posttoday

ปมขัดแย้ง กม.ลูก ชนวนเสี่ยงเลื่อนเลือกตั้ง

23 สิงหาคม 2560

เส้นทางสู่การเลือกตั้งเริ่มเห็นเค้าลางและความชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ตามโรดแมปที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กำหนดไว้ ผ่านกลไกแม่น้ำทั้ง 5 สาย ที่กำลังเตรียมความพร้อมในแต่ละด้าน

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

เส้นทางสู่การเลือกตั้งเริ่มเห็นเค้าลางและความชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ ตามโรดแมปที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กำหนดไว้ ผ่านกลไกแม่น้ำทั้ง 5 สาย ที่กำลังเตรียมความพร้อมในแต่ละด้าน

ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ด้วยความเป็นห่วงว่าจะมีการเลื่อนเลือกตั้งออกไป พร้อม “ดักคอ” เรื่องสัญญาณการยื้ออยู่ในอำนาจต่อไปจากกรอบเวลาที่กำหนดเดิมเพื่อประคับประคองสถานการณ์

ก่อนที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.จะออกมาประกาศชัดเจนว่าจะมีการเลือกตั้งในปี 2561 ซึ่งถือเป็น “สัญญาประชาคม” ที่ยากจะบิดพลิ้ว

แต่กระนั้นไม่อาจคลี่คลายสลายความเป็นห่วงในประเด็นเลื่อนการเลือกตั้ง จนฝ่ายการเมืองยังแวะเวียนออกมาแสดงความเป็นห่วงอยู่หลายระลอก

หากพิจารณาอย่างรอบด้านจะเห็นว่าการเลือกตั้งแม้จะเป็นไปได้ยาก แต่ก็ใช่ว่าจะเกิดขึ้นไม่ได้

ต้องยอมรับว่า หากไม่มีเหตุผลที่มีน้ำหนักเพียงพอย่อมทำให้การเลื่อนการเลือกตั้งมีปัญหา​ อันจะไปตอกย้ำข้อครหาเรื่องการยื้ออยู่ในอำนาจ สุดท้ายจะวนกลับมาเป็นแรงเสียดทานกดดัน คสช.ที่รุนแรงมากขึ้น ซ้ำเติมปัญหารอบด้านที่กำลังรุมเร้าเวลานี้

อีกทั้งในสถานการณ์ที่บ้านเมืองกำลังสงบ ปราศจากเหตุปัจจัยที่ชนวนให้ต้องเลื่อนการเลือกตั้ง ท่ามกลางกลไกเตรียมความพร้อมที่เดินหน้าไปตามกรอบเวลาทำให้โอกาสเลื่อนการเลือกตั้งแทบเป็นไปได้ยาก

ยกเว้นในกรณีที่ “กลไก” เตรียมความพร้อมไม่สามารถเดินไปตามกำหนดที่วางไว้ อันจะกระทบเป็นลูกโซ่ทำให้การเลือกตั้งไม่สามารถเดินหน้าต่อไป

ดังจะเห็นกระแสพูดถึงสัญญาณความขัดแย้งในร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ ที่ทยอยเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จนเป็นห่วงว่าอาจกระทบกับกำหนดการพิจารณา ที่จะส่งผลต่อกรอบเวลาการจัดการเลือกตั้งได้

เมื่อในบทเฉพาะกาลรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 267 กำหนดไว้ชัดเจนว่า ให้กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) จัดทำร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญ เสนอต่อ สนช.ภายในกรอบเวลา 240 วัน นับจากวันที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้

โดย พ.ร.บ.ทั้ง 10 ฉบับ ได้แก่ 1.พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) 2.พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา (สว.) 3.พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) 4.พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง 5.พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ

6.พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดํารงตําแหน่งทางการเมือง 7.พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน 8.พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) 9.พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน และ 10.พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ

ตามกรอบ สนช.จะมีเวลาพิจารณา 60 วัน นับแต่วันที่ได้รับร่าง พ.ร.บ. เมื่อ สนช.พิจารณาแล้วก็ให้ส่งต่อไปตามกระบวนการเพื่อให้นายกรัฐมนตรี ทูลเกล้าฯ ถวายภายใน 20 วัน

มาตรา 268 ของรัฐธรรมนูญ 2560 ระบุว่า ให้ดำเนินการจัดการเลือกตั้ง สส.ให้แล้วเร็จใน 150 วัน นับตั้งแต่วันที่ พ.ร.บ.​ประกอบรัฐธรรมนูญ 4 ฉบับ ได้แก่ 1.พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง สส. 2.การได้มาซึ่ง สว. 3.กกต. และ 4.พรรคการเมือง มีผลใช้บังคับ

เมื่อประกาศใช้กฎหมายแล้วให้ จัดการเลือกตั้งภายใน 150 วัน หลังประกาศใช้กฎหมายเลือกตั้ง

ทั้งนี้ กระบวนการที่เป็นห่วงกันอยู่ในขั้นตอน​​กรณีหาก สนช.พิจารณาเสร็จแล้ว ส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญ หรือองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้องและ กรธ.พิจารณา หากเห็นว่าไม่ตรงตามเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ ให้ตั้ง กมธ.วิสามัญ 11 คนขึ้นมา เพื่อพิจารณาและเสนอต่อ สนช.ภายใน 15 วัน

ในกรณีที่ สนช.มีมติไม่เห็นชอบด้วยคะแนนเสียงเกิน 2 ใน 3 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ ให้ร่าง พ.ร.บ.นั้นตกไป ในกรณีที่ สนช.มีมติไม่ถึง 2 ใน 3 ให้ถือว่า​ สนช.ให้ความเห็นชอบตามร่างที่ กมธ.วิสามัญเสนอ

หากดูความคืบหน้า พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญเวลานี้ ฉบับที่พิจารณาแล้วคือ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย กกต. ซึ่ง สนช.พิจารณาแล้ว ต่อมาได้ตั้ง กมธ.วิสามัญพิจารณาตามมาตรา 267 สุดท้าย สนช.มีมติไม่เห็นชอบไม่ถึง 2 ใน 3 ส่งต่อไปยังนายกฯ เพื่อทูลเกล้าฯ ถวายต่อไป

พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สนช.มีมติเห็นชอบและส่งให้นายกฯ เพื่อนำขึ้นทูลเกล้าฯ ต่อไป

พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง สนช.เห็นชอบ ต่อมามีการตั้ง กมธ.ตามมาตรา 267 สุดท้ายที่ประชุม สนช.มีมติไม่เห็นด้วยไม่ถึง 2 ใน 3 ส่งต่อไปยังนายกฯ เพื่อทูลเกล้าฯ ถวายต่อไป

ขณะที่ กรธ.อยู่ระหว่างการพิจารณากฎหมายฉบับอื่นๆ รอคิวเข้าสู่การพิจารณาของ สนช​. ตามกรอบเวลา แต่ที่ต้องจับตาคือ พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง สส. ซึ่งถือเป็นอีกฉบับที่น่าจะมีความเห็นแตกต่างกันอย่างมากจนอาจจะยากหาข้อสรุป

เสี่ยงจะเป็นเหตุให้กรอบการเลือกตั้งที่วางไว้ต้องเลื่อนออกไป