posttoday

เอาผิดสนามบินพะงันรุกป่าสงวน

28 พฤษภาคม 2560

อธิบดีกรมป่าไม้ สั่งดำเนินคดีที่ดินสนามบินพะงันรุกป่าสงวน ออกเอกสารสิทธิมิชอบ

อธิบดีกรมป่าไม้ สั่งดำเนินคดีที่ดินสนามบินพะงันรุกป่าสงวน ออกเอกสารสิทธิมิชอบ

นายชลธิศ สุรัสวดี อธิบดีกรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สั่งดำเนินคดีผู้เกี่ยวข้องกับที่ดินจุดก่อสร้างท่าอากาศยานบนเกาะพะงัน อ.เกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี เนื่องจากพบว่าไม่มีเอกสารสิทธิหรือทำเกินกว่าเอกสารสิทธิที่นำมาแสดง และเป็นการกระทำผิดยึดถือครองที่ดินและทำประการหนึ่งประการใดให้เกิดความเสียหายต่อพื้นที่ป่าสงวน

ทั้งนี้ นายชลธิศ นำชุดปฏิบัติการพิเศษพยัคฆ์ไพร สนธิกำลังกับชุดพญาเสือ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธ์ุพืช ชุดฉลามขาว กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง เจ้าหน้าที่ทหารจาก ศปป.4 กอ.รมน. และเจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เข้าตรวจสอบพื้นที่หมู่ 5 ต.บ้านใต้ อ.เกาะพะงัน จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งเป็นจุดก่อสร้างท่าอากาศยานเกาะพะงัน โดยสายการบินกานต์แอร์ พบมีการตัดภูเขาเพื่อเปิดเป็นพื้นที่โล่งสำหรับสร้างเป็นลานจอดเครื่องบิน ประมาณ 150 ไร่ เจ้าหน้าที่นำรังวัดมาระวางพบว่ามีส่วนหนึ่งประมาณ 40 ไร่ มีการเปิดหน้าดินไปแล้ว แต่ไม่มีเอกสารสิทธิหรือทำเกินกว่าเอกสารสิทธิที่นำมาแสดง

นอกจากนี้ เอกสารสิทธิ น.ส.3 ก. ซึ่งผู้ดูแลที่ดินดังกล่าวนำมาแสดง ก็พบว่าเป็นเอกสารที่ออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย จำนวน 81 ไร่ จะดำเนินการเสนอเพิกถอนและแจ้งความดำเนินคดี รวมทั้งส่งเรื่องให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอด้วย

ทั้งนี้ ที่ดินดังกล่าวเป็นพื้นที่ก่อสร้างท่าอากาศยานของสายการบินกานต์แอร์ ซึ่งเริ่มก่อสร้างมาตั้งแต่ปี 2558

ด้าน พ.ต.สมพงษ์ สุขสงวน ประธานบริษัท กานต์นิธิ เอวิเอชั่น ผู้ดำเนินธุรกิจสายการบินกานต์แอร์ กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนดำเนินการชี้แจงกับเจ้าหน้าที่หน่วยงานต่างๆ ที่เข้ามาตรวจสอบ ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดต่างๆ ได้

นอกจากนี้ นายชลธิศ ยังนำเจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบหาดญวน ต.บ้านใต้ พบว่ามีรีสอร์ท 8 แห่ง บุกรุกป่าสงวน นอกจากนี้ยังพบการเปิดไถเป็นพื้นที่โล่งประมาณ 300 ไร่ มีการจับจองแบ่งเป็นล็อกๆ ตั้งแต่ 20-60 ไร่ โดย ส.ค.1 ที่ผู้ดูแลที่ดินนำมาแสดงนั้น ไม่ใช่แปลงที่มีการบุกรุก จึงได้แจ้งข้อหาบุกรุกยึดถือครอบครองที่ดินโดยมิชอบตาม พ.ร.บ.ป่าไม้ พ.ศ. 2484 และสั่งดำเนินคดี

นายชีวะภาพ ชีวะธรรม หัวหน้าชุดปฏิบัติการพยัคฆ์ไพร กรมป่าไม้ กล่าวว่า ขบวนการบุกรุกที่ดินดังกล่าวมีทั้งคนไทยและชาวต่างชาติร่วมมือกัน โดยนำที่ดินที่มีการแบ่งเป็นล็อกๆ ขายให้กับชาวต่างชาติผ่านทางเว็บไซต์ในราคาไร่ละ 6 แสนบาท โดยแปลงที่แบ่งขายมากที่สุดคือ 60 ไร่ ไร่ละ 6 แสนบาท คิดเป็นราคาขายประมาณ 36 ล้านบาท

ภาพประกอบข่าวจากแฟ้มภาพ