posttoday

นายกฯ อบจ.สตูล ประกาศค้านสร้างนิคมอุตฯในพื้นที่

01 กันยายน 2558

ชาวบ้านแห่ร่วมเวทีสมัชชาสตูลกว่า 1,000 คน ห่วงท่าเรือปากบารากระทบวิถีชีวิต นายกฯ อบจ.สตูล ประกาศค้านสร้างนิคมอุตฯ

ชาวบ้านแห่ร่วมเวทีสมัชชาสตูลกว่า 1,000 คน ห่วงท่าเรือปากบารากระทบวิถีชีวิต นายกฯ อบจ.สตูล ประกาศค้านสร้างนิคมอุตฯ

เมื่อวันที่ 1 ก.ย. ที่ประชุมสมัชชาสตูลครั้งที่ 4 เพื่อกำหนดทิศทาง “เมืองสตูลที่เราอยากเป็น” ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 1 ก.ย.2558 ณ ลานสาธารณะหาดปากบารา ต.ปากน้ำ อ.ละงู จ.สตูล มีส่วนราชการและเครือข่ายภาคประชาชนเข้าร่วมกว่า 1,000 ราย โดยที่ประชุมได้แสดงความกังวลต่อโครงการพัฒนาที่กำลังจะเกิดขึ้น โดยเฉพาะท่าเรือน้ำลึกปากบารา ที่จะทำลายวิถีชีวิตของชาวบ้านในพื้นที่ และสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรง

นายสัมฤทธิ์ เลียงประสิทธิ์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดสตูล กล่าวว่า จ.สตูล ไม่จำเป็นต้องมีท่าเรือน้ำลึกก็อยู่ได้ แต่หากโครงการดังกล่าวจำเป็นต้องเกิดขึ้นจริงเพราะเป็นนโยบายของรัฐบาล ก็จำเป็นต้องมาพูดคุยถึงผลดีผลเสียให้ชัดเจนเสียก่อน แต่หากมีการสร้างโรงงานหรือนิคมอุตสาหกรรมยืนยันว่าจะเกิดการต่อต้านอย่างหนักอย่างแน่นอน

“ย้ำว่าเราไม่เอาโรงงาน โรงงานอย่ามาสร้าง ถ้าเป็นโรงงานเราจะต่อต้านอย่างหนัก เพราะเราไม่อยากเป็นแบบมาบตาพุด”นายสัมฤทธิ์ กล่าว

นายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ อดีต สว.นครราชสีมา กล่าวว่า ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นทั่วประเทศเป็นเพราะส่วนกลางมองทิศทางการพัฒนาแตกต่างไปจากชาวบ้าน โดยรัฐมองแต่ในเชิงยุทธศาสตร์ว่าการพัฒนาต้องมีทุนขนาดใหญ่ ต้องใช้ปูน ใช้เหล็ก ส่งผลให้ชาวบ้านต้อปรับชีวิตให้เข้ากับทุน

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาที่ดีไม่ใช่การสร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างมหาศาล ไม่ใช่เอาทะเลไปสร้างท่าเรือน้ำลึกจนกระทั่งทำลายสัตว์น้ำ พืชพรรณ หรือถึงขั้นที่ประมงขนาดเล็กไม่หลงเหลือ

“รัฐบาลที่แล้วได้ประกาศพื้นที่อุทยานหลายแห่ง เรียกได้ว่าเกือบจะทั้งจังหวัดสตูล เพราะในอดีตเขามองว่าการสร้างอุทยานคือการสร้างสมดุลของภาคการเกษตร ประมง รักษาวิถีที่คนสืบต่อเป็นชุมชน แต่มาวันนี้วิธีคิดของผู้นำเปลี่ยนแปลงไปมาก อยากแปรสภาพไทยเป็นญี่ปุ่น เกาหลี แต่มันเป็นไปไม่ได้”นายไกรศักดิ์ กล่าว

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมีฉันทามติว่า ทิศทางการพัฒนา จ.สตูล ต้องคำนึงถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่เป็นหลัก โดยเฉพาะประเด็นความมั่นคงด้านอาหารและการพึ่งพาตนเอง ที่สำคัญต้องมีการศึกษาศักยภาพพื้นที่ควบคู่กระบวนการเรียนรู้ การตัดสินใจบนฐานข้อมูล การมีส่วนร่วมของภาคีทุกฝ่าย ภายใต้แนวคิดคนสตูลจัดการตนเอง

นายยูหนา หลงสมัน ประธานเครือข่ายท่องเที่ยวโดยชุมชน จ.สตูล กล่าวว่า ทิศทางที่ต้องการอยากให้เป็น คือการพัฒนาบนฐานความเข้าใจ การมีส่วนร่วม และการพัฒนาที่ยั่งยืนจากฐานรากประวัติศาสตร์ ต้นทุนทรัพยากร และจิตวิญญาณของผู้คน

อนึ่ง ความคืบหน้าโครงการท่าเรือปากบาราล่าสุด กระทรวงคมนาคม ได้จัดสรรงบประมาณจำนวน 50 ล้านบาท ให้กับสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร เพื่อจัดทำการประเมินสิ่งแวดล้อมด้านยุทธศาสตร์ (Strategic Environmental Assessment) ให้แล้วเสร็จภายในเดือน เม.ย.2559 พร้อมกันนี้ กรมเจ้าท่าได้ขอตั้งงบปี 2559 จำนวน 120 ล้านบาท เพื่อจัดทำการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (Environmental and Health Impact Assessment)