posttoday

การลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน กับการพัฒนาเทคโนโลยีภายในประเทศ

26 กุมภาพันธ์ 2560

ผู้เขียนได้มีโอกาสกล่าวย้ำในหลายเวทีว่า ณ วันนี้ สิ่งที่ประเทศไทยต้องการมากที่สุด คือ การปฏิรูปการบริหารจัดการ

โดย...ผศ.ดร.ประมวล สุธีจารุวัฒน ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ผู้เขียนได้มีโอกาสกล่าวย้ำในหลายเวทีว่า ณ วันนี้ สิ่งที่ประเทศไทยต้องการมากที่สุด คือ การปฏิรูปการบริหารจัดการโครงการระบบรางใหม่ทั้งหมด การขาดแผนบูรณาการระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ไล่เรียงไปตั้งแต่การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม การปรับและพัฒนาผังเมืองซึ่งจะมองการใช้ระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนเป็นเครื่องมืออำนวยความสะดวกให้กับวิถีชีวิตของคน (รถไฟฟ้าไม่ใช่พระเอกของเรื่องนะครับ)

ไล่ไปจนใช้โอกาสจากความต้องการใช้ระบบขนส่งไปพัฒนาขีดความสามารถในภาคอุตสาหกรรมของประเทศ ซึ่งหมายรวมทั้งการพัฒนาเทคโนโลยีและพัฒนาบุคลากรด้านวิศวกรรม การขาดแผนบูรณาการเป็นส่วนหนึ่งของการไม่สามารถลดความเหลื่อมล้ำระหว่างคนมีกับคนไม่มี

คนที่พอจะมีเงินมากกว่าต่างก็อยากซื้อรถยนต์เป็นของตัวเอง ไม่อยากใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะ ซึ่งมีคุณภาพย่ำแย่ ปริมาณไม่เพียงพอ (อย่างที่ใครบางคนบอกว่า รถส่วนตัวมาก รถสาธารณะห่วย) การปฏิรูปที่จะต้องเอื้อให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีภายในประเทศ ซึ่งเรื่องนี้จะเป็นประเด็นสำคัญที่เราจะคุยกันในตอนนี้ครับ

เมื่อกล่าวถึงการส่งเสริมภาคการผลิตเพื่อรองรับการปฏิรูประบบคมนาคมขนส่งของประเทศ ผู้เขียนไม่ต้องการให้พิจารณาแต่เพียงเรื่องระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแต่เพียงเท่านั้น หากแต่ต้องครอบคลุมไปถึงการผลิตรถโดยสาร (จะทำกันเป็น EV, NGV ก็ไปว่ากันอีกทีนะครับ) รถเมล์ขนาดเล็ก รถตู้ หรือรถแบบอื่นๆ ที่ตอบโจทย์ความต้องการของสังคมได้

แต่ที่ผ่านมาผู้เขียนก็มักเน้นอธิบายเรื่องรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนเป็นหลักก็ด้วยเหตุผลเพียงประการเดียว คือ เนื่องจากมีการวางแผนแนวเส้นทางระบบรถไฟฟ้าในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล หรือที่รู้จักกันว่า M-MAP มาตั้งแต่ช่วงกลางปี 2553 โดย สนข. แผนแนวเส้นทางที่ว่าสามารถนำมาใช้ประมาณการจำนวนตู้โดยสารรถไฟฟ้าที่ประเทศไทยจะต้องจัดหาเพื่อรองรับการใช้งาน

ควรทราบว่าเรามีความต้องการใช้รถไฟฟ้ามากนะครับ ปัจจุบันระบบ BTS มีรถไฟฟ้าใช้ 52 ขบวน (208 ตู้) MRT มี 19 ขบวน (57 ตู้) และสีม่วงมี 21 ขบวน (63 ตู้) ทั้งหมดผ่านกระบวนการจัดซื้อโดยการนำเข้าจากต่างประเทศ และอะไหล่เพื่อการซ่อมบำรุงเกือบทั้งหมดยังคงต้องนำเข้าจากต่างประเทศ

เมื่อช่วง 2 ปีที่ผ่านมาผู้เขียนเคยประมาณการคร่าวๆ ว่าเรามีความต้องการใช้รถไฟฟ้าที่ยังไม่ได้ซื้อ เฉพาะที่มีอยู่ในแผน M-MAP ของ สนข.ไม่ต่ำกว่า 588 ตู้ คิดเป็นมูลค่าการจัดซื้อราวๆ 5 หมื่นล้านบาท หากวางแผนกันดีๆ ปริมาณความต้องการใช้นี้สามารถนำมาสนับสนุน ภาคการผลิตภายในประเทศได้เป็นอย่างดี

อย่างไรก็ดี แนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตรถไฟฟ้าภายในประเทศก็ยังมีอีกหลายวิธี ไม่มีวิธีการใดดีที่สุด หรือเป็นสูตรสำเร็จที่ใช้ได้ดีกับทุกประเทศ เนื่องจากแต่ละประเทศมีระดับเทคโนโลยีต่างกัน มีอุตสาหกรรมพื้นฐานรองรับแตกต่างกัน

รอบปี 2559 ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้ร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เชิญผู้แทนจากต่างประเทศจำนวน 4 ประเทศ คือ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน และมาเลเซีย มาบรรยายที่จุฬาฯ และ สนข. ถึงแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตรถไฟฟ้า ของแต่ละประเทศ

สิ่งที่เราค้นพบแบบสรุปเพื่อความเข้าใจแบบสั้นๆ คือ (ก) นอกเหนือไปจากการแปรรูปกิจการรถไฟแห่งชาติ (JNR) ของญี่ปุ่น ซึ่งประสบปัญหาความล้มเหลว ขาดทุน เป็นหนี้สินมหาศาลไม่ต่างจากไทย จนกลายเป็นบริษัท JR อย่างในปัจจุบันแล้ว ญี่ปุ่นสามารถพัฒนาอุตสาหกรรมรถไฟฟ้าได้ด้วยความมุ่งมั่นของทุกหน่วยงาน (ทั้งเอกชนรายใหญ่ บริษัท JR และ SME อื่นๆ ต่างล้วนพยายามทำ R&D ผลิตนวัตกรรมของตัวเอง)

(ข) เกาหลีใต้อาศัยนโยบายส่งเสริมการถ่ายทอดเทคโนโลยีภายใต้การนำของรัฐบาล โดยใช้การจัดซื้อระบบรถไฟฟ้าความเร็วสูงเป็นเครื่องมือ รัฐบาลเปิดให้เจ้าของเทคโนโลยีจากหลายประเทศทำข้อเสนอแบบ “Open Bidding” และในที่สุดก็ตัดสินใจเลือกซื้อเทคโนโลยีจาก “Alstom” ฝรั่งเศส มีกระบวนการจับคู่บริษัทท้องถิ่นของเกาหลีใต้เพื่อรองรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากฝรั่งเศส เช่น ระบบตัวรถให้บริษัท Hyundai Rotem หรือระบบอาณัติสัญญาณใช้บริษัท LG เป็นผู้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากฝรั่งเศส

โครงการดังกล่าวเริ่มต้นในปี 1994 และเพียงปี 2002 เกาหลีใต้ก็สามารถพัฒนาเทคโนโลยีเป็นของตัวเองได้ จุดเด่นของเกาหลีใต้ที่ไทยอาจจะทำไม่ง่ายนัก คือ การมีอุตสาหกรรมพื้นฐานที่เข้มแข็งรองรับกระบวนการถ่ายทอดเทคโนโลยี

(ค) ไต้หวันเป็นเกาะขนาดเล็ก นอกเหนือไปจากระบบรถไฟฟ้าขนส่งภายในเมือง ก็มีรถไฟฟ้าความเร็วสูงเพียงสายเดียวที่ซื้อจากประเทศญี่ปุ่น ระยะทาง 345 กิโลเมตร เป็นชินคันเซ็น รุ่น 700T จำนวน 34 ขบวน (ขบวนละ 12 ตู้ แบ่งเป็นตู้ธรรมดา 11 ตู้ และตู้นักธุรกิจ 1 ตู้)

ทั้งหมดเมื่อแรกทำโครงการ ไต้หวันไม่ได้คิดจะพัฒนาเทคโนโลยีเป็นของตัวเอง วางแผนที่จะใช้ทั้งตัวรถและอะไหล่เพื่อการซ่อมบำรุงทั้งหมดจากญี่ปุ่น ซึ่งหลังจากดำเนินการไปได้ระยะหนึ่งก็พบว่าเป็นยุทธศาสตร์ที่ผิดพลาด ขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการส่งเสริมให้เกิดการผลิตชิ้นส่วนเพื่อการซ่อมบำรุงได้เองภายในประเทศ

(ง) มาเลเซียเป็นตัวอย่างของประเทศเพื่อนบ้านที่มียุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรมระบบขนส่งทางรางมาตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษ 1990 โดยท่านมหาเธร์ นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น

แผนดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของนโยบายการปฏิรูประบบเศรษฐกิจ (ETP, Economic Transformation Program) เพื่อทำให้มาเลเซียกลายเป็นประเทศพัฒนาแล้วภายในปี 2020 โดยมีการวางแผนสำคัญที่เป็นส่วนประกอบของวิสัยทัศน์นี้ คือ GTP (Government Transformation Program) ซึ่งน่าสนใจว่าแปรออกมาเป็นการปฏิรูปโครงสร้างการคมนาคมขนส่งทั้งประเทศ ผูกโยงไปกับแผนการพัฒนาอุตสาหกรรม มาเลเซีย เรียกโครงการนี้ว่า MIGHT (Malaysian Industry-Government Group for High Technology)

ในที่สุดโครงการนี้นำไปสู่การอาศัยปริมาณความต้องการใช้ระบบขนส่งในประเทศ ไปกำหนดนโยบายการจัดซื้อโดยภาครัฐ เพื่อเอื้อให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรม จนทำให้ขณะนี้มีโรงงานประกอบรถไฟฟ้า แล้ว 2 โรงงาน และกำลังเตรียมจะทำโรงงานผลิตรถไฟฟ้าความเร็วสูงในไม่ช้า

เมื่อโครงการระหว่างมาเลเซีย-สิงคโปร์เริ่มต้นขึ้น ปัจจุบันหน่วยงานที่บริหารกิจกรรมนี้ คือ “TDA” (Technology Depository Agency) ซึ่งสังกัดกระทรวงการคลัง! เรียกง่ายๆ ว่า กระทรวงคมนาคมจะซื้อรถไฟมาใช้เฉยๆ ไม่ได้ เพราะกระทรวงการคลังจะสั่งให้ต้องส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีภายในประเทศ ผ่านโปรแกรมที่เรียกว่า “ICP” (Industrial Collaboration Program)

ช่วงปี 2003 มาเลเซียเคยพยายามใช้กระทรวงวิทยาศาสตร์ (MOSTI) เป็นคนทำโครงการ MIGHT แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากติดปัญหาการบูรณาการข้ามกระทรวง นับตั้งแต่ปี 2011 เป็นต้นมา MIGHT จึงถูกบริหารโดยสำนักนายกรัฐมนตรี โดยใช้กระเป๋าสตางค์คือกระทรวงการคลังเป็นเครื่องมือในการบริหารโครงการ

หากประเทศไทยคิดจะพัฒนาอุตสาหกรรมสนับสนุนการใช้งานระบบรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนบ้าง จึงควรนำโดย ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี เพราะถ้าพูดถึงเรื่องนี้แล้วมอบหมายรัฐมนตรีวิทยาศาสตร์ (หรืออุตสาหกรรม)
ผู้เขียนคิดว่าเราคงวนเวียนเดินตามหลังมาเลเซียอีกหลายปีครับ