posttoday

บิ๊กตู่ย้ำครม.ต้องอยู่ในบทบาทที่เหมาะสมเรื่องรธน.

01 กันยายน 2558

"นายกฯ" ย้ำที่ประชุมครม. ให้ในอยู่บทบาทที่เหมาะสมเรื่องรธน. เพราะมีมีคนเห็นด้วยไม่เห็นด้วย ระบุ "คปป." จำเป็นต้องมี เพื่อแก้วิกฤตประเทศ

"นายกฯ" ย้ำที่ประชุมครม. ให้ในอยู่บทบาทที่เหมาะสมเรื่องรธน. เพราะมีมีคนเห็นด้วยไม่เห็นด้วย ระบุ "คปป." จำเป็นต้องมี เพื่อแก้วิกฤตประเทศ

เมื่อวันที่ 1 ก.ย.พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ว่า ได้ชี้แจงที่ประชุมครม. เกี่ยวกับเรื่องร่างรัฐธรรมนูญว่า รัฐบาลต้องอยู่ในบทบาทที่เหมาะสม เพราะมีทั้งคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ไม่ใช่เอาเป็นความขัดแย้งแล้วมาต่อต้านกันอีก เพราะส่วนหนึ่งต้องการประชาธิปไตย 100 เปอร์เซ็น ส่วนอีกพวกต้องการให้มีมาตรการแก้ไขปัญหา เพราะความขัดแย้งเกิดมา 8 ปี มีการประท้วงมา 700 กว่าวัน และก่อนวันที่ 22 พ.ค.มีความรุนแรง มีคนตาย บาดเจ็บ แต่ถ้ารัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งหลังจากนี้มีปัญหาเจอการประท้วง แก้ปัญหาไม่ได้ เลือกตั้งไม่ได้ จะทำอย่างไรนี่คือส่วนหนึ่งของเหตุผลที่มีความจำเป็นต้องมีอะไรเข้ามากำกับดูแลเรื่องเช่นนี้ และคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ(คปป.) ถ้ามีได้ก็มีไป แต่ถ้ามีไม่ได้แล้วเกิดสถานการณ์ที่ประเทศติดล็อกเดินหน้าไม่ได้ รัฐบาลใช้จ่ายงบประมาณไม่ได้ ลาออกก็ไม่ลาออกอย่างที่ผ่านมา จะทำอย่างไร นี่คือสิ่งที่ผู้ร่างรัฐธรรมนูญจึงต้องกำหนดกติกาขึ้นมา

"ผมไม่ได้หมายความว่าเขาจะให้รัฐบาลต้องอยู่ต่อหรือไม่อยู่ต่อมันไม่เกี่ยวกับผม ทุกอย่างขึ้นอยู่กับประชามติผมจะไปชี้ชัดอะไรมากไม่ได้ เพราะมอบหมายความรับผิดชอบให้เขาไปแล้ว ผมมีหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อย เดินหน้าประเทศวางพื้นฐานประเทศและคิดว่าจะปฏิรูปประเทศอย่างไรในระยะยาว ซึ่งถ้าเลือกตั้งแล้วมั่นใจว่าไม่มีปัญหาก็ทำไป แต่ถ้าไม่ไว้ใจก็รับฟังข้อเสนอมา"พล.อ.ประยุทธ์กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า การสร้างความเข้มแข็งเชิงโครงสร้างให้กับประเทศ ต้องทำต่อในช่วงของการปฏิรูปหากรัฐบาลใหม่รับรองว่าจะทำการปฏิรูป แต่เวลานี้ตนกลับยังไม่ได้ยินใครพูดเรื่องการปฏิรูป และเขายังไม่รู้เลยว่าการปฏิรูปคืออะไร สื่อมวลชนต้องไปถามว่าถ้าจะอาสาสมัครมาดูแลประชาชนต้องพูดว่าจะปฏิรูปอย่างไรมีแผนหรือไม่ และสิ่งที่สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ทำวันนี้มีแผนการทั้งหมด แต่ไม่ได้เขียนกรอบระยะเวลา ซึ่งเป็นหน้าที่ของรัฐบาลหน้าต้องไปทำแผนมา ไม่ใช่ตน และถ้ามีคปป.ก็มีหน้าที่จะดูว่าการปฏิรูปนั้นว่าเป็นไปตามแผนหรือไม่ และประชาชนจะเป็นผู้ตัดสินว่าพึงพอใจหรือไม่ มิเช่นนั้นจะไม่มีการประเมิน หากทุกอย่างเป็นไปตามโรดแมปรัฐบาลหน้าต้องมาสานงานต่อที่ตนได้ทำไว้ ซึ่งอยู่ที่ว่าวันนี้เราได้กำหนดกฎเกณฑ์อะไรไว้บ้าง

“เรื่องของคปป.นั้นอำนาจไม่ได้ทับซ้อนกับรัฐบาล และไม่ได้มีอำนาจทางนิติบัญญัติ คปป.จะมีอำนาจต่อเมื่อเกิดสถานการณ์ และเข้ามาแก้ปัญหาความรุนแรง เพราะถ้าไม่มีถ้าเจ้าหน้าที่ทำอะไรลงไปอาจจะติดคุกได้ เช่นเดียวกับที่ผมเข้ามาโดยต้องมีอำนาจตามกฎอัยการศึก จะได้ไม่ถูกไล่ล่า เพราะวันนี้ที่เข้ามาไม่ได้ต้องการอะไร มีเพียงกฎอัยการศึกอย่างเดียวที่จะให้ผมเข้ามาหยุดความรุนแรงและเดินหน้าประเทศได้ ขณะเดียวกันสื่อโจมตีว่าผมทำรัฐประหาร ขอถามว่าผมทำในสิ่งที่ดีกว่าหรือไม่ แต่ไม่ได้บอกว่าอะไรดีกว่ากัน เพราะอย่างไรเสียประชาธิปไตยต้องดีกว่าอยู่แล้ว แต่ควรจะเป็นแค่ไหน ระยะเวลาใดควรมีใครมากำกับดูแลหรือไม่ โดยไม่ทับอำนาจรัฐบาล รัฐบาลจะมีอำนาจเต็มจนกว่าจะเกิดวิกฤต ถ้าไม่เช่นนั้นใครจะมาแก้จะให้ทหารปฏิวัติอีกหรือ ตรงนี้ที่เขาทำมาคือไม่ต้องการให้มีการปฏิวัติอีก สิ่งเหล่านี้ต้องให้ประชาชนเข้าใจว่า เขาตั้งใจเขียนถึงอำนาจคปป.ไว้เช่นไร ที่ผ่านมานักการเมืองชี้นำไปเรื่อยในจุดที่เขาไม่เห็นด้วยโดยจะให้ประชาชนไม่เห็นด้วยตามไปด้วย" นายกฯ กล่าว

พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า ขอให้สื่อที่นำเสนอเรื่องคปป.แล้ว ขอให้พิจารณาร่างรัฐธรรมนูญในหมวดอื่นๆด้วย ในทุกมาตรา ตนกลุ้มใจที่ผลสำรวจออกมาว่าประชาชนไม่รู้จัก สปช.สนช. ว่ามีหน้าที่ทำอะไรกัน ซึ่งตรงนี้สื่อจะช่วยได้มาก อย่าเขียนแต่เรื่องเดิมๆที่เป็นความขัดแย้ง เช่นตั้งทหาร ตำรวจ มีพรรคมีพวก ตนไม่ได้ต้องการพวก มีแต่จะต้องทำงานร่วมกันให้ได้ ไม่แสวงหาผลประโยชน์