วยก็ถือเป็นเรื่องที่ดี เพราะทั้ง 2 คน คงใช้ประสบการณ์ในการแนะนำให้ความคิดความเห็นที่เหมาะสม เกี่ยวกับปัญหาการจัดการเลือกตั้ง และออกแบบกลไกคัดกรอง คนเข้าสู่การเมืองที่จะต้องส่งเสริมคนดีให้เข้าสู่การเมือง และขจัดการทุจริตการเลือกตั้ง โดยในส่วนของ กกต.พร้อมที่จะสนับสนุนการทำงานของ กรธ.ในทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการให้ข้อมูลต่างๆ ในปัญหาข้อกฎหมายซึ่งจำเป็นต้องมีการเขียนไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับ กรธ.

 “คิดว่าการที่ร่างรัฐธรรมนูญครั้งที่แล้วไม่ผ่านน่าจะเป็นบทเรียนให้กับกรธ.ชุดนี้ได้เอาไปพิจารณา ว่าการจะยกร่างรัฐธรรมนูญต้องมองรากฐานปัญหาของประเทศให้ออกว่าคืออะไร ไม่ใช่ไปเอารูปแบบจากต่างประเทศมาแล้วมาคิดว่าจะสามารถนำมาใช้กับประเทศไทยได้ เพราะถ้าลอกมาก็คงไม่เหมาะสม รวมทั้งต้องเข้าใจว่าปัญหาการเลือกตั้งคือนักการเมืองไม่ได้เพียงมุ่งใช้เงินซื้อเสียงเพื่อเข้าสู่การเมือง แต่จะทำทุกรูปแบบเพื่อให้ตนเองเข้าสู่การเมืองได้ ซึ่งรูปแบบนี้ในต่างประเทศคงไม่มี นอกจากนี้ในเรื่องการเปิดรับฟังความคิดเห็นในการยกร่างรัฐธรรมนูญครั้งที่แล้ว การรับฟังความคิดเห็นเป็นเพียงพิธีกรรมที่ทำเหมือนให้เสร็จๆไป คือฟังแล้วแต่ไม่ได้นำไปพิจารณา กลับยกร่างตามความคิดเห็นตนเอง แต่ครั้งนี้คงไม่เกิดขึ้น น่าจะมีการนำความคิดเห็นที่มีไปสังเคราะห์เพื่อให้เกิดแนวทางการแก้ปัญหาที่แท้จริงด้วย”นายสมชัยกล่าว


ส่วนฝ่ายการเมืองจะยอมรับร่างรัฐธรรมนูญนี้หรือไม่ นายสมชัย กล่าวว่า ฝ่ายการเมืองเป็นผู้เล่น การให้อยู่วงนอก รอดูผลการออกแบบน่าจะดีกว่า แต่ก็ต้องรับฟังความคิดเห็นและยึดหลักเหตุผล แม้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่แล้วไม่ผ่านจะทำให้เกิดการกดดันกรธ.ในการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ให้ต้องผ่านหรือไม่นั้น แต่ส่วนตัวมองว่าเมื่อกรธ.ทุกคนมาทำงานแล้ว ก็ต้องพิจารณาว่าจะทำในสิ่งที่ดีที่สุดให้กับสังคม เพราะสังคมเองก็คาดหวังว่าเมื่อยกร่างเสร็จแล้ว มีการทำประชามติ ก็จะได้เดินหน้าสู่การเลือกตั้ง และเมื่อร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้วก็ต้องเป็นร่างที่ดี แม้จะไม่ดี 100% แต่ถ้าได้ 70-80% ก็ดีมากแล้ว และการทำประชามตินั้น กกต.ก็พร้อมดำเนินการหลังร่างรัฐธรรมนูญเสร็จ โดยสามารถดำเนินการได้โดยใช้เวลาในการทำประชามติ 45 วัน และการจัดพิมพ์เอกสารเพื่อเผยแพร่ประมาณ 2-3 เดือน รวมระยะเวลาในการดำเนินการเพื่อออกเสียงประชามติคาดว่าจะไม่เกิน 3 เดือนครึ่งถึง 4 เดือน