posttoday

เสียงแกว่งที่มาสว. ปลดล็อก-หรือเพิ่มปัญหา

28 กันยายน 2559

เป็นอีกหนึ่งกฎหมายลูกให้ต้องจับตากับ พ.ร.บ.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว.ที่กกต.จัดทำเสนอให้กรธ.ใช้พิจารณา

โดย...ชัยรัตน์ พัชรไตรรัตน์

เป็นอีกหนึ่งกฎหมายลูกให้ต้องจับตากับ พ.ร.บ.ว่าด้วยการได้มาซึ่ง สว.ที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จัดทำเสนอให้กับคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ หรือ กรธ.ใช้พิจารณา

เนื่องด้วยกฎหมายดังกล่าวถือเป็นครั้งแรกในการปรับเปลี่ยนรูปแบบวิธีการได้มาของ สว. ซึ่งแตกต่างจากรัฐธรรมนูญ 2550 ที่ใช้วิธีการเลือกตั้งและสรรหาจนได้สมาชิกครบ 250 คน

โดยวิธีการใหม่ให้การสรรหาจาก 20 กลุ่มสาขาอาชีพแล้วเลือกกันเองจนได้ 200 คน ก่อนส่งให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คัดเลือกตามบทเฉพาะกาล มาตรา 269 เหลือ 50 คน และสำรองรายชื่ออีก 50 คน

รสนา โตสิตระกูล อดีต สว. กทม. ขยายมุมมองว่า ส่วนตัวคิดว่าไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้มากนัก เพราะในระบบของการเลือกแบบนี้ เคยเจอประสบการณ์กรณีการเลือกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยให้เลือกกันเองภายในอาชีพ แต่การเลือกไขว้กันเป็นจำนวนน้อย ซึ่งไม่มีทางป้องกันได้

นอกจากนี้ การให้เลือกไขว้อาชีพกันแม้จะแก้ปัญหาหนึ่งแต่ก็ไปเจอปัญหาอื่น ที่จริงมันไม่มีสูตรสำเร็จอะไร การจะให้เลือกไขว้อาชีพไม่ได้แปลว่าจะบล็อกโหวตกันไม่ได้ หากมองในกรณีการเลือกจากลักษณะนี้ คนไม่รู้จักกัน ดังนั้น การป้องกันบล็อกโหวตเรื่องนี้จึงลำบาก

“สมัยก่อนที่เคยเสนอว่า การเลือกโดยเป็นกลุ่มฐานอาชีพแล้วให้ประชาชนเลือก แต่เขาไม่เอา ไปทำให้การเลือกซับซ้อน ระบบที่ทำไม่ได้ให้แก้ปัญหา คิดว่าการเลือกในลักษณะของความหลากหลาย และยอมรับในแง่ให้ประชาชนเลือก แทนให้เลือกกันเอง ก็ควรกำหนดโครงสร้างแต่ละอาชีพว่าต้องการกี่คนให้ประชาชนเลือก ในแง่นี้มันสามารถช่วยป้องกันบล็อกโหวตได้”

ทั้งนี้ เพราะว่าประชาชนเลือกเยอะ โดยให้เลือกเป็นระดับจังหวัดก็ได้ แต่ถ้าเลือกในระดับของคนจำนวนน้อยแล้วให้เลือกไขว้กันอาชีพ 1.ไม่มีทางแก้ปัญหาในเรื่องบล็อกโหวตได้ 2.เวลาเลือกในระดับกว้างประชาชนไม่อาจมีทางรู้ว่าคนคนนั้นมีคุณสมบัติดีมากน้อยแค่ไหน แต่ลดปัญหาในแต่ละเรื่องได้

ทว่า การเลือกข้ามอาชีพส่วนตัวไม่เชื่อในแง่จะสามารถลดบล็อกโหวต ขณะเดียวกัน ไม่สามารถพูดได้เต็มปากว่ามาจากผู้แทนปวงชน ดังนั้น ปัญหาอยู่ที่ว่าอยากจะเลือก สว.ไปเพื่ออะไร ถ้าเลือกมาเป็นผู้แทนปวงชนชาวไทย แล้วมีความหลากหลายเป็นคนละส่วนกับ สส.เป็นเรื่องหนึ่ง

รสนา ขยายต่อว่า แต่ถ้าต้องการให้ สว.มาจากคนละฐานมาจากการสรรหา ก็ต้องลดอำนาจลง ไม่เช่นนั้นปัญหาก็จะพัวพันกันหมด เพราะว่าปัญหาของวิธีการทำมันไม่สามารถตอบโจทย์ทุกเรื่องได้ การเลือกไขว้กันเพื่อให้มีอาชีพหลากหลาย แต่ว่าไม่สามารถที่จะบอกว่าป้องกันการบล็อกโหวตเป็นไปได้ยาก

อย่างไรก็ตาม แต่ถ้าให้สรรหามาหมดจากผู้มีอำนาจอย่าง คสช.ก็ไม่ควรมีอำนาจเยอะ จึงเชื่อว่าไม่ตอบโจทย์ป้องกันการบล็อกโหวตหรือการซื้อเสียงได้ หรือการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ ดังนั้น การแก้ไขปัญหานี้ต้องมาจากปริมาณ การเลือกของคนลงคะแนนเสียง เช่น เลือกระดับจังหวัดการซื้อเสียงยากขึ้น

ขณะที่ เสรี สุวรรณภานนท์ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ให้ความเห็นว่า ส่วนตัวเชื่อว่า กกต.ยังห่วงว่ามีปัญหาในเรื่องนี้ โดยเฉพาะการเพิ่มข้อความ “จะกำหนดมิให้ผู้สมัครในแต่ละกลุ่มเลือกบุคคลในกลุ่มเดียวกัน หรือจะกำหนดให้มีการคัดกรองผู้สมัครรับเลือกด้วยวิธีการอื่นใดที่ผู้สมัครรับเลือกมีส่วนร่วมในการคัดกรองก็ได้”

ทั้งนี้ ข้อความดังกล่าวทำให้ไม่เข้าใจว่าวิธีการผู้สมัครวิธีการอื่นคืออะไรผู้สมัครรับเลือกคัดกรองเองนั้น ไม่จำเป็นต้องเลือกไขว้ ทำให้ กมธ.ยังไม่เข้าใจเจตนารมณ์ของ กรธ. ว่าการบัญญัติเรื่องดังกล่าว โดยมีมาตรการได้มาของ สว.ในลักษณะใดกันแน่

เสรี ยังฉายภาพต่อว่า สิ่งที่วิตกกับการเลือกไขว้ คือ ไม่รู้จักข้อมูลคนที่เลือกกันเองมาก่อน จะทำให้ยากต่อการตัดสินใจ และมีโอกาสแปรเปลี่ยนด้วยกลไกให้ผลประโยชน์เพื่อให้ได้ซึ่งคะแนนมากขึ้น ส่วนวิธีการบล็อกโหวตนั้น ต้องไปกำหนดมาตรการที่ป้องกันความผิดให้ชัดเจนเป็นข้อๆ พร้อมไปกำหนดอัตราโทษในทางอาญาให้สูงขึ้น และให้เพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งคนทำผิดด้วย ซึ่งจะสามารถช่วยได้ในเรื่องดังกล่าว 

ส่วนข้อกำหนดในเรื่องสาขาอาชีพ 20 กลุ่ม จะไปจำกัดสิทธิกลุ่มที่ไม่มีรายชื่อด้วยหรือไม่ มันจะเป็นปัญหาในเรื่องของความไม่เท่าเทียมของผู้สมัคร ก็จะเป็นหนึ่งปัญหาตามมา ดังนั้น ควรเปิดอีกกลุ่ม คือ สาขาอาชีพอื่นๆ นอก 20 กลุ่ม เพื่อให้ผู้สมัครที่ไม่มีชื่ออยู่ในกลุ่มที่กำหนดสามารถเข้ากลุ่มอื่นๆ ได้

“ผมเป็นห่วงว่าหาก กรธ. และ กกต.เดินตามรูปแบบนี้ จะเหมือนหนีเสือปะจระเข้ ป้องกันอย่างหนึ่ง แต่ไปเกิดปัญหาอีกอย่างหนึ่ง ดังนั้น อยากให้ กรธ.และ กกต.พิจารณาให้รอบคอบ ป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาตามมาในอนาคตได้”

ด้าน ประสาร มฤคพิทักษ์ อดีต สว. สรรหา กลุ่ม 40 สว. กล่าวว่า ส่วนตัวเห็นด้วย 1.เรื่องที่มาของ สว.ต้องต่างจาก สส. เนื่องจากการเลือกตั้ง สว.และ สส.เป็นฐานเสียงเดียวกัน ภาคเหนือ-อีสานเป็นฐานเสียงของหนึ่งพรรคใหญ่ ภาคใต้ก็เป็นฐานเสียงของหนึ่งพรรคใหญ่ และภาคกลางเป็นพรรคขนาดกลาง เพราะฉะนั้น สว.ควรมีที่มาแตกต่างกับ สส.

2.กลุ่มประสบการณ์หรือกลุ่มอาชีพ 20 กลุ่ม ก็เป็นวิธีการอย่างหนึ่งซึ่งเป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย ยังไม่เคยทำ มาก่อน และคิดว่าน่าทดลองใช้ เพราะว่าการได้มาซึ่ง สว.โดยมีฐานเสียงแตกต่างจาก สส. และ 3.เดิมวิธีเลือกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ใช้เลือกกันเองตามกลุ่มบล็อกโหวตกันได้ คือ มีการซักซ้อมเพื่อให้ได้มาซึ่งตำแหน่ง

“การดีไซน์ใหม่ในการเลือกไขว้ตั้งแต่แรกเริ่มก็เป็นวิธีการซึ่งทำให้การบล็อกโหวตทำได้ยาก สมมติ ผมอยู่กลุ่มอาชีพอิสระ ผมไม่มีสิทธิเลือกตัวเอง ต้องไปเลือกกลุ่มอื่นอีก 19 กลุ่ม การเราเลือกอีก 19 กลุ่ม ยากมากในการไปบล็อกให้มาเลือกตัวเอง ผมเห็นว่าเลือกไขว้ป้องกันการบล็อกโหวตได้ดีพอสมควร น่าเป็นธรรม เพื่อให้ได้ สว.ซึ่งเป็นที่ยอมรับจริงๆ”

ทั้งนี้ ยอมรับว่าผู้ที่จะได้เปรียบกับเรื่องดังกล่าว คือ บุคคลที่มีชื่อเสียงถ้าโนเนมอาจจะยาก เช่น การเลือกไขว้กลุ่ม จะเลือกเพื่อนกลุ่มอื่นก็ต้องเลือกคนมีผลงานเป็นคนอยู่ในใจผู้คนทั่วไป ดังนั้น คนมีชื่อเสียงจะมีโอกาสมากกว่าซึ่งไม่ผิดเป็นวิธีถูกต้องชอบธรรม ดังนั้น เห็นด้วยกับเรื่องนี้ในการให้ สว.มีที่มาแตกต่างจาก สส. ไม่เช่นนั้น สว.ก็ต้องตกอยู่ภายใต้การครอบงำของพรรค การเมือง