posttoday

"วัฒนา" โวยรธน.จี้ สปช.คว่ำร่างฯ

02 กันยายน 2558

วัฒนา เขียนจดหมายเปิดผนึกถึงนายกฯ -สปช. จี้ไม่รับร่างรธน. ชี้เป็นชนวนสร้างขัดแย้งเสียเอง แนะเร่งจัดเลือกตั้ง ภายใต้ รธน.ปี 40 หรือปี50

วัฒนา เขียนจดหมายเปิดผนึกถึงนายกฯ -สปช. จี้ไม่รับร่างรธน. ชี้เป็นชนวนสร้างขัดแย้งเสียเอง แนะเร่งจัดเลือกตั้ง ภายใต้ รธน.ปี 40 หรือปี50

นายวัฒนา เมืองสุข แกนนำพรรคเพื่อไทย เขียนจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรี และ สปช. ว่า  หลังจากที่ได้ฟังทุกฝ่ายออกมาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ สปช จะพิจารณาลงมติในวันที่ 6 กันยายน ศกนี้ ผมขอแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะโดยสุจริตผ่านไปยังนายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้า คสช และ สปช เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณา ดังนี้

1. ถ้าท่านนายกและ สปช พิจารณาด้วยจิตใจที่เป็นธรรมจะพบว่าฝ่ายที่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีน้อยมากในขณะที่คนส่วนใหญ่ไม่เอาด้วย พวกที่เห็นด้วยคือผู้ที่แสวงหาอำนาจจากความไม่เป็นประชาธิปไตยของประเทศ คนพวกนี้คือกลุ่มคนที่อยากเป็นนักการเมืองแต่กลัวการเลือกตั้ง อีกกลุ่มคือพวกเรียกตัวเองเป็นนักวิชาการที่วิ่งเข้าหาผู้มีอำนาจทุกสมัยไม่เว้นแม้ในสมัยนายกทักษิณ สุดท้ายคือกลุ่มผู้ร่างรัฐธรรมนูญเอง นอกนั้นไม่มีใครเอาด้วยครับ

2. ท่านนายกและ สปช คงเห็นแล้วว่า แทนที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะเป็นเครื่องมือแก้ปัญหาความขัดแย้งของคนในชาติกลับกลายเป็นชนวนสร้างความขัดแย้งเสียเอง กระบวนการและเนื้อหาล้วนขัดต่อหลักนิติธรรม การยกร่างหรือนิติวิธีที่ทำแบบลับๆล่อๆ ไม่มีความสง่างามสมกับเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ไม่มีความเป็นประชาธิปไตยรวมทั้งยังสร้างกลไกสืบทอดอำนาจเพื่อให้กลุ่มตัวเองได้ใช้เป็นช่องทางอยู่ในอำนาจต่อไปด้วย แต่คนที่ต้องรับผิดชอบในเรื่องนี้คนเดียวคือท่านนายกหรือหัวหน้า คสช ส่วนคนเหล่านั้นไม่ต้องรับผิดชอบพร้อมที่จะหาที่เกาะใหม่แบบที่เคยทำมาแล้ว ท่านนายกจะปล่อยให้พยาธิทางการเมืองเหล่านี้อาศัยท่านแสวงหาประโยชน์บนความขัดแย้งของคนในชาติต่อไปหรือครับ

3. การทำให้คนในชาติที่ถึงแม้จะคิดเห็นไม่เหมือนกันสามารถอยู่ร่วมกันได้โดยสันติ ทำได้ด้วยการสร้างกลไกหรือกติกาที่ทุกฝ่ายยอมรับนั่นคือ "ประชาธิปไตยบนหลักนิติธรรม" ด้วยการเคารพและยอมรับในการตัดสินใจของประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย แต่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้กลับเป็นทิศทางตรงกันข้าม ถ้าร่างออกมาดีจริงอย่างที่ผู้ร่างกับพวกพยายามโฆษณาต้องมีคนเห็นด้วยเป็นส่วนใหญ่คนคัดค้านเป็นส่วนน้อย ถึงขนาดต้องอาศัยไสยศาสตร์ทุกขั้นตอนเพื่อให้ผ่านท่านยังจะเชื่อว่ามันดีจริงหรือครับ

4. แม้จะมีข้ออ้างให้ประชาชนตัดสินด้วยการทำประชามติ แต่สิ่งที่รองนายกรัฐมนตรีที่รับผิดชอบด้านกฎหมายและ กกต. แถลงออกมานั้นขัดกับหลักการทำประชามติที่สากลยอมรับเพราะปิดกั้น ต่างกับกระบวนการประชามติดังที่เกิดในประเทศกรีซและสกอตแลนด์ที่ทุกฝ่ายทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยมีสิทธิที่จะออกมารณรงค์ได้อย่างเต็มที่ 

5. เพื่อเป็นการยุติปัญหาในเรื่องนี้โดยเร็วที่สุด ผมมีข้อเสนอให้ท่านนายกและ สปช ได้ร่วมกันนำประเทศออกจากวิกฤตความขัดแย้ง ด้วยการให้ประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจได้ตัดสินใจทางการเมืองของตนเอง เวลาที่เสียไปนับจากการยึดอำนาจนานพอสมควรแล้วครับ ดังนี้

(1) ขอให้ สปช ลงมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้

(2) ครม และ คสช เสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวตามมาตรา 46 เพื่อให้นำบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 หรือ 2550 เฉพาะที่เกี่ยวกับการเลือกตั้งมาใช้ เพื่อจัดให้มีการเลือกตั้งโดยเร็วที่สุดให้มีรัฐบาลที่มาจากประชาชนมาแก้ไขปัญหาให้ประเทศ

(3) ท่านนายกในฐานะหัวหน้ารัฐบาลรักษาการและหัวหน้า คสช สามารถกำกับดูแลการเลือกตั้งร่วมกับ กกต ให้ได้ผู้แทนที่มาจากประชาชนอย่างแท้จริงโดยปราศจากการซื้อสิทธิขายเสียง จากนั้นตัวแทนที่มาโดยชอบเหล่านี้จะมาร่วมกันสรรหาคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญและแต่งตั้งคณะทำงานด้านปฏิรูปต่อไป กระบวนการดังนี้ผมเชื่อว่าสุจริตชนให้การยอมรับครับ

(4) ท่านนายกไม่ต้องกลัวการปฏิวัติจะเสียของ เพราะรัฐธรรมนูญชั่วคราวยังคงใช้บังคับอยู่โดยมาตรา 35 เป็นตัวกำหนดกรอบการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว กรรมาธิการชุดใหม่จะร่างให้ผิดหรือหลุดจากกรอบของรัฐธรรมนูญชั่วคราวไม่ได้

ถ้าท่านนายกทำได้ดังที่ผมกราบเรียน ท่านจะเป็นคนที่ทำคุณูปการให้กับประเทศนี้ เพราะท่านเป็นคนเดียวที่สามารถนำพาประเทศออกมาจากวิกฤตบนวิถีทางประชาธิปไตยที่ทุกฝ่ายต้องยอมรับ ข้อครหาเรื่องที่ท่านนายกอยากสืบทอดอำนาจจะหมดไป ทำเพื่อชาติอีกครั้งเถิดครับพวกผมยินดีให้ความร่วมมือกับท่านอย่างเต็มที่