posttoday

แผนปฏิรูปการเมือง ต้องผ่านสายตาคสช.

28 พฤษภาคม 2559

คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ได้จัดทำรายงานเรื่อง “การเสริมสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย”

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ที่มี “เสรี สุวรรณภานนท์” เป็นประธาน ได้จัดทำรายงานเรื่อง “การเสริมสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย” โดยมีสาระสำคัญดังนี้

สภาพปัญหา

1.ปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติ และความเชื่อถือที่ผิดที่เป็นอุปสรรคต่อวัฒนธรรมทางการเมืองประชาธิปไตย ความเชื่อและทัศนคติที่นิยมการรวมศูนย์กลางของอำนาจเพื่อประโยชน์ของกลุ่ม ลักษณะของสังคมที่อ่อนน้อมยอมจำนนต่ออำนาจ มีผู้นำที่กระตุ้นให้ประชาชนมอบความรับผิดชอบทุกอย่างไว้ที่ผู้นำ เช่น “เชื่อผู้นำ ชาติพ้นภัย” และเมื่อรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งมีปัญหาทุจริต การปฏิวัติ คือ ทางแก้ปัญหา

ทัศนคติขาดจิตสำนึกสาธารณะ เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตัว จะปกป้องสิทธิเฉพาะในส่วนที่กระทบต่อสิทธิของตน ขาดจิตสำนึกเรื่องสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบ ทัศนคติ “ธุรกิจการเมือง” การเมือง คือ การลงทุนทางธุรกิจอย่างหนึ่ง ดังนั้น การถอนทุนเมื่อเข้ามามีอำนาจจึงเป็นเรื่องปกติ

2.ปัญหาด้านการศึกษา การศึกษาเพื่อสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ต้องเป็นเจตจำนงทางการเมืองจากทุกภาคส่วน ไม่ใช่เรื่องของกระทรวงศึกษาธิการอย่างเดียว เพราะสัดส่วนคนอยู่ในระบบการศึกษาน้อยกว่าเมื่อเทียบกับประชากรทั้งประเทศ การให้การศึกษาเพื่อสร้างวัฒนธรรมทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย จึงต้องสร้างความเห็นพ้องจากการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน นอกจากนี้ การให้การศึกษาเพื่อสร้างวัฒนธรรมดังกล่าวต้องเป็นเรื่องของสื่อด้วย

3.ปัญหาที่เกิดขึ้นในระบบการเมือง ณ ปัจจุบัน พรรคการเมืองของไทยมีบทบาทในวงแคบ คือ มีผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่เป็นนักการเมือง ประชาชนโดยทั่วไปร่วมกับพรรคการเมืองไม่มากนัก การใช้เงินเป็นใหญ่ การผูกขาดอำนาจทางการเมืองโดยคนจำนวนน้อย คนจนและเกษตรกรไม่มีอำนาจต่อรองในระบบเศรษฐกิจ และเข้าไม่ถึงทรัพยากร

คนเหล่านี้จึงต้องพึ่งพิงผู้มีทรัพยากรในหัวเมือง ภายใต้ระบบอุปถัมภ์แบบไทยเดิม และทำให้คนเหล่านี้เป็น “ผู้มีอิทธิพล” และสามารถได้รับความไว้วางใจเลือกให้เข้ามาทำหน้าที่แทนในฐานะผู้แทนราษฎรและก้าวไปสู่อำนาจรัฐที่มากกว่านั้นในฐานะรัฐมนตรี

วิธีการปฏิรูป

แผนหลักที่ 1 การให้การศึกษาเพื่อให้เกิดวัฒนธรรมทางการเมืองที่ยั่งยืน การปฏิรูปการศึกษาในมิติการศึกษาเพื่อสร้างประชาชนวัฒนธรรมประชาธิปไตย จำเป็นต้องดำเนินการให้ครอบคลุมสมาชิกทุกวัยของประเทศ เพื่อให้สมาชิกในชุมชน ในสังคม ที่มีความคิดความเชื่อที่แตกต่างกันสามารถอยู่ร่วมกันได้บนพื้นฐานของการรับฟังความคิดเห็นของกันและกัน

การศึกษาในลักษณะนี้จะไม่เน้นการเรียนวิชาพลเมืองแบบดั้งเดิม ไม่ใช่การสอนด้วยการบรรยาย แต่จะสอนในรูปแบบกิจกรรมและการลงมือปฏิบัติ เป็นการเรียนการสอนผ่านกระบวนการวิเคราะห์และฝึกปฏิบัติ โดยแหล่งการเรียนรู้วัฒนธรรมทางการเมืองมาจากครอบครัว โรงเรียน วัด ที่ทำงานและสื่อมวลชน ซึ่งต้องทำเป็นบันทึกความเข้าใจร่วมกันของสถาบันการศึกษาและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

แผนหลักที่ 2 การสร้างนักการเมืองที่ดีและการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน ต้องให้ความรู้ให้การศึกษาแก่เยาวชน เพื่อให้เยาวชนได้เรียนรู้ถึงความเสียสละและการทำประโยชน์แก่ส่วนรวม โดยเริ่มต้นตั้งแต่สถานศึกษาและการเรียนรู้ในการอยู่ร่วมกันในครอบครัวและในสังคมตามวิถีประชาธิปไตย ปลูกจิตสำนึกความรับผิดชอบของเยาวชนและประชาชนที่มีความตั้งใจจะไปทำหน้าที่เป็นนักการเมืองที่ดี และการสร้างกิจกรรมทางการเมืองให้ประชาชนได้สัมผัสและเห็นถึงผลประโยชน์ส่วนรวมที่เกิดจากความเสียสละและมีน้ำใจในการอยู่ร่วมกัน

แผนหลักที่ 3 การบริหารขับเคลื่อนเพื่อให้เกิดวัฒนธรรมทางการเมืองที่ยั่งยืน รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินงานให้เป็นงบประมาณของรัฐสภา ให้ สปท.จัดทำแนวทางการปฏิรูปสภาพัฒนาการเมือง เพื่อรองรับการดำเนินการเกี่ยวกับการส่งเสริมวัฒนธรรมทางการเมือง และร่วมมือกับสภาพัฒนาการเมืองในการขับเคลื่อนการปฏิรูปวัฒนธรรมทางการเมือง

กระทรวงกลาโหม ร่วมกับ สภาพัฒนาการเมือง จัดตั้งศูนย์บริหารการขับเคลื่อนและจัดตั้งศูนย์ประสานการปฏิบัติงานในพื้นที่รับผิดชอบของมณฑลทหารบก สนับสนุนการดำเนินงานตามที่ สปช. และสภาพัฒนาการเมืองร้องขอ และให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันจัดทำแผนโครงการรองรับการดำเนินงาน และส่งแผนงานที่สมบูรณ์ให้กับคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) คณะรัฐมนตรี (ครม.) สปช. เพื่อของบประมาณต่อรัฐสภาในการดำเนินงานต่อไป ในกรณีที่ สปท.สิ้นวาระลงให้สภาพัฒนาการเมืองเป็นหน่วยงานรองรับภารกิจของ สปท.ต่อไป