posttoday

กรุยทางสร้างแบรนด์ สู่ยอดขาย100ล้าน

26 พฤศจิกายน 2558

โครงการพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม โดยหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

โดย...วราภรณ์ เทียนเงิน

โครงการพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม โดยหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย พร้อมกับพันธมิตรธุรกิจและสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM) ได้มีการบรรยายพิเศษ ชื่อเรื่อง “การสร้างแบรนด์เชิงสร้างสรรค์ เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์สู่ธุรกิจ 100 ล้าน” โดยมี “พีรวงศ์ จาตุรงคกุล” ผู้เชี่ยวชาญและวิทยากรด้านกลยุทธ์การตลาด การสร้างแบรนด์ การพัฒนาผลิตภัณฑ์และการออกแบบบรรจุภัณฑ์ และกรรมการผู้จัดการ บริษัท อัมพวากัมปะนี มาแนะนำเอสเอ็มอี

พีรวงศ์ เปิดเผยว่า ต้องการให้ภาคธุรกิจเอสเอ็มอีไทยทุกรายหันมาสร้างแบรนด์สินค้า เพราะแบรนด์จะสื่อถึงภาพลักษณ์และชื่อเสียงที่ทำให้ผู้บริโภคจดจำ โดยแบรนด์ที่ดีต้องมีทั้งรูปลักษณ์ดีและมีคุณประโยชน์ รวมทั้งต้องทำให้แบรนด์มีคุณค่าและมีคุณภาพ

สำหรับองค์กรประกอบจัดตั้งชื่อแบรนด์ ประกอบด้วย 4 ด้าน คือ 1.ชื่อ 2.สัญลักษณ์ 3.โลโก้ 4.หน้าตาผลิตภัณฑ์ หรือแพ็กเกจจิ้ง โดยการจัดตั้งชื่อแบรนด์ ควรมีไม่เกิน 3 คำ และใช้สี ควรไม่เกิน 3 สี หรือให้ใช้ 1 สีจะดีที่สุด เพื่อให้ผู้บริโภคจดจำได้ง่าย

ส่วนหัวใจในการสร้างแบรนด์ให้ประสบความสำเร็จ จะมี 4 หลักคือ 1.ต้องมีความแตกต่าง ที่ผู้ประกอบการจะต้องทำให้สินค้ามีความแตกต่างให้ได้ และต้องหาจุดแตกต่างของสินค้าให้เจอ และชูจุดเด่นดังกล่าว โดยการสร้างความแตกต่าง สามารถใช้นวัตกรรมมาช่วยได้

2.ต้องดีกว่า หมายถึง สร้างสินค้าให้ดีและมีคุณภาพ เมื่อเปรียบเทียบกับแบรนด์อื่น หรือแบรนด์ระดับใหญ่ สินค้าสามารถแข่งขันได้และดีกว่า 3. ต้องโดนใจ ผู้ประกอบการต้องสามารถผลิตสินค้าให้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคให้มากที่สุด และหาสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการให้เจอ 4.ต้องชัดเจน คือ การสร้างสินค้าที่มีจุดยืนของแบรนด์ให้ชัดเจน

อีกทั้งมีผลการวิจัยออกมาว่า สิ่งที่จะปลุกเร้าให้ผู้บริโภคอยากซื้อสินค้าจะประกอบไปด้วย 4 ด้านได้แก่ 1.ความใหม่ (New) 2.ความแตกต่าง 3.ความสนุกสนาน และ 4.เซ็กซี่ เร้าใจ และมีอารมณ์กวนๆ

ยกตัวอย่างแบรนด์ที่แปลงโฉมจนประสบความสำเร็จ สร้างยอดขายเพิ่มขึ้นมาก ทั้งแบรนด์ “ข้าวแต๋น แม่บัวจันทร์” ได้ปรับผลิตภัณฑ์ใหม่ จากข้าวแต๋นชิ้นขนาดใหญ่สู่ชิ้นเล็กลงเป็นแบรนด์แรกในประเทศ ทำให้บริโภคได้สะดวก รวมทั้งขยายแบรนด์ใหม่สู่ “สวัสดี” เพื่อขยายตลาดส่งออก และทำแบรนด์ “เซย์ ไฮ” เจาะกลุ่มลูกค้าคนรุ่นใหม่ พร้อมกับปรับแพ็กเกจจิ้งสินค้าใหม่ ทำให้ปัจจุบันมียอดส่งออกไป 20 ประเทศทั่วโลก สร้างยอดขายจาก 6 แสนบาท/ปี สู่ระดับกว่า 50 ล้านบาท/ปี

ต่อมาแบรนด์ “ORTA” ได้คิดค้นน้ำทุเรียนชงดื่ม นวัตกรรมของสินค้าจากทุเรียนรายแรกในประเทศ พร้อมกับต่อยอดสินค้าทุเรียนสู่ผลิตภัณฑ์ใหม่ที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ทั้งครีมเนื้อทุเรียน เวเฟอร์สอดไส้ครีมกลิ่นทุเรียน ลูกอมทุเรียน ไปจนถึงไอศกรีมทุเรียน ทำให้สินค้าทั้งหมดของทุเรียนแตกต่างและดีกว่าแบรนด์อื่นที่มีอยู่ รวมถึงสร้างยอดขายเติบโตระดับสูงและส่งออกหลายประเทศ

แบรนด์ “มะลิสปา” ที่ผลิตน้ำมันมะพร้าวบริสุทธิ์สกัดเย็น สร้างสินค้าให้แตกต่าง และมีเรื่องราวตำนานของแบรนด์ ที่มีการนำลิงมาเป็นสัตว์ช่วยเก็บมะพร้าว จึงปรับมาสู่การสร้างแบรนด์ใหม่ สู่แบรนด์ “Malii spa” ที่ได้ปรับบรรจุภัณฑ์ทำให้ลูกค้าต่างประเทศชื่นชอบ ต่อมาสร้างแบรนด์ใหม่ “Coco Dance” ที่มีรูปลิง พร้อมขยายตลาดสู่คนรุ่นใหม่ ทำให้แบรนด์ติดอันดับหนึ่งในสิบของสินค้าขายดีที่สุดของโอท็อปไทย

ขณะที่ตลาดรวมผู้บริโภคแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ ระดับบน (พรีเมียม) มีสัดส่วน 10% ตลาดเฉพาะกลุ่ม (นิชมาร์เก็ต) 30% และตลาดทั่วไป (แมส) 60% โดยแบรนด์ที่ยกตัวอย่างมา มีสินค้าที่ครอบคลุมทุกตลาด จึงอยู่ที่ผู้ประกอบการจะมุ่งพัฒนาและทำตลาดในกลุ่มใด

อีกด้านที่ลืมไม่ได้ คือ สร้างแพ็กเกจจิ้งให้โดดเด่น เช่น แบรนด์เครื่องดื่มระดับโลก ทำแพ็กเกจกิ้งให้มีภาษาในแต่ละประเทศและมีคำใหม่ รวมทั้งมีแพ็กเกจจิ้งหลากหลาย ทำให้สินค้ามีมูลค่าสูงขึ้นหลายเท่า เป็นสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการสะสม ดังนั้นต้องออกแบบให้แตกต่างจึงจะสามารถสร้างชัยชนะ

แบรนด์จึงเป็นสิ่งสำคัญที่เอสเอ็มอีจะต้องทำให้สำเร็จ