posttoday

โยนหินเลือกตั้งท้องถิ่น สลายฐานการเมือง

30 มีนาคม 2560

การเมืองไทยในเวลานี้นอกจากจะมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. เป็นคนคุมเกมแล้ว ยังมี “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เป็นผู้ร่วมคุมเกมอีกคน

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

การเมืองไทยในเวลานี้นอกจากจะมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นคนคุมเกมแล้ว ก็ยังมี “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เป็นผู้ร่วมคุมเกมอีกคน

ไม่ว่า พล.อ.ประวิตร จะแสดงท่าทีผ่านสื่อมวลชนอย่างไรจะถูกจับตาจากทุกฝ่ายเป็นพิเศษ ส่วนหนึ่งคงเป็นเพราะ "บิ๊กป้อม" แม้จะมีตำแหน่งในรัฐบาลที่มีศักดินาน้อยกว่า "บิ๊กตู่" แต่ต้องไม่ลืมว่าความอาวุโสแล้ว พล.อ.ประวิตร ถือเป็นพี่ใหญ่ของทุกคนใน คสช. โดยเป็นสถานะที่สืบต่อมาจาก "บูรพาพยัคฆ์"

ล่าสุด พล.อ.ประวิตร ส่งสัญญาณทางการเมืองอีกครั้งผ่าน “พีระศักดิ์ พอจิต” รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในฐานะหนึ่งคณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดองในคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) เมื่อวันที่ 27 มี.ค. ที่ต้องการอยากให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่น

"จากการลงพื้นที่ตามต่างจังหวัด เเยกย่อยทั้งภาคใต้ ภาคเหนือ หรือภาคอีสาน พูดคุยกับผู้นำท้องถิ่น ชุมชน ประชาชน พบว่าความปรองดองสมานฉันท์ของคนในชาติเป็นสิ่งที่ทุกคนอยากเห็น โดยเมื่อสัปดาห์ที่เเล้วได้พูดคุยกับ พล.อ.ประวิตร บอกว่า อยากให้มีการจัดการเลือกตั้งในระดับท้องถิ่นก่อน เพื่อให้ต่อไปนักการเมืองจะไม่สามารถไปครอบงำการเลือกตั้งท้องถิ่นได้อีกเเล้ว เเต่ไม่รู้ระยะเวลาว่าจะเริ่มเมื่อใด และอาจเปลี่ยนแปลงได้" รองประธาน สนช. ระบุ

ท่าทีเช่นนี้ย่อมเป็นเรื่องไม่ธรรมดา เพราะต้องไม่ลืมว่า คสช.ประกาศหัวเด็ดตีนขาดมาตลอดว่ายังไม่มีการทำกิจกรรมทางการเมืองในเวลานี้ แต่เมื่อ คสช.ส่งสัญญาณดังกล่าวออกมา แสดงให้เห็นว่า คสช.กำลังมีเหตุผลทางการเมืองบางประการถึงต้องการเกิดการเลือกตั้งท้องถิ่นก่อน

เหตุผลสำคัญของเรื่องนี้ คงหนีไม่พ้นการส่งคนเข้าชิงพื้นที่ท้องถิ่นจากฝ่ายการเมือง

เหตุผลที่มารองรับทฤษฎีดังกล่าว คือ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายเพิ่มประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 วงเงิน 1.9 แสนล้านบาท

โดยล้วงเข้าไปในโครงสร้างของงบประมาณฉบับนี้ที่เพิ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษา พบว่ามีการจัดสรรงบประมาณให้กับท้องถิ่นมากเป็นพิเศษ

ดังจะเห็นได้จากกลุ่มงบประมาณรายจ่ายพื้นที่ เพื่อภารกิจพื้นที่ท้องถิ่น ภูมิภาค จังหวัด กลุ่มจังหวัด ได้รับการจัดสรรเป็นจำนวน 1.15 แสนล้านบาท คิดเป็น 60.53% ของวงเงินงบประมาณ

การจัดงบประมาณดังกล่าวถือว่าผิดธรรมชาติของการจัดทำงบประมาณกลางปี เพราะโดยส่วนใหญ่แล้วการทำงบกลางปีจะเป็นไปในลักษณะของการเติมเงินให้งบกลาง ซึ่งเป็นกระเป๋าเงินของรัฐบาลมากกว่า โดยพบว่างบกลางมีเพียง 2.2 หมื่นล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 12.06% ของวงเงินงบประมาณเท่านั้น

ดังนั้น การเทงบกลางปีให้กับท้องถิ่นมากเป็นพิเศษ ย่อมเป็นสัญลักษณ์ที่สื่อออกมาว่า คสช.กำลังให้ความสนใจกับท้องถิ่นเป็นอย่างมาก

เมื่อมองในภาพรวมทั้งการส่งสัญญาณของ พล.อ.ประวิตร ที่อยากให้มีการเลือกตั้งท้องถิ่น และ การจัดสรรงบประมาณให้กับท้องถิ่น จึงมองเป็นอย่างอื่นไม่ได้นอกจากสลายกลุ่มกำลังของพรรคการเมือง

ต้องยอมรับว่าฐานของฝ่ายการเมืองจำนวนมากมีรากฐานความเข้มแข็งมาจากกลุ่มการเมืองท้องถิ่น ตั้งแต่ระดับเทศบาลไปจนถึงระดับจังหวัดผ่านการส่งคนของตัวเองเข้าไปชิงตำแหน่งผู้บริหารท้องถิ่น ทำให้เกิดการผูกขาดทางการเมืองมาเป็นเวลาหลายปี

ทั้งนี้ เป็นเหตุผลว่าทำไมพรรคเพื่อไทยถึงไม่ค่อยปราชัยในพื้นที่ภาคเหนือและอีสาน เช่นเดียวกับพรรคประชาธิปัตย์ที่ไม่ค่อยพลาดทำให้กับคู่แข่งในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งทั้งหมดมีปัจจัยมาจากความเข้มแข็งของขุมกำลังการเมืองท้องถิ่นที่แต่ละพรรคได้สร้างมาอย่างยาวนาน

คสช.เองก็มองเห็นถึงเครือข่ายที่ว่านี้เช่นกัน จึงได้พยายามเข้าตีเมืองขึ้นตั้งแต่เข้ามายึดอำนาจในช่วงแรกด้วยการยกเลิกการเลือกตั้งท้องถิ่น เพื่อต้องการจะจัดสรรระบบกันใหม่

เพราะฉะนั้นการส่งสัญญาณที่ว่าด้วยการเลือกตั้งท้องถิ่นรอบนี้ คสช.หวังใช้เครื่องมือที่ตัวเองมีเป็นกลไกสลายขั้วการเมืองท้องถิ่น เพื่อไม่ให้เป็นขุมกำลังของฝ่ายการเมืองที่จะช่วยอุ้มให้กลับมาเป็นใหญ่ในอนาคต