posttoday

เพื่อไทยโดดเดี่ยว ต้านรัฐธรรมนูญ

10 กุมภาพันธ์ 2559

การที่พรรคเหล่านี้จะประกาศคว่ำร่างรัฐธรรมนูญจึงเป็นไปได้ยาก การรับร่างรัฐธรรมนูญเพื่อดึงให้ทุกอย่างกลับมาสู่สภาวะปกติย่อมดีกว่า

โดย...ทีมข่าวการเมืองโพสต์ทูเดย์

เปิดร่างแรกรัฐธรรมนูญปราบโกงฉบับ มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในหลายแง่หลายมุมจากหลายฝ่าย จนห่วงกันว่าหากเป็นเช่นนี้คงยากที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะผ่านประชามติ

ไม่แปลกที่มีชัยจะออกมาส่งสัญญาณเตรียมทบทวนเนื้อหาว่าประเด็นใดจะปรับแก้ได้ไม่ได้ ถึงขั้นออกตัวว่าพร้อมดำเนินการปรับแก้ในบางประเด็น แต่ถ้าสิ่งใดเข้าใจผิดก็พร้อมชี้แจงเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้อง

ประการแรก ถือเป็นการลดแรงเสียดทานจากกระแสคัดค้านที่รุมเร้าเวลานี้ ซึ่งเป็นการยืนยันว่า กรธ.ไม่ได้มีพิมพ์เขียวล่วงหน้า หรือมีธงมาจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)​ แต่พร้อมแก้ไขเพื่อให้ตรงกับความต้องการของคนส่วนใหญ่

ประการที่สอง การยอมปรับแก้เนื้อหาในบางประเด็นยังช่วยเปลี่ยน “กลุ่มต้าน” ให้กลับมาเป็น “กลุ่มหนุน” ช่วยผลักดันร่างรัฐธรรมนูญจนถึงปลายทางได้สำเร็จ

ที่สำคัญหากพิจารณาอย่างละเอียดจะเห็นว่า “กลุ่มต้าน” ที่ยังเหนียวแน่นเหลือเพียงไม่กี่กลุ่ม เริ่มจากกลุ่มเพื่อไทยและเสื้อแดง ที่ออกตัวตั้งแต่ก่อนลงมือร่างรัฐธรรมนูญด้วยซ้ำว่าไม่ยอมรับทั้งขั้นตอน วิธีการ เนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญ

ล่าสุด ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ ส่งเสียงข้ามน้ำข้ามทะเลมาถึงพลพรรคเพื่อไทย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นทีม กทม. กลางงานเลี้ยงตรุษจีนบ้าน “เจ๊หน่อย” คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ 

“เห็นร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้แล้วต้องบอกว่าห่วยแตก ให้อำนาจศาลรัฐธรรมนูญมากเกินไป เขียนแบบนี้ประเทศชาติถอยหลังลงคลอง เหมือนเมียนมา เกาหลีเหนือ ผมจากบ้านไปเกือบ 10 ปี แต่บ้านเมืองเรากลับถอยหลังไปเกือบ 20 ปี ตอนนี้ผู้นำก็บ้าอำนาจจนขาดสติ ขาดวุฒิภาวะ แสดงกิริยาไม่สมควร ขอให้พวกเราเตรียมตัวไว้เลย จะมีการเลือกตั้งในเร็วๆ นี้ มั่นใจว่าพรรคเพื่อไทยมีโอกาสสูงมากที่จะกลับมา
บริหารประเทศ”

แม้ทาง น.อ.อนุดิษฐ์​ นาครทรรพ จะพยายามชี้แจงว่าไม่มีการพูดพาดพิงผู้นำ แต่ไม่ได้ปฏิเสธเรื่องวิพากษ์รัฐธรรมนูญ และยืนยันประเด็นเรื่องถอยหลังกลับไป 20 ปี

สอดรับไปกับท่าทีก่อนหน้านี้ของ จตุพร พรหมพันธุ์ ประธานแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) ที่เคยประกาศว่าร่างรัฐธรรมนูญนี้จะต้องเขียนเหมือนกับฟอกเผด็จการ แล้วเติมอำนาจเบ็ดเสร็จไปไว้ที่องค์กรอิสระ

“ขณะนี้พรรคเพื่อไทย และ นปช.ได้ประกาศคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ และไม่มีวันให้ประเทศใช้รัฐธรรมนูญเผด็จการฉบับนี้มาปกครอง”​

แต่หากพิจารณาท่าทีของกลุ่มอื่นๆ เวลานี้ยังไม่มีใครออกตัวคัดค้านชัดเจน ทั้ง “ประชาธิปัตย์”​ ที่แม้จะออกมาแสดงความคิดไม่เห็นด้วยกับหลายประเด็น ทั้งระบบเลือกตั้ง สส.ที่ใช้บัตรเดียว ระบบเลือกไขว้ สว. และประเด็นสิทธิเสรีภาพที่หายไป พร้อมเสนอแนะให้ กรธ.เร่งแก้ไข โดยสงวนท่าทีขอรอดูร่างสุดท้ายหลัง กรธ.แก้ไขปรับปรุงให้สมบูรณ์ ก่อนจะประกาศว่าจะหนุนหรือค้านร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ 

แต่หากดูแนวโน้มความเป็นไปได้ โดยพิจารณา​จากข้อเสียที่หลายฝ่ายถล่ม ระบบเลือกตั้ง สรรหา สส.- สว. คงยากที่ กรธ.จะฝืนกระแสลุยเดินหน้าต่อไปโดยไม่แก้ไข ส่วนจะแก้ไขมากหรือน้อยเท่าไหร่นั้นก็ขึ้นอยู่กับ กรธ.ที่จะพิจารณาหาจุดสมดุล

ดังนั้น หาก กรธ.ยอมปรับแก้ในบางจุด แม้จะไม่ทั้งหมด แต่ทางประชาธิปัตย์เองก็คงยากจะแข็งขืนถึงขั้นประกาศจุดยืน “คว่ำร่างรัฐธรรมนูญ” เพราะชั่งน้ำหนักแล้วจะ “เสีย” มากกว่า “ได้”

เริ่มตั้งแต่จะถูกถล่มว่า “ประชาธิปัตย์” รู้เห็นเป็นใจกับ คสช.ในการคว่ำรัฐธรรมนูญ เพื่อต่ออายุ คสช.ในอำนาจให้ยาวออกไปจากโรดแมป เพื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แม้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ​จะยืนยันจัดให้มีการเลือกตั้งในปี 2560 ก็ตาม

อีกด้านหนึ่งยังอาจถูกมองว่าเป็นการจับมือระหว่างประชาธิปัตย์-เพื่อไทย คว่ำร่างรัฐธรรมนูญ ที่ไม่เป็น
ผลดีกับทั้งสองพรรค

ดังนั้น โอกาสที่ประชาธิปัตย์จะประกาศจุดยืนคว่ำร่างรัฐธรรมนูญจึงเป็นไปได้ยาก อย่างมากที่สุดคงทำได้เพียงแค่ปล่อย “ฟรีโหวต” ให้เป็นเรื่องที่สมาชิกจะตัดสินใจอย่างอิสระว่าจะ “รับ” หรือ “ไม่รับ” โดยไม่มีมติพรรคเป็นตัวกำหนด

ถัดมาที่พรรคขนาดกลางและขนาดเล็กซึ่งหากพิจารณาตามแนวทางตามรัฐธรรมนูญนี้ ย่อมเป็นโอกาสให้พรรคเหล่านี้มีปากมีเสียงมีอำนาจต่อรองเพิ่มเติม จากร่างรัฐธรรมนูญที่จะทำให้พรรคใดพรรคหนึ่งมีเสียงข้างมากเด็ดขาด

การที่พรรคเหล่านี้จะประกาศคว่ำร่างรัฐธรรมนูญจึงเป็นไปได้ยาก การรับร่างรัฐธรรมนูญเพื่อดึงให้ทุกอย่างกลับมาสู่สภาวะปกติย่อมดีกว่าไปรอลุ้นกับร่างรัฐธรรมนูญใหม่ที่ไม่รู้ว่าจะออกมาอย่างไร

ไม่ต้องพูดถึง “มวลมหาประชาชน” เพราะท่าทีของกำนันสุเทพ เทือกสุบรรณ ประกาศชัดเจนว่าสนับสนุน คสช.แบบสุดลิ่มทิ่มประตู ไม่ว่าร่างรัฐธรรมนูญจะออกมาอย่างไร คงยากที่ กปปส.จะคัดค้าน มีแต่จะออกมารณรงค์ให้มวลชนร่วมกันรับร่างรัฐธรรมนูญมากขึ้น

ส่วนกลุ่มป่วน กลุ่มต้าน ที่กระจายอยู่ตามอยู่ภูมิภาคต่างๆ นั้นย่อมไม่มีพลังจะออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านได้อย่างเต็มที่ เพราะนอกจากจะมีการส่ง รด.ไปทำความเข้าใจเนื้อหาร่างรัฐธรรมนูญในพื้นที่แล้วอีกด้านหนึ่ง คสช.ยังมีอำนาจตามมาตรา 44 รัฐธรรมนูญชั่วคราวคอยสกัดกลุ่มป่วน