posttoday

มวลมหาประชาชนรับร่างรธน.ฉบับคสช.

01 กันยายน 2558

กปปส.หนุนร่างรัฐธรรมนูญ ยันไม่คิดตั้งพรรคเป็นคู่แข่งการเมือง ย้ำรัฐบาลปรองดองไม่ใช่ทางออก แนะคสช.ใช้ม.44ปฏิรูปตำรวจ

กปปส.หนุนร่างรัฐธรรมนูญ ยันไม่คิดตั้งพรรคเป็นคู่แข่งการเมือง ย้ำรัฐบาลปรองดองไม่ใช่ทางออก แนะคสช.ใช้ม.44ปฏิรูปตำรวจ

เมื่อวันที่ 1 ก.ย. เวลา  09.40น. ที่โรงแรมอินเตอร์คอนติเนตัล ราชประสงค์ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. แถลงข่าวกับสื่อมวลชนถึงจุดยืนกปปส.ต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ว่า จุดยืนของมวลมหาประชาชนพิจารณาด้วยจิตวิญญาณและสำนึกที่ดี ที่คำนึงถึงประเทศชาติเป็นหลัก และพวกตนไม่คิดจะจัดตั้งพรรคการเมืองเพื่อชิงอำนาจกับพรรคใดหรือใครทั้งสิ้น วันนี้ตนเป็นประชาชนธรรมดาคนหนึ่ง ได้ลาออกจากพรรคเพื่อร่วมต่อสู้กับมวลมหาประชาชน  และไม่คิดจะกลับไปที่พรรคประชาธิปัตย์อีกแล้ว

นายสุเทพ กล่าวว่า มุมมองของมวลมหาประชาชนต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้  ถือว่าเป็นรัฐธรรมนูญที่เปิดโอกาสให้เจตนารมณ์ของประชาชนที่ต้องการปฏิรูปประเทศเกิดขึ้นได้หรือไม่ เจตนามวลมหาประชาชน คือ การปฏิรูปประเทศ เมื่อดูในประเด็นนี้และศึกษาร่างรัฐธรรมนูญจากมุมนี้  ในสายตาประชาชนเห็นว่าร่างรัฐธรรมนุญฉบับนี้ ดีพอที่จะนำไปให้ประชาชนทำประชามติ

“ผมย้ำว่ามุมมองพวกเรา ร่างรัฐธรรมนูญดีพอที่จะนำเสนอให้ประชาชน เพื่อลงประชามติ คนตัดสินใจขั้นสุดท้าย คือ พี่น้องประชาชนทั้งประเทศในการทำประชามติ สำหรับมวลมหาประชาชน เราเรียกร้องแสดงเจตนารมณ์ ปฏิรูปประเทศ บางเรื่องทำทันที ก่อนเลือกตั้ง บางเรื่องต้องใช้เวลา ทำต่อเนื่อง ซึ่งความต่อเนื่องเป็นหัวใจสำคัญที่เรามวลมหาประชาชนทั้งหลายคาดหวังตั้งใจไว้ ทำอย่างไรให้กระบวนการปฏิรูปดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประเทศมั่นคง ปลอดภัย และยั่งยืน”นายสุเทพ กล่าว

นายสุเทพ กล่าวอีกว่า เรื่องปฏิรูปที่ยังไม่ได้ดำเนินการให้เห็นเป็นรูปธรรม คือ การปฏิรูปตำรวจที่ต้องการให้ตำรวจเป็นของประชาชน แต่ถ้าทำอย่างอื่นไม่ใช่เจตนาของมวลมหาประชาชน  รัฐบาลสามารถปฏิรูปได้ทันทีเพราะมีอำนาจในมืออยู่แล้ว คือ มาตรา 44

นายสุเทพ กล่าวยืนยันว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวดีพอที่จะให้ประชาชนทำประชามติ เพราะรัฐธรรมนูญมีหลักประกันถ้าร่างรัฐธรรมนูญประกาศใช้จะมีหลักประกันว่าการปฏิรูปประเทศจะดำเนินการได้อย่างจริงจังง ตรงนี้เป็นจุดที่มวลมหาประชาชนให้ความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง  ปัญหาสำคัญของการปฏิรูป คือ ใครจะเป็นเจ้าภาพปฏิรูปประเทศตามเจตนาของประชาชน ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ถือเป็นยุทธศาสตร์ชาติ ในการปฏิรูปป คือ คณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ(คปป.) ซึ่งเป็นผู้กำหนดยุทธศาสตร์ เพื่อให้หน่วยงานรัฐปฏิรูปประเทศตามยุทธศาสตร์ เป็นสิ่งที่เราไม่เคยเห็น และเชื่อมั่นว่าการปฏิรูปจะดำเนินการต่อไปได้

นอกจากนี้ร่างรัฐธรรมนูญยังเขียนถึงอำนาจหน้าที่คปป.ชัดเจน ทั้งเรื่องของการกำหนดยุทธศาสตร์ การขับเคลื่อนการปฏิรูปอย่างบูรณาการ  รวมทั้งมีการระบุองค์กร บุคคล ที่จะเข้ามาแก้ไขวิกฤตหากบ้านเมืองเกิดปัญหาในอนาคต เพราะในร่างรัฐธรรมนูญได้กำหนดทางออกเอาไว้แล้ว โดยให้คปป.ใช้อำนาจทางกฎหมายเท่าที่จำเป็น เพื่อป้องกันเหตุและระงับความนรุนแรงทั้งหลาย ร่างรัฐธรรมนูญเขียนไว้ดีพอสมควรว่าถ้าจะใช้อำนาจต้องปรึกษาศาล รวมทั้งคปป.ต้องใช้เสียง 2ใน3 และเมื่อทำเสร็จแล้วจะต้องรายงานต่อสภาผู้แทนราษฏร วุฒิสภา และแถลงให้ประชาชนทราบ

“ขณะที่คปป. ตัดสินใจใช้อำนาจเปิดประชุมสมัยวิสามัญ สส. สว. หรือมีตัวแทนประชาชน กำกับดูแลการทำงานของคปป. มุมมองอย่างนี้ ประเด็นอย่างนี้เรายอมรับ อาจมีคนเห็นต่างเป็นอย่างอื่น ถือเป็นเสรีทางความคิด ประชาชนมองและคิดแบบนี้” ประธานมูลนิธิกปปส. กล่าว

นายสุเทพกล่าวว่า ขอเรียกร้องว่าให้โอกาสแก่ประชาชนเป็นผู้ตัดสินใจได้หรือไม่ ในการทำประชามติเพื่ออนาคตของประเทศ และหวังว่าทุกฝ่ายจะเคารพมติของประชาชน

เมื่อถามถึงข้อเสียร่างรัฐธรรมนูญ นายสุเทพ ชี้แจงว่า ตนมองตามสภาพความเป็นจริง ร่างรัฐธรรมนูญเหมาะสมกับสถานการณ์ประเทศไทย เหมือนคนชอบพูดว่าเอาเสื้อผ้าฝรั่งมาใส่อาจไม่หล่อ เราต้องตัดตามขนาดของคนไทย ทั้งนี้ ความบกพร่องเป็นเรื่องธรรมดา แต่สาระสำคัญ คือร่างรัฐธรรมนูญมีเป็นหลักประกันว่าอนาคตประเทศไทยจะเห็นแสงสว่าง เห็นโอกาสประชาชนมีชีวิตที่ดีขึ้น

เมื่อถามว่าคปป.จะทำให้เกิดภาวะรัฐซ้อนรัฐ นายสุเทพ กล่าวว่า แล้วแต่มุมมองของแต่ละคนที่ไม่เหมือนกัน แต่มุมมองของตน วัดกันที่ผลได้ผลเสียของประเทศซึ่งเป็นสิ่งที่จับต้องได้ เมื่อมีการปฏิรูป ประเทศจะมั่นคง ปลอดภัย และประชาชนมีชีวิตที่ดีขึ้น เรามองในมุมการปฏิรูป สำหรับกรณีที่หลายฝ่ายรณรงค์ให้มีการคว่ำร่างรัฐธรรมนูญนั้น ตนคิดว่าทุกฝ่ายควรเคารพประชาชน โดยให้ประชาชนตัดสินใจ มติประชาชนถือเป็นเรื่องใหญ่และสำคัญที่สุด ในส่วนกปปส.ยังไม่ได้คิดในเรื่องการรณรงค์ เพราะประชาชนยังไม่ได้บอกว่าให้ทำอย่างไร 

เมื่อถามว่าจุดยืนของกปปส.ถือเป็นการโน้มน้าวสปช.ให้ผ่านร่างรัฐธรรมนูญ ขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ประกาศคว่ำรัฐธรรมนูญ นายสุเทพ ตอบว่า ประชาชนพูดอย่างตรงไปตรงมา มองรัฐธรรมนูญแบบนี้ก็พูดไปตามนี้ แต่ทั้งหมดไปว่ากันที่ประชามติ ประชาชนตัดสิน ส่วนที่จะบอกว่ามวลมหาประชาชนแป็นพวกประชาธิปัตย์ ตนอยากขอความเป็นธรรมให้ปาชนด้วย เพราะคนร่วมต่อสู้กับเราเกือบครึ่งไม่เคยลงคะแนนเสียงให้พรรคปชป. แต่มาสู้ด้วยสำนึก ไม่ได้ผูกพันธ์กับพรรคการเมืองใด

เมื่อถามถึงหลักประกันที่คปป.จะไม่ใช้อำนาจออกร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรม นายสุเทพ กล่าวว่า ตนไม่สามารถคาดเดาอะไรในทางร้ายได้ บทเรียนประสบการณ์ที่เกิดขึ้นในประเทศไทยเห็นกันหมดแล้ว เชื่อคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯจะมีสำนึกที่ช่วยแก้ไขปัญหาประเทศ และตนไม่มองคปป.ใน ทางร้าย ถ้าดูคนที่เข้ามาเป็นคปป. ประกอบด้วย ปธะธานสภาฯ อดีตนายกฯ ปธะธานศาลฎีกา เป็นคนน่าเชื่อถือได้ ใครจะเที่ยวเขียนนิรโทษสุดซอย ถ้าเขียนเชื่อว่าประชาชนจะออกมาอีก

เมื่อถามว่า สนับสนุนแนวคิดของนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกมธ.ยกร่างฯ เสนอคำถามประชามติเรื่องให้มีรัฐบาลปรองดองแห่งชาติ นายสุเทพ ชี้แจงว่า ส่วนตัวไม่ค่อยเชื่อ เพราะยังไม่ชัดเจน และไม่คิดว่าต้องมีรัฐบาลปรองดองแห่งชาติ เพราะเคยเห็นรัฐบาลผสมมาหลายยุคหลายสมัยทำให้ไม่น่าเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ รัฐบาลปรองดองเป็นนามธรรมเกินไป