posttoday

ภาพของลูกบนสังคมออนไลน์

14 พฤษภาคม 2559

เมื่อเร็วๆ นี้มีข่าวเกี่ยวกับการกำกับดูแลการใช้งานสังคมออนไลน์ของผู้คนที่น่าสนใจชิ้นหนึ่ง

โดย...ณศักต์ อัจจิมาธร

เมื่อเร็วๆ นี้มีข่าวเกี่ยวกับการกำกับดูแลการใช้งานสังคมออนไลน์ของผู้คนที่น่าสนใจชิ้นหนึ่ง นั่นคือการที่สำนักงานตำรวจของฝรั่งเศสได้ออกมาเตือนบรรดาพ่อแม่ที่ชอบโพสต์ภาพลูกลงบนเครือข่ายสังคมออนไลน์ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ หรืออินสตาแกรมว่า การกระทำดังกล่าวอาจถูกลูกๆ ฟ้องร้องได้ในอนาคตฐานละเมิดสิทธิส่วนบุคคลโดยไม่ได้รับอนุญาต

ตามกฎหมายของฝรั่งเศสนั้นการเผยแพร่ภาพบุคคลอื่นโดยที่ไม่ได้รับอนุญาต ซึ่งรวมถึงลูกของตัวเองด้วยนั้นมีโทษจำคุก 1 ปี และปรับ 3.5 หมื่นปอนด์ หรือราว 1.7 ล้านบาท รวมทั้งอาจโดนเรียกค่าเสียหายเพิ่มเติมจากฝ่ายผู้ฟ้องร้อง

ตำรวจฝรั่งเศสยังได้เตือนบรรดาพ่อแม่ที่ชอบโพสต์ภาพลูกบนสังคมออนไลน์ด้วยว่า การโพสต์รูปลูกๆ โดยที่เขาไม่ได้รู้เรื่องด้วยนั้นอาจสร้างความไม่ปลอดภัยให้กับลูก และพ่อแม่ควรปกป้องรูปส่วนตัวของลูกแทนที่จะนำมาเผยแพร่ให้คนอื่นในโลกสามารถเข้าถึงได้โดยง่าย

ขณะที่ผลสำรวจของบริษัท Nominet ผู้ให้บริการด้านอินเทอร์เน็ตในสหราชอาณาจักรระบุว่า ผู้ปกครองในสหราชอาณาจักรได้โพสต์ภาพลูกๆ ที่อายุต่ำกว่า 5 ขวบปีละประมาณ 200 ภาพ โดยผู้ปกครอง 17% ไม่เคยเข้าไปปรับตั้งค่าความปลอดภัยในแอคเคาท์สังคมออนไลน์ทำให้เพิ่มความเสี่ยงที่ผู้อื่นจะเข้าถึงรูปภาพของลูกๆ ได้โดยง่าย

นอกจากนี้ ผลสำรวจยังพบอีกว่า 51% ของผู้ปกครองที่โพสต์ภาพลูกๆ ยังแนบข้อมูลส่วนตัวที่เปิดเผยถึงที่อยู่ของพวกเขาไปพร้อมกับโพสต์ ซึ่งทำให้ผู้อื่นรู้ที่อยู่ของเขาและลูกๆ ได้โดยง่ายและเสี่ยงที่จะตกเป็นเหยื่อของผู้ที่จ้องจะก่อเหตุร้าย

ก่อนหน้านี้ หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์ ได้เผยแพร่ผลศึกษาของทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยวอชิงตัน และมหาวิทยาลัยมิชิแกนในสหรัฐ เกี่ยวกับความคิดเห็นของเด็กอายุระหว่าง 10 ขวบถึง 17 ปี เกี่ยวกับการใช้งานสังคมออนไลน์ โดยผลสำรวจพบว่าเด็กๆ “ไม่แฮปปี้” กับการที่ผู้ปกครองนำรูปภาพและเรื่องราวของพวกเขาไปโพสต์โดยไม่ได้รับอนุญาต

นักวิจัยชี้ว่า ผลสำรวจดังกล่าวสะท้อนว่า เด็กยุคใหม่ที่เติบโตมาพร้อมสังคมออนไลน์นั้น ต้องการที่จะควบคุมภาพลักษณ์ในสังคมออนไลน์ด้วยตัวเอง 

ขณะที่เฟซบุ๊ก เครือข่ายสังคมออนไลน์เบอร์หนึ่งของโลกก็ตระหนักถึงเรื่องนี้และกำลังพิจารณาเพิ่มข้อความเตือนผู้ปกครองที่จะโพสต์ภาพลูกลงบนหน้าเฟซบุ๊กในทำนองว่า ภาพดังกล่าวเป็นภาพที่ควรเก็บไว้เป็นส่วนตัว คุณแน่ใจที่จะโพสต์ภาพดังกล่าวแล้วหรือ

หันกลับมาดูบ้านเรา ซึ่งเป็นประเทศที่มีผู้ใช้เฟซบุ๊กมากเป็นอันดับต้นๆ ของภูมิภาคอาเซียนด้วยจำนวนผู้ใช้กว่า 35 ล้านคน ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่ายังมีผู้ใช้จำนวนมากที่ชื่นชอบการโพสต์ภาพบุตรหลานลงเฟซบุ๊ก หลายคนมักคิดว่าเมื่อเป็นหน้าเฟซบุ๊กส่วนตัว การโพสต์ภาพบุตรหลานให้เพื่อนๆ มาร่วมชื่นชมความน่ารักก็ไม่เห็นจะเป็นเรื่องแปลก

ทว่าจริงๆ แล้ว ภาพเหล่านั้นสามารถที่จะถูกแชร์ออกไปได้อย่างกว้างขวาง และอาจไปถึงมือของคนที่ประสงค์จะก่อเหตุร้ายก็เป็นได้ รวมทั้งเมื่อภาพเหล่านั้นถูกแชร์ถูกก๊อบปี้ไปแล้ว แม้จะลบรูปต้นฉบับ แต่รูปเหล่านั้นจะยังคงอยู่บนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตไปอีกนานแสนนาน และสามารถค้นหาเจอได้ไม่ยากนัก

ที่สำคัญคือ เราแน่ใจแล้วหรือว่า วันหนึ่งเมื่อเด็กๆ โตมา เขาจะมีความสุขกับการที่ได้เห็นภาพส่วนตัวจำนวนมากกระจายอยู่บนโลกอินเทอร์เน็ต

ก่อนคลิกปุ่ม “POST” อย่าลืมไตร่ตรองให้รอบคอบก่อนนะครับ