posttoday

"ประสาร" ประเมินสปช.180เสียงโหวตรับร่างรธน.

31 สิงหาคม 2558

"ประสาร" คาด สปช.อย่างน้อย​180 เสียงโหวตรับร่างรัฐธรรมนูญ ปัด คปป.​ไม่ใช่ใบสั่ง คสช.​

"ประสาร" คาด สปช.อย่างน้อย​180 เสียงโหวตรับร่างรัฐธรรมนูญ  ปัด คปป.​ไม่ใช่ใบสั่ง คสช.​

เมื่อวันที่ 31 ส.ค. นายประสาร มฤคพิทักษ์ สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) เปิดเผยว่า กรณีที่จะมีการลงคะแนนเสียงเพื่อเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ ในวันที่ 6 ก.ย. นี้ ส่วนตัวประเมินขั้นต่ำแล้วจะมีเสียงผู้ที่เห็นชอบอย่างน้อย 180 เสียง จากทั้งหมด 247 เสียง และประเมินโมเมนตัมแล้วยิ่งช่วงใกล้ลงคะแนนเสียงที่ยังไม่ได้ตัดสินใจอีกประมาณ 15-20 เสียง จะเทคะแนนมายังฝั่งเห็นชอบมากกว่าฝั่งไม่เห็นชอบ

นอกจากนี้ ​จากการลงพื้นที่รับฟังความคิดเห็นในเวทีต่างๆ  ของสปช.ทั่่วประเทศทั้งภาคเหนือกลางใต้อีสาน พบว่าประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ดังนั้น ในการทำประชามติซึ่งถือเป็นการวัดใจระหว่างฐานเสียงของพรรคการเมืองต่างๆ และ ประชาชนที่แท้จริงนัั้ั้นเชื่อว่าเสียงส่วนใหญ่แม้แต่ฐานเสียงของพรรคการเมืองก็จะเห็นมาสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญ สอดรับกับผลโพลที่ออกมา

นายประสาร กล่าวอีกว่า กรณี มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์คณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ(คปป.) ว่าเป็นการสืบทอดอำนาจบ้าง เป็นอำนาจรัฐซ้อนรัฐบ้าง เป็นใบสั่ง คสช.บ้างนั้น ส่วนตัวเห็นว่าไม่ใช่เป็นใบสั่งของ คสช.แต่เป็นใบสั่งของสถานการณ์ในระยะเปลี่ยนผ่าน เป็นการเริ่มต้นจากความเป็นจริงของประเทศไทยที่ไม่เหมือนประเทศใดในโลก

ก่อนการยึดอำนาจ 22 พ.ค.57 ไม่ใช่อำนาจรัฐซ้อนรัฐ แต่เป็นนักโทษหนีอาญาแผ่นดินคนเดียวที่มีอำนาจเหนือรัฐ  บทบัญญัติ คปป.นี้เริ่มต้นจากความเป็นจริงที่ประเทศไทยเข้าสู่มุมอับซึ่งการเมืองในสภาวะปกติเป็นอัมพาต ทำให้ประชามหาชนแสดงถึงเจตจำนงทางการเมือง(Political Will) ครั้งประวัติศาสตร์ว่าการเมืองเก่าเป็นกองขยะที่ต้องล้างทิ้ง เดินหน้าไปไม่ได้แล้ว ต้องเปลี่ยนต้องปฏิรูปอย่างทั่วด้าน ไม่เปลี่ยนไม่ได้

อย่างไรก็ตาม  จะเห็นว่า ในมาตรา 261 ร่างรัฐธรรมนูญนั้นระบุว่า  คปป. ​"ไม่มีอำนาจหน้าที่ในการบริหารราชการแผ่นดิน" แต่ในยามที่เหลือกำลังจะลากไหว กล่าวคือรัฐบาล"เอาไม่อยู่" คปป.จึงจะเข้ามาช่วย เป็นบันไดหนีไฟ เพราะถ้าไม่มีเครื่องมือนี้ไว้ ก็หลีกไม่พ้นที่จะต้องมีทหารเข้ามายึดอำนาจใหม่ เหตุการณ์วิกฤตเป็นสถานการณ์พิเศษที่เกิดขึ้นกับประเทศไทยมาหลายครั้งแล้ว

นอกจากนี้​ทาง​กระทรวงต่างประเทศ ได้เชิญศาสตราจารย์โดมินิก รุสโซ จากฝรั่งเศส มาให้ข้อมูล ได้ระบุว่า ว่ารัฐธรรมนูญที่จะแก้ไขความขัดแย้งอันเป็นวิกฤตของประเทศได้ คือรัฐธรรมนูญที่มีความสมดุลระหว่างคันเร่งและเบรคและยังบอกว่ารัฐธรรมนูญจะต้องแตกต่างกันในแต่ละประเทศที่มีภูมิหลังแตกต่างกันไป​ซึ่งจะเห็นว่า คปป.เองเป็นทั้งคันเร่งและเบรคในตัวเอง หน้าที่ขับเคลื่อนการปฏิรูปและการปรองดองคือคันเร่ง หน้าที่แก้วิกฤตคอยเป็นเหมือนเซฟทีคัท คือตัดก่อนตายเตือนก่อนวายวอด ​ดังนั้น ถ้านักการเมืองเคารพเสียงสวรรค์ของประชาชนจริงก็ควรให้รัฐธรรมนูญฉบับนี้เข้าสู่กระบวนการ "ประชาวินิจฉัย"จะดีหรือไม่