posttoday

"บวรศักดิ์"วอนสปช.พิจารณารธน.ด้วยมโนสำนึก

25 สิงหาคม 2558

ประธานกมธ.ยกร่างรธน. วอน สมาชิกสปช.พิจารณารธน.ด้วยมโนสำนึก

ประธานกมธ.ยกร่างรธน. วอน สมาชิกสปช.พิจารณารธน.ด้วยมโนสำนึก

การประชุมสัมมนาหารือระหว่างสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ  (สปช.) และคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ เกี่ยวกับเนื้อหาสาระของร่างรัฐธรรมนูญ โดยนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานกมธ.ยกร่างฯ ได้กล่าวเปิดใจกับสมาชิกสปช. ตอนหนึ่งถึงการทำหน้าที่ยกร่างรัฐธรรมนูญว่า ส่วนตัวได้ใช้ความรู้และความตั้งใจรวมถึงความพยายามในการยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยเป็นไปตามที่ได้ให้คำสัตย์ไว้ต่อหน้าพระสยามเทวาธิราช และพระแก้วมรกตก่อนการทำหน้าที่

ทั้งนี้ การดำเนินการดังกล่าวได้เป็นไปตามยกร่างกฎหมาย พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรมนูญ และพระราชบัญญัติ เหมือนกับที่สมาชิกของสภาผู้แทนราษฎร และวุฒิสภาได้ดำเนินการมาทุกฉบับในประเทศอย่าง ซึ่งส่วนตัวไม่กังวลต่อการตัดสินใจเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบต่อร่างรัฐธรรมนูญของสมาชิกสปช. ที่จะมีขึ้น

"หากสปช. ได้ตัดสินเนื้อหาโดยมโนสำนึกและวิจารณญาณของผม หากสปช.เห็นว่าร่างรัฐธรรมนูญมีความหวังดีต่อชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และประชาชนส่วนใหญ่  ประเด็นเล็กๆ น้อยๆ ที่เคยมีก่อนหน้านั้น ผมขอกราบขออภัย"นายบวรศักดิ์ กล่าว

จากนั้นเป็นลำดับการชี้แจงของกมธ.ยกร่างรัฐธรมนูญ ต่อประเด็นสำคัญๆ โดยเริ่มจากนายบรรเจิด สิงคะเนติ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้ชี้แจงถึงการบัญญัติให้มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปและการปรองดองแห่งชาติ เพื่อเป็นไปตามเจตนารมณ์ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ประกาศไว้ถึงเหตุผลของการเข้ามากระทำเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2557 ที่ได้รับเจตจำนงของประชาชนที่ต้องการให้การปฏิรูปประเทศให้สำเร็จ

"การกำหนดให้มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ เพื่อสร้างเป็นหลักประกันว่าการปฏิรูปและการปรองดองที่จะนำไปสู่การแก้ปัญหาที่รากฐาน และลดความเหลื่อมล้ำจะเกิดขึ้นจริง ส่วนอำนาจพิเศษที่กำหนดไว้ในบทเฉพาะกาลนั้น ถือเป็นเพียงการกำหนดให้มาแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นเหมือนที่ผ่านมา ซึ่งเกิดภาวะรัฐล้มเหลว"นายบรรเจิด กล่าว

อย่างไรก็ดี ในที่ประชุมยังได้แจกเอกสารว่าด้วยบทความสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญฉบับเสนอสปช.  ที่กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ได้สรุปในสาระสำคัญในประเด็นต่างๆ เช่น การมีส่วนร่วมของประชาชน, การป้องกันและปราบปรามการทุจริตประพฤติมิชอบ, เส้นทางการปฏิรูปประเทศ เป็นต้น นอกจากนั้นยังเอกสารที่ว่าด้วยมาตรการแก้วิกฤตทางการเมืองที่เกิดในอดีต จำนวน  17 ประเด็น ได้แก่ 1.ปัญหาที่ระหว่างการยุบสภาและรัฐบาลรักษาการอ้างว่ารัฐมนตรีลาออกไม่ได้ เพราะรัฐธรรมนูญบังคับให้อยู่ปฏิบัติหน้าที่ โดยในร่างรัฐธรรมนูญมีมาตรา 174แก้ไข ซึ่งกำหนดให้ลาออกได้ หากรัฐมนตรีลาออกจนจำนวนเหลืออยู่ไม่ถึงครึ่งหนึ่งของคณะรัฐมนตรีรักษาการ ให้ปลัดกระทรวงร่วมกันเป็น ครม. รักษาการแทน, 2.การเรียกร้องให้ใช้รัฐธรรมนูญ มาตรา 7 ตั้งนายกฯ คนกลาง โดยมีข้อโต้แย้งจากรัฐบาล แต่ไม่มีองค์กรใดวินิจฉัย ในร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 7 วรรคสอง กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจวินิจฉัยเพื่อแก้ปัญหา,3.ความนิยมในพรรคการเมืองกับจำนวนส.ส.ที่ได้ไม่สะท้อความจริง โดยมีทางแก้ไข คือปรับระบบการเลือกตั้งส.ส.ให้เป็นระบบสัดส่วนผสม โดยให้ยึดเกณฑ์ความนิยมของประชาชนต่อพรรคการเมือง จากการลงคะแนนในส.ส.บัญชีรายชื่อ

4.กรณีที่หัวหน้าพรรคไม่ได้รับการยอมรับ  และบุคคลที่ไม่ได้เป็น ส.ส. ไม่สามารถเป็นนายกฯ ได้  ในร่างรัฐธรรมนูญกำหนดให้นายกฯ ต้องมาจากส.ส.  หากจะให้คนที่ไม่เป็นส.ส.มาเป็นนายกฯ ต้องใช้เสียง 2 ใน 3 ของ ส.ส.ทั้งสภาฯ , 5.เมื่อเกิดความไม่สงบ และความรุนแรง รัฐบาลปกติอาจรับมือไม่ได้ มีทางแก้ไขคือ การตั้งให้มีคณะกรรมการยุทธศาสตร์ฯ ให้อำนาจดำเนินการเพื่อป้องกันและระงับความขัดแย้ง  และระงับการกระทำที่ขัดขวางการปฏิรูปหรือการปรองดองรวมทั้งตรวจสอบ ไต่สวน การไม่ปฏิบัติตามแผนขึ้นตอนของกรรมการยุทธศาสตร์ฯ พร้อมส่งปัญหาเรื่องอำนาจหน้าที่ให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยและรักษาความสงบเรียบร้อย, 6.การใช้ประชานิยมที่เกิดผลเสียต่อเงินแผ่นดินมหาศาล ทางแก้คือ กำหนดให้มีการวิเคราะห์ทางงบประมาณและการคลังในระยะสั้นและระยะยาว ผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคมและระบุแหล่งเงินพร้อมตั้งแผนกคดีวินัยการคลังและงบประมาณในศาลปกครอง รวมถึงให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) , สำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ไต่สวนกรณีที่มีหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่าผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือเจ้าหน้าที่รัฐใช้จ่ายเงินแผ่นดินที่ทำให้เกิดความเสียหายแก่รัฐอย่างร้ายแรง และส่งเรื่องให้ศาลปกครองพิจารณาได้

7.กรณีที่รัฐบาลชุดใหม่พยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญ มีทางแก้คือให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญทำได้ยากมาก คือ ห้ามแก้เรื่องระบอบประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข  และห้ามแก้ไขเรื่องความเป็นรัฐเดี่ยว ขณะที่หลักการสำคัญ เช่น สิทธิเสรีภาพ ศาล องค์กรตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ ต้องใช้เสียงข้างมาก จำนวน 2 ใน 3  และต้องผ่านประชามติของประชาชน,8.ปัญหาความไม่เป็นกลางของประธานสภาผู้แทนราษฎร  ในร่างรัฐธรมนูญกำหนดให้ประธาน และรองประธานสปช. มีความเป็นกลางทางการเมือง ไม่เฉพาะการปฏิบัติหน้าที่เท่านั้นและกำหนดให้รองประธานสภาฯ คนหนึ่งมาจากพรรคฝ่ายค้าน, 9.ปัญหากรณีที่ไม่มีประธานสภาผู้แทนราษฎรฐานประธานรัฐสภาหรือมีแต่ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้  หรือไม่อยู่ทำหน้าที่ กำหนดให้ประธานวุฒิสภา หรือรองประธานวุฒิสภาตามลำดับทำหน้าที่ประธานรัฐสภาแทนได้, 10.การให้บทบาทแต่ฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และในกรรมาธิการสามัญประจำสภาฯ ได้เขียนบทบัญญัติกำหนดให้ตำแหน่งประธานกมธ.ตรวจสอบการทุจริต และติดตามการใช้งบประมาณเป็นของส.ส.พรรคฝ่ายค้าน, 11.กรณีที่ส.ส.ถูกบังคับให้ลงมติตามมติพรรคการเมือง ได้กำหนดให้ส.ส.มีอิสระจากมติพรรคการเมืองทั้งการตั้งกระทู้ถาม การลงมติใดๆ หากพรรคมีมติขับออกจากการเป็นสมาชิกพรรค ส.ส.  จะไม่ถือว่าพ้นสมาชิกภาพความเป็นส.ส. , 12.การเมืองเข้าไปแทรกแซงข้าราชการ ได้แก้ไขโดยให้การแต่งตั้งข้าราชการโดยใช้ระบบคุณธรรมและห้ามแทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการ เจ้าหน้าที่เว้นแต่ทำตามกฎหมาย, 13.ข้อกังขาในกรณีที่มาทรัพย์สินของผู้จะเข้าสู่วงการการเมือง ร่างรัฐธรรมนูญกำหนดให้ผู้สมัครรับเลือกตั้งทุกระดับต้องแสดงหลักฐานการเสียภาษีเงินได้ย้อนหลัง 3 ปีให้ตรวจสอบ

14.ปัญหาคดีล้นมือ ป.ป.ช. ได้แก้ไข ให้ป.ป.ช.มีอำนาจตรวจสอบคดีทุจริตของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและหัวหน้าส่วนราชการเท่านั้น ส่วนเจ้าหน้าที่ระดับรองลงมาให้หน่วยงานอื่นตรวจสอบ, 15.ประชาชนขาดการมีส่วนรวมในการบริหารท้องถิ่นของตนเอง แก้ไขโดยกำหนดให้มีกระบวนการสมัชชาพลเมือง การออกเสียงประชามติท้องถิ่นเพื่อเพิ่มการมีส่วนร่วมในระดับท้องถิ่นมากขึ้น, 16.กรณีไม่มีการออกกฎหมายลูกรับรองสิทธิเสรีภาพตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ แก้ไขโดย ถ้ารัฐธรรมนูญนี้รับรองสิทธิเสรีภาพใดให้เป็นไปตามกฎหมายบัญญัติ หากไม่มีการดำเนินการหรือตรากฎหมายสามารถใช้สิทธิทางศาลได้ และ 17.ร่างกฎหมายที่ประชาชนเสนอไม่ได้รับความสนใจ  ทางแก้ไขคือให้หน่วยงานของรัฐช่วยประชาชนจัดทำร่างกฎหมายและสภาฯ ต้องพิจารณาร่างกฎหมายของประชาชนภายใน 180 วัน แม้จะยุบสภา หรือสภาฯ สิ้นอายุต้องพิจารณาต่อ โดยไม่ต้องขอความเห็นชอบเหมือนร่างกฎหมายของ ครม. หรือ  ส.ส.  หากร่างกฎหมายของประชาชนตกไปในสภาฯ ใดจะมีกลไกส่งให้ที่ประชุมร่วมรัฐสภาลงมติยืนยัน