posttoday

ชีวิตนอกตำรา‘ไชยันต์ ไชยพร’

16 กุมภาพันธ์ 2556

บ้างก็ว่าเขาคือ“โสเครติสคนสุดท้าย”บ้างก็ว่าเขาคือปฐมบท“อารยะขัดขืน”ป๊อปปูลาร์ชั่วข้ามคืนจากบทบาทฉีกบัตรเลือกตั้ง

บ้างก็ว่าเขาคือ“โสเครติสคนสุดท้าย”บ้างก็ว่าเขาคือปฐมบท“อารยะขัดขืน”ป๊อปปูลาร์ชั่วข้ามคืนจากบทบาทฉีกบัตรเลือกตั้ง 
โดย...เบญจมาศ เลิศไพบูลย์

บ้างก็ว่าเขาคือ“โสเครติสคนสุดท้าย”บ้างก็ว่าเขาคือปฐมบท“อารยะขัดขืน”ป๊อปปูลาร์ชั่วข้ามคืนจากบทบาทฉีกบัตรเลือกตั้ง แต่น้อยคนนักที่จะรู้จัก“รศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร”นักวิชาการรัฐศาสตร์ ภาควิชาการปกครอง รั้วจามจุรี ในมุมพ่อของลูก และลูกของพ่อ

นักวิชาการผมยาวที่วันนี้ถูกร้านทำผมสหกรณ์มหาวิทยาลัยหั่นผมสั้นบอกหน้าปูเลี่ยน“ดูสิ ตัดซะผมหน้าเหมือนเหี่ยวฟ้า”เขาขาดความมั่นใจเล็กน้อยกับทรงผมไม่ถูกใจโก๋ ประโยคโพล่งๆ เรียกเสียงหัวเราะให้พวกเราได้เล็กน้อยอาจารย์ไชยันต์ ทอดอารมณ์สบายหน้าหนังสือกองโตในห้องพักคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โปรดอย่าถามว่ามันโพสต์โมเดิร์นแค่ไหน เพราะวันนี้เราไม่ได้ต้องการมาขุดประวัติศาสตร์กรีกโรมัน หรือหนังสือที่เขาชอบอ่าน ของอย่างนั้นหาข้อมูลในวิกิพีเดียก็ได้ ชิมิ เราแซวว่าอาจารย์ไม่เคยพูดเรื่องส่วนตัวสักครั้ง คำตอบคือ พยักหน้าหงึกหงัก 2-3 ที

“ผมเป็นคนแปดริ้ว ที่บ้านขายของชำ ขายถ้วยชาม อุปกรณ์การเกษตร ขายทุกอย่าง ตอนเด็กๆ ปิดเทอมผมต้องกลับบ้าน ขี่สามล้อส่งน้ำ”รศ.ไชยันต์ ย้อนกลับไปสู่วัย ด.ช.ไชยันต์ อีกครั้ง

“เวลาผมอยู่หน้าร้านขายของ ผมต้องดูแลลูกค้าอีกแบบ ต้องWelcomeต้อนรับลูกค้า คุณรู้หรือเปล่าการขายของนี่โคตรประชาธิปไตย คุณต้องพยายามรับใช้คน จริงทุกวันนี้ผมอยากสอนให้ลูกผมได้สัมผัสอะไรแบบนั้น แต่เป็นเรื่องยาก ลูกเรามันไต่ระดับทางสังคมกันหมดแล้ว”

อาจารย์ไชยันต์ มีลูก 2 คน คนโตเป็นหญิง คนเล็กเป็นชาย และภรรยาที่รักอีกหนึ่ง ซึ่งอยู่ระหว่างศึกษาปริญญาเอก เจ้าตัวแซวเองว่า ถ้าภรรยาเรียนไม่จบคงต้องหาเงิน 7 แสนบาทมาจ่ายหนี้ เพราะค้ำประกันให้ภรรยา ฉะนั้นภรรยาอย่าหนีไปไหนนะ

เมื่อคนเป็นพ่อก็เป็นนักวิชาการ คู่ชีวิตก็เอาแต่ศึกษาเล่าเรียน จึงทำให้ลูกทั้ง 2 คน ซึมซับสิ่งที่อยู่รอบข้างมาจากพ่อและแม่ ลูกสาวคนโต น.ส.พิมพ์พร ไชยพร อายุ 29 ปี อยู่ระหว่างศึกษาปริญญาเอก สาขาวิชาสถาปัตยกรรมไทย คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ส่วนลูกชายคนเล็ก นายชยันต์ ไชยพร อายุ 18 ปี เรียนเอกศิลป์ภาษาฝรั่งเศส โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา

แทบไม่น่าเชื่อว่าเมื่อพูดถึงเรื่องลูกทั้ง 2 คน อาจารย์ไชยันต์ เล่าเรื่องราวชีวิตลูกไม่หยุด แววตาของคนเป็นพ่อบอกความสุขพื้นฐาน“เขาว่าลูกชายผมหล่อ”อีกประโยคหนึ่งที่อาจารย์ฟุ้ง เรื่องจริงลูกชายอาจารย์ได้เป็นเชียร์ลีดเดอร์ มีกิจกรรมแข่งเต้นละติน

“ทุกวันนี้ผมยังไปส่งลูกคนเล็กที่โรงเรียน แต่ช่วงนี้มันเสียเวลากับเรื่องแฟนเยอะมาก จริงเขาเรียนจบสาธิตจุฬาฯ ม.3 แล้วอยากสอบแข่งเตรียมอุดม ผมบอกเอาเล่นๆ นะ พอได้จริงก็ดันอยากย้าย ทั้งที่ผมไม่อยากให้เขาไปเริ่มต้นที่ใหม่ อย่างผมเรียนที่ไหนก็เรียนยาวมาตลอด ผมเรียนอัสสัมชัญ บางรัก ก็เรียนอยู่ที่เดียว แม่เขาก็เป็นเด็กเซนต์โยเซฟ เรียนอยู่ที่เดียว ผมอยากให้เขาอยู่ในบรรยากาศเดิมๆ เพื่อนฝูงเดิมๆ เพราะเราไม่ต้องการเห็นภาพลูกเป็นคนเรียนเก่ง เรียนดี มันต้องมาแข่งขัน แต่เราอยากให้เขาสบายๆ มีความสุข”

คงเหมือนกับบุคลิกอาจารย์ไชยันต์ ในบรรดาพี่น้อง 4 คน พี่คนแรกกับคนรองเรียนจบมาเป็นหมอ พี่คนที่ 3 จบคอมพิวเตอร์ ทุกคนเรียนจบเตรียมอุดมศึกษา มีเพียงตัวเขาซึ่งเป็นลูกคนเล็กเรียนจบอัสสัมชัญ และเป็นอาจารย์ในเวลาต่อมา

“พี่ๆ ผมเรียนเก่ง เป็นหมอกันหมด ตามความคาดหวังของพ่อ เพราะพ่อผม (ศ.นพ.วิจิตร ไชยพร) เป็นหมอ และเป็นอาจารย์หมอด้วยอยู่ที่ศิริราช แต่เป็นหมอปรสิต พ่อบอกมันง่ายสุด ตรวจอุจจาระ ไม่ต้องตรวจคนไข้ แน่นอนพ่อไม่เข้าใจผมอยู่แล้ว เพราะผมเดินตามสายของผม ทำอะไรสบายๆ ผมถึงบอกเราเป็นไงแม่ปูเลี้ยงลูกปู”

แม้จะเห็นบรรยากาศพ่อสอนนักเรียนแพทย์ แต่ไชยันต์ไม่เคยตั้งเป้าหมายว่าตัวเองต้องเป็นอาจารย์ กลับอยากเป็นปลัดอำเภอเสียมากกว่า

“ตอนเรียนออกค่ายอาสาพัฒนาชนบท เห็นความลำบาก เลยคิดทำไมปลัดอำเภอมันใหญ่โตมโหฬาร การมีพ่อเป็นอาจารย์แพทย์นี่สูงส่งมาก แต่เราคิดเป็นปลัดอำเภอ ตอนนั้นคิดจบปริญญาตรีแล้วอยากง่ายๆ ออกต่างจังหวัด ใช้ชีวิตในต่างจังหวัด แต่ปี 2 ดันเรียนได้เกรดออกมาดี อาจารย์ที่สอนเลยแนะนำให้ไปสายงานวิชาการ เลยตั้งหน้าตั้งตาเรียนจนจบปริญญาเอก”

อาจารย์ไชยันต์ บอกว่า ทุกวันนี้สิ่งที่สอนลูกจึงมีแค่เรื่องเดียว คือสอนให้เคารพกฎจราจร อีกอย่างที่บอกคือ พยายามทำอะไรให้เป็นคนตรงไปตรงมา อย่าหนีปัญหา

“สิ่งที่ลูกได้จากผมคงเป็นสิ่งที่ผมทำให้เขาเห็นมากกว่า อย่างลูกสาวคนโตจะอึดอัดกับการจราจรมาก ไม่ชอบคนไม่เคารพกฎ ส่วนลูกคนเล็กก็รู้สึกแบบนั้น สิ่งที่สอนมันไม่ใช่การพูดของเราหรอก แต่เป็นการกระทำและการแสดงออกของคนเป็นพ่อแม่ โดยที่พวกเขาซึมซับไม่รู้ตัว”

ส่วนวันพักผ่อนของครอบครัวไชยพร คือ การอยู่บ้าน ทานข้าว หรือวันหยุดอาจพาครอบครัวไปทานข้าวนอกบ้าน แค่นี้ก็ถือเป็นวันพักผ่อน

“ภรรยาผมทำปริญญาเอก ก็เป็นนักวิชาการ และมีงานสอนบ้าง เขาก็นั่งอ่านหนังสืออย่างเดียว เขียนหนังสืออยู่บ้านทั้งวัน ครอบครัววิชาการก็เป็นแบบนี้ น่าห่วงเหมือนกัน พักผ่อนคืออ่านหนังสือ คนใช้บ้านผมก็คงเป็นห่วงว่าคนบ้านนี้พักผ่อนคืออะไร”เจ้าตัวสร้างเสียงหัวเราะให้เราอีกครั้ง

ทุกวันนี้สิ่งที่คนเป็นพ่อห่วงลูกมากที่สุด สำหรับลูกสาวคนโตห่วงเรื่องจิตใจ แต่ดีที่ลูกสาวเล่นดนตรี เป่าทรัมเป็ต เป็นนักปั่นจักรยานตัวยง ส่วนลูกชายคนเล็กห่วงเรื่องสุขภาพ เพราะลูกชายคนเล็กเป็นคนนอนกรน ซึ่งเหมือนกับตัวเองที่นอนกรนแล้วบางช่วงยังหยุดหายใจยาว ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจเวลานอน

ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา จึงเป็นปีที่อาจารย์หันมาออกกำลังกาย ทั้งเดินและวิ่ง มียกน้ำหนักบ้างเล็กน้อย ส่วนโรคภูมิแพ้นี่เป็นโรคประจำตัว ไม่หายขาด

สำหรับเป้าหมายในชีวิต อาจารย์ไชยันต์รีบบอก

“ก็ต้องทำงานวิจัย เขียนหนังสือให้ได้เป็นศาสตราจารย์สิ นี่ก็อายุ 54 ปีแล้วนะ ถ้าโชคดีได้เป็นศาสตราจารย์ก็คงสอนที่นี่ได้ถึง 65 ปี ถ้าเขายังให้สอน แปลกเหรอถ้าผมจะสอนที่นี่ แต่ถ้ามีคนอื่นเข้ามาจบปรัชญาการเมืองแล้วไม่มีตำแหน่ง ผมก็สมควรออก”

อาจารย์บอก ตอนนี้ลูกศิษย์เป็นหมื่นคนแล้ว แต่ถึงให้มีลูกศิษย์ลูกหาเยอะขนาดนี้ ก็ไม่มีแฟนคลับ นอกจากช่วงหลังฉีกบัตรเลือกตั้งที่ครึกโครม มีคนยกมือทักทายบ้าง แต่บางคนก็เกลียด เพราะไม่ชอบจุดยืนทางการเมือง และเชื่อหรือไม่ว่า อาจารย์ไชยันต์ไม่นิยมเทคโนโลยี ไม่เล่นโซเชียลมีเดีย ไม่มีเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์เหมือนใครเขา

“ผมไม่ชอบเรียนรู้อะไรแบบนี้ วิธีการสื่อสารใหม่ๆ ไอพอดที่ได้มาจากลูกยังไม่รู้ทำยังไงต่อ เออ.. แต่ก็มีบ้างที่เปิดกูเกิล เข้าเว็บไซต์ เห็นคนที่บอกชอบงานเขียนของเรา

ถามไปว่า ความสุขของอาจารย์คืออะไร“ของผมคือสอนหนังสือ เขียนหนังสือ และอ่านหนังสือ ผมไม่รู้จะอธิบายยังไง คงเหมือนกับความสุขของคนกินเหล้า แค่คิดถึงเหล้า ดมเหล้า อ่านฉลากเหล้าก็มีความสุข แต่ผมมีความสุขที่ได้ดมความรู้ ชิมความรู้”

ทุกวันนี้เจ้าตัวจึงไม่ย่นระย่อต่อการเขียน ทั้งในหนังสือพิมพ์รายวัน 3 ฉบับ แมกกาซีน 3 ฉบับ ยังไม่รวมงานจร งานกฐินที่ให้ช่วยกันเขียนช่วยกันทำ และงานรวมเล่มตีพิมพ์เป็นหนังสือ ในขณะที่งานประจำต้องสอน 8 วิชาใน 1 ปีการศึกษา

ขนาดบอกอิทธิพลที่ได้จากพ่อ คือ“ความง่าย สบาย และความขี้เกียจ”แต่วันนี้อาจารย์ไชยันต์ยังมีพลังงานล้นเหลือ และสนุกกับการดมกลิ่นตัวหนังสือไม่หยุดหย่อน