posttoday

‘โออิชิ’ปรับทิศธุรกิจ รับ5เทรนด์ร้านอาหาร

09 กุมภาพันธ์ 2559

จากนี้ไปอีก 5 ปีข้างหน้า จะเกิด 5 เทรนด์ หรือแนวโน้มธุรกิจร้านอาหารใหม่

โดย...ทีมข่าวธุรกิจตลาดโพสต์ทูเดย์

จากนี้ไปอีก 5 ปีข้างหน้า จะเกิด 5 เทรนด์ หรือแนวโน้มธุรกิจร้านอาหารใหม่ ที่เป็นตัวกำหนดให้ผู้ดำเนินธุรกิจอาหารต้องปรับตัว อันเนื่องจากพฤติกรรมของผู้บริโภคเริ่มยกระดับการกินอาหารนอกบ้านมาสู่กลุ่มอาหารที่มีความเฉพาะเจาะจงเหมาะกับไลฟ์สไตล์ของแต่ละบุคคล และเพื่อตอกย้ำตำแหน่งผู้นำธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่น“โออิชิ กรุ๊ป” จึงต้องปรับเปลี่ยนทิศทางการทำธุรกิจครั้งใหญ่

ไพศาล อ่าวสถาพร รองกรรมการผู้จัดการ สายงานธุรกิจอาหาร บริษัท โออิชิ กรุ๊ป ผู้ดำเนินธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นโออิชิ เปิดเผยว่า บริษัทได้ปรับทิศทางการทำธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นโออิชิซึ่งมีด้วยกันทั้งหมด 6 แบรนด์ ประกอบด้วยโออิชิ แกรนด์ โออิชิ บุฟเฟ่ต์ ชาบูชิ นิกุยะ โออิชิ ราเมน และคาคาชิ เพื่อรองรับกับเทรนด์ธุรกิจร้านอาหารที่เกิดขึ้น เริ่มเทรนด์ที่ 1 กระแสร้านอาหารคลีนฟู้ดส์มาแรง หรืออาหารที่ไม่ต้องปรุงแต่งรสชาติ เกิดจากความต้องการกลุ่มผู้บริโภคเจเนอเรชั่นวายและซี หรือแซด ต้องการกินอาหารเพื่อสุขภาพ

ทั้งนี้ เดิมทีทัศนคติการเข้ามากินอาหารบุฟเฟ่ต์ ลูกค้าที่เข้าร้านส่วนใหญ่เน้นในเรื่องปริมาณการกินคือ ต้องกินให้เต็มที่ให้คุ้มค่า แต่จากเทรนด์ที่เกิดขึ้นเป็นปัจจัยสำคัญ ทำให้ธุรกิจร้านอาหารโออิชิ ซึ่งมีด้วยกัน 4 แบรนด์ที่ขายอาหารบุฟเฟ่ต์ ได้แก่ โออิชิ แกรนด์ โออิชิ บุฟเฟ่ต์ ชาบูชิ และนิกุยะ ต้องหันมาให้ความสำคัญการนำเสนอเมนูอาหารคลีนฟู้ดส์และกรีนฟู้ดส์ หรืออาหารออร์แกนิกมาเป็นเมนูอาหารภายในร้านมากขึ้น เพื่อให้สอดรับกับพฤติกรรมของผู้บริโภครุ่นใหม่

ท่ามกลางการแข่งขันรุนแรงของธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่น รวมถึงร้านอาหารประเภทต่างๆ พบว่าปีที่ผ่านมามีบริษัทจดทะเบียนทำธุรกิจร้านอาหารร่วม 1 หมื่นราย เป็นร้านอาหารไทย 84% อเมริกัน 3% ญี่ปุ่น 2% และร้านอาหารฝรั่งเศส 1% จึงทำให้เกิดเทรนด์ที่ 2 ธุรกิจร้านอาหารต้องสร้างเมนูที่เป็นซิกเนเจอร์ เพื่อสร้างความแตกต่างและดึงดูดให้ลูกค้าเข้ามาใช้บริการ จึงจำเป็นต้องสร้างเมนูร้านอาหารให้ทุกคนพูดถึง

“ขณะนี้ร้านอาหารนิกุยะ แจแปนนิส บาร์บีคิว บุฟเฟ่ต์ เริ่มสร้างเมนูอาหารที่เป็นซิกเนเจอร์ นำเสนอเนื้อชิ้นขนาดใหญ่มาบริการลูกค้าแล้ว ซึ่งเป็นการปรับเพื่อรองรับเทรนด์ดังกล่าว”

ในส่วนเทรนด์ที่ 3 ธุรกิจร้านอาหารต้องสร้าง ช่องทางออนไลน์ เพื่อรองรับกับพฤติกรรมของผู้บริโภค ขณะที่บริษัทจะลงทุนพัฒนาซอฟต์แวร์ระบบการสั่งซื้อสินค้าทางออนไลน์ จากเดิมเน้นการสั่งซื้ออาหารผ่านคอลเซ็นเตอร์

นอกจากนี้ บริษัทยังอยู่ระหว่างการพัฒนาแอพพลิเคชั่นที่คาดว่าจะเปิดตัวได้ในปีหน้า จากปัจจุบันช่องทางเดลิเวอรี่สร้างรายได้ให้กับบริษัทราว 20 ล้านบาท/เดือน พร้อมตั้งเป้าหมายหลังจากขยายช่องทางการสั่งซื้อทางออนไลน์จะสร้างสัดส่วนรายได้ราว 5-10%

“ในฐานะโออิชิเป็นผู้นำและอยู่ในตลาดมาร่วม 16 ปี การเกิด 3 เทรนด์ในธุรกิจร้านอาหาร ทำให้บริษัทปรับทิศทางการทำธุรกิจเพื่อตอกย้ำการเป็นผู้นำตลาด บริษัทจึงวางแผนปรับภาพลักษณ์ร้านอาหารทั้ง 6 แบรนด์ เพื่อแปลงร่างสู่โฉมใหม่ จากนี้ไปภายในร้านมีเมนูคลีนฟู้ดส์สร้างเมนูให้เป็นฃซิกเนเจอร์ จากปกติการนำเสนอเมนูอาหารร้านอาหารใหม่ของโออิชิทั้งกรุ๊ป ถูกปรับเปลี่ยนให้กับลูกค้าราว 20 เมนู/ไตรมาส“

สำหรับเทรนด์ธุรกิจร้านอาหารที่ 4 กับ 5 โออิชิ กรุ๊ป ไม่ได้ปรับแผนการตลาดรองรับ โดยเทรนด์ที่ 4 เซ็กเมนต์ของร้านอาหารญี่ปุ่นต้องเฉพาะเจาะจง เช่น ขายเมนูข้าวหน้าปลาไหลอย่างเดียว จากเดิมภายในร้านมีเมนูอาหารญี่ปุ่นรวมกันทุกประเภท และเทรนด์ที่ 5 ธุรกิจร้านอาหารบริการจานด่วนหรือฟาสต์ฟู้ดส์ต้องสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง ด้วยการพัฒนาเมนูให้เป็นสไตล์ของแต่ละแบรนด์

ไพศาล กล่าวว่า บริษัทยังเดินหน้าขยายพอร์ตโฟลิโอในธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นเพื่อเติมเต็มให้ครบทุกเซ็กเมนต์ โดยเฉพาะร้านอาหารญี่ปุ่นระดับซูเปอร์พรีเมียมราคา 2,000-3,000 บาท/คน/ครั้ง เนื่องจากตลาดมีอัตราเติบโตสูงสวนทางกับร้านอาหารระดับกลางเริ่มหดตัวลง เนื่องจากกลุ่มเป้าหมายระดับบีลงมาชะลอการกินอาหารนอกบ้าน เพราะได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว 

อย่างไรก็ดี ขณะนี้บริษัทกำลังอยู่ระหว่างเจรจาพันธมิตรทางญี่ปุ่น โดยจะเปิดตัวร้านอาหารซูเปอร์ พรีเมียมไตรมาส 3 หรือ 4 พร้อมกันนี้ได้ใช้งบลงทุน 600 ล้านบาท ขยายสาขาร้านอาหารใหม่ 30-40 สาขา/ปี เพราะเชื่อว่าธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นมีศักยภาพเติบโตได้อีกมาก โดยสามารถขยายสาขาได้ 400-500 สาขา จากปัจจุบันโออิชิมี233 สาขา

ธุรกิจร้านอาหารโออิชิ ขณะนี้กำลังอยู่ในช่วงปลายของราชาแห่งธุรกิจอาหารญี่ปุ่น (King Japanese of Food) การขับเคลื่อนในปีนี้ช่วยผลักดันให้แบรนด์โออิชิก้าวสู่การเป็นราชาแห่งธุรกิจร้านอาหาร (King of Food) พร้อมวางเป้าหมายการเติบโตของธุรกิจก้าวไปพร้อมกับวิชั่น 2020 ของไทยเบฟเวอเรจ ด้วยการสร้างรายได้เพิ่ม 5,000 ล้านบาท หรือมีรายได้รวมกว่า 1.3 หมื่นล้านบาท