posttoday

สอบเส้นทางเงินทัวร์นอมินีจีน พบโกยรายได้ปีละ450ล้าน

19 กรกฎาคม 2559

ตำรวจภูเก็ตร่วม ปปง.ลุยตรวจสอบเส้นทางการเงินบริษัททัวร์นอมินีจีนพบหอบเงินหนีปีละ 450 ล้าน

ตำรวจภูเก็ตร่วม ปปง.ลุยตรวจสอบเส้นทางการเงินบริษัททัวร์นอมินีจีนพบหอบเงินหนีปีละ 450 ล้าน

พ.ต.อ.สมาน ชัยณรงค์ รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดภูเก็ต เปิดเผยว่า ได้ร่วมกับสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) เดินหน้าตรวจสอบการประกอบธุรกิจ โดยใช้ชาวไทยเป็นตัวแทนอำพราง (นอมินี) ชาวจีนใน จ.ภูเก็ต พบว่า บริษัทนอมินีใช้เงินจดทะเบียนรวม 170 ล้านบาท ซึ่งในปี 2558 มีรายได้จากประกอบธุรกิจท่องเที่ยวประมาณ 450 ล้านบาท โดยเฉพาะบริษัท ทรานลี่ ทราเวล มีรายได้สูงสุดจำนวน 161 ล้านบาท

พ.ต.อ.สมาน กล่าวว่า ขณะนี้ตำรวจภูธรจังหวัดภูเก็ตกำลังเร่งดำเนินการขั้นตอนการทำคดีเอาผิดบริษัท ทรานลี่ฯ ในข้อหาอั้งยี่ โดยทางเจ้าหน้าที่ต้องรวบรวมพยานหลักฐานนำมาผูกกันให้สอบสวนโยงกันต่อรูปคดี ซึ่งการดำเนินคดีอั้งยี่ได้เคยดำเนินการแล้วใน จ.ภูเก็ต เมื่อปี 2557 ที่ผ่านมา โดยในครั้งนั้นสามารถจับกุม 8 ผู้ต้องหา ซึ่งคดีอั้งยี่มี นายเปี่ยน กี่สิ้น อดีตนายกเทศมนตรีเมืองป่าตอง และนายปรีชาวุฒิ กี่สิ้น บุตรชายพร้อมพวก

“การทำคดีอั้งยี่ครั้งนี้ ยอมรับว่ายากเป็นโจทก์คล้ายกันในการทำคดีครั้งก่อน แต่คนละกลุ่มกัน ปัจจุบันอยู่ระหว่างสอบปากคำผู้เกี่ยวข้อง รวบรวมพยานหลักฐาน ส่วนการดำเนินคดีเกี่ยวกับการฟอกเงิน ทาง ปปง.จะเป็นผู้รับผิดชอบ โดยทำงานร่วมกันกับตำรวจภูธรจังหวัดภูเก็ต คาดว่าคดีนี้จะสามารถดำเนินการให้จบได้ภายใน 1-2 เดือนข้างหน้า”พ.ต.อ.สมาน กล่าว

อย่างไรก็ตาม คดีแจ้งความเท็จทำบัตรประชาชนปลอมใช้ชาวไทยเป็นตัวแทนอำพราง (นอมินี) ใน จ.ภูเก็ต ซึ่งเป็นบุคคลไม่ใช่สัญชาติไทย (ต่างด้าว) จำนวน 2 คน ขณะนี้ได้ส่งตัวนายกฤชกร รุ่งมงคลนาม ส่งฝากขังศาลจังหวัดภูเก็ตแล้ว ส่วนการพิจารณาขึ้นกับดุลพินิจของศาลจังหวัดภูเก็ต ส่วนนายวีระชัย คำไผ่ประพันธ์กุล ร่วมกันแจ้งข้อมูลอันเป็นเท็จแก่เจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อให้ดำเนินการออกบัตรประจำตัวประชาชนโดยมิชอบ และนำเอกสารดังกล่าวมาใช้ประกอบธุรกิจ อยู่ระหว่างหลบหนี แต่ได้ประสานตำรวจสากลติดตามตัวมาดำเนินคดีแล้วเช่นกัน

นอกจากนี้ มีรายงานระบุว่า ก่อนหน้านี้กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้เพิกถอนทะเบียนบริษัทนอมินีต่างชาติไปแล้วทั้งหมด 13 ราย ประกอบด้วย 1.บริษัท ทรานลี่ฯ 2.บริษัท ราชาสปา 3.บริษัท ไท่ลี่อิมพอร์ต 4.บริษัท ภูเก็ต บลู เฮเว่น ไดฟ์วิ่ง เซ็นเตอร์ 5.บริษัท เหมยลี 6.บริษัท หยางกวง 7.บริษัท ที แอล เบทเตอร์เวย์ 8.บริษัท บลูเวฟ รีสอร์ท 9.บริษัท อินทรีมารีน 10.บริษัท ภูเก็ต ปิง เฟรนด์ 11.บริษัท แมนตา มารีน 12.บริษัท เวนิส ซีวิว และ 13.บริษัท บลู เบย์ รีสอร์ท ส่วนบริษัทนอมินีต่างชาติรายอื่นๆ อยู่ระหว่างการตรวจสอบ

ด้าน น.ส.ผ่องพรรณ เจียรวิริยะพันธ์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กล่าวว่าได้ส่งเรื่องร่างกฎหมายจัดตั้งบริษัทคนเดียวให้ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจได้พิจารณาเห็นชอบแล้ว หลังจากนั้นจะเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา ซึ่งคาดว่าจะอยู่ในช่วงระหว่างสิ้นเดือน ก.ค.นี้ หรืออย่างช้าภายในเดือน ส.ค.ซึ่งกฎหมายดังกล่าวยังตัดปัญหาการมีนอมินีเพื่อจดตั้งกิจการไปด้วย ซึ่งทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่ากฎหมายนี้มีประโยชน์มาก และพยายามช่วยกันผลักดันให้ออกมาใช้ได้เร็วที่สุด