posttoday

"นิธิ-ชาญวิทย์" นำทีม150รายชื่อจี้ทำประชามติร่างรธน.

03 พฤษภาคม 2558

จาตุรนต์-หมอเลี้ยบ จับมือภาคประชาชนลงชื่อเรียกร้องทำประชามติร่างรธน. ย้ำหากสปช.เห็นชอบ ให้จัดประชามติภายใน 30 วัน

จาตุรนต์-หมอเลี้ยบ จับมือภาคประชาชนลงชื่อเรียกร้องทำประชามติร่างรธน. ย้ำหากสปช.เห็นชอบ ให้จัดประชามติภายใน 30 วัน

เมื่อวันที่ 3 พ.ค. กลุ่มนักวิชาการ นักกิจกรรม นักศึกษา กลุ่มสหภาพแรงงาน นักเขียน ผู้กำกับ สื่อมวลชน นักการเมือง และประชาชน 150 คน อาทิ ศ.นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการอาวุโส อดีตอาจารย์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ศ.ชาญวิทย์ เกษตรศิริ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, เกษียร เตชะพีระ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, เป็นเอก รัตนเรือง ผู้กำกับภาพยนตร์ชื่อดัง, จาตุรนต์ ฉายแสง อดีตรมว.ศึกษาธิการ, นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี อดีตรองนายกรัฐมนตรี, สุชาติ สวัสดิ์ศรี ศิลปินแห่งชาติ ร่วมกันลงชื่อในฐานะ “กลุ่มเรียกร้องประชามติที่เป็นประชาธิปไตย”

ทั้งนี้ มีข้อเสนอสามข้อหลัก ได้แก่ 1.หากสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ปัดร่างรัฐธรรมนูญตก ให้ตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนขึ้นมา 2.หากสปช.ให้ความเห็นชอบต่อร่าง รธน. ต้องจัดให้มีการลงประชามติภายใน 30 วัน และ 3. หากประชาชนไม่เห็นชอบต่อร่างรัฐธรรมนูญ หรือประชามติไม่ผ่าน ให้เริ่มต้นกระบวนการร่างใหม่ โดยที่สภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชนภายใน 45 วัน จากนั้นให้ สสร. จัดทำร่าง รธน. ให้เสร็จภายใน 90 วัน เมื่อแล้วเสร็จต้องมีประชามติภายใน 30 วัน และหากผลการลงประชามติผ่านร่างรัฐธรรมนูญ ให้จัดการเลือกตั้งภายใน 60 วัน

“หากประชาชนไม่ให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ แต่สภาปฏิรูปแห่งชาติและคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ด้วยกระบวนการเดิม นั่นหมายความว่า อำนาจในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญใหม่ยังคงอยู่ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ สภาปฏิรูปแห่งชาติ และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ โดยที่ประชาชนไม่ได้เข้าไปมีส่วนร่วมอีกเช่นเคย การออกเสียงประชามติเช่นนี้ถือเป็นการออกเสียงประชามติที่ปราศจากทางเลือก และไม่สามารถสะท้อนความคิดเห็นที่แท้จริงของประชาชนได้ อันขัดต่อเป้าหมายของการออกเสียงประชามติรัฐธรรมนูญ ที่ต้องการให้ประชาชนมีโอกาสตัดสินใจเลือกรัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดในการปกครองประเทศได้ด้วยตนเอง”แถลงการณ์ระบุ

นอกจากนี้ กลุ่มผู้เรียกร้องประชามติเห็นว่า หากจัดให้มีการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ แล้วประชาชนไม่ให้ความเห็นชอบรัฐธรรมนูญ ย่อมแสดงให้เห็นว่าประชาชนปฏิเสธกระบวนการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ และเนื้อหาในร่าง ดังนั้น การจัดทำร่างรัฐธรรมนูญตามกระบวนการเดิมย่อมไม่มีความชอบธรรมอีกต่อไป แต่ประชาชนในฐานะผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญ คือผู้ที่มีความชอบธรรมในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญใหม่อีกครั้ง