posttoday

หอชมเมืองกรุงเทพฯยุทธศาสตร์'ประชาลัด'

07 กรกฎาคม 2560

"รัฐต้องตอบคำถามให้ชัดเจนเพราะผู้ที่ออกมาคัดค้านกำลังไม่ไว้ใจรัฐ เนื่องจากเอกชนเข้ามาบริหารจัดการก็ต้องมองเรื่องผลประโยชน์ตอบแทน"

โดย...นิติพันธุ์ สุขอรุณ

ทันทีที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติให้ภาคเอกชนเข้ามาเช่าที่ดินราชพัสดุ เลขที่ทะเบียน กท.3275 เขตคลองสาน เป็นเวลา 30 ปี เพื่อดำเนินการก่อสร้างและบริหารจัดการ "หอชมเมืองกรุงเทพมหานคร" มูลค่ากว่า 4,600 ล้านบาท ภายในซอยเจริญนคร 7 ริมแม่น้ำเจ้าพระยา

แม้จะเป็นการใช้เงินทุนบริจาคจากบริษัทเอกชนชั้นนำเข้ามาพัฒนาเท่านั้น ทว่าได้สร้างข้อกังขาถึงความเหมาะสมที่ประชาชนควรมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็น ก่อสร้างหอชมเมืองตามยุทธศาสตร์ "ประชารัฐ" อย่างแท้จริงหรือไม่

ยศพล บุญสม ผู้ประสานงานกลุ่มเฟรนด์ ออฟเดอะ ริเวอร์ เปิดเผยว่า การสร้างหอชมเมืองอาจใช้พื้นที่อื่นที่สามารถสร้างประโยชน์ให้กับเมืองมากกว่านี้ เพราะการสร้างโครงการขนาดใหญ่ ไม่อาจคิดเฉพาะแค่พื้นที่ของตัวเองเท่านั้น แต่ต้องคิดวางแผนเพื่อพัฒนาเมืองในระยะยาวด้วย ตัวอย่างเช่นในต่างประเทศ การสร้างแลนด์มาร์คใหม่จะต้องวางแผนระยะยาว ทั้งในด้านคมนาคม แหล่งที่อยู่อาศัย เพื่อหวังกระตุ้นเศรษฐกิจ ฟื้นฟูคุณภาพชีวิตโดยรอบให้ดีขึ้นตามไปด้วย แต่สำหรับพื้นที่ภายในซอยเจริญนคร 7 พบว่ามีความหนาแน่นของชุมชนสูง เพียงแค่เริ่มต้นก็ติดปัญหาทางเข้าคับแคบ จึงต้องหันมาใช้ระบบขนส่งทางเรือเป็นหลัก ยิ่งทำให้เกิดข้อสังเกตว่า กำลังเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มคนบางกลุ่มมากกว่าเพื่อสังคมในภาพรวม

ทั้งนี้ หากไม่มีการกำกับดูแลแนวทางพัฒนาให้เป็นระบบอาจส่งผลเสียมากขึ้น เช่น ชุมชนเก่าแก่ต้องสลายไป หรือแม้กระทั่งปัญหากว้านซื้อที่ดินจากกลุ่มนายทุนเพื่อสร้างห้างสรรพสินค้า โดยประชาชนไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย ดังนั้น ถ้ามีความจริงใจที่จะสร้างสัญลักษณ์ใหม่ของเมืองควรเปิดกว้างให้สังคมได้รับรู้ ได้ร่วมแสดงความคิดเห็น โดยรัฐต้องเป็นเจ้าภาพทำเรื่องนี้เอง ทว่ารัฐไม่ออกตัวและให้เอกชนมาลงทุนแทน เมื่อเป็นเช่นนี้ประชาชนจึงไม่มีสิทธิ ไม่มีเสียง สุดท้ายกลายเป็นนโยบายที่รัฐโยนลงมาเช่นเคย ยิ่งไปกว่านั้นรัฐยังออกมาห้ามปรามคนวิพากษ์วิจารณ์เรื่องรูปแบบ ขนาดพื้นที่ หรือการเชื่อมโยงชุมชนต่างๆ อีกด้วย

"รัฐทำเพียงแค่บอกว่าเขาทำถูกกฎหมาย ใช้เงินของเอกชน แต่เรื่องพวกนี้ไม่ได้ตอบสังคมที่ต้องการมีส่วนร่วมในประเด็นสาธารณะ สวนทางกับยุทธศาสตร์ประชารัฐอย่างควรจะเป็น ทำให้สังคมตกเป็นฝ่ายจำยอมกับสิ่งที่เอกชนหยิบยื่นให้เท่านั้น แทนที่รัฐควรจะเป็นที่พึ่งแต่กลับไม่ทำ แล้วประชาชนจะพึ่งกลไกทางไหนได้อีก ฉะนั้นเรื่องของการสร้างหอชมเมืองกรุงเทพฯ ไม่มีประชาชนอยู่ในสมการ ประชารัฐที่จะเป็นตัวตั้งต้นของการพัฒนา แต่ถูกผลักออกมาเป็นเพียงผู้รับทราบขั้นตอนสุดท้าย" ยศพล กล่าว

ขณะที่ อันธิกา สวัสดิ์ศรี อาจารย์ภาควิชาสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ให้มุมมองทางด้านสนับสนุนการก่อสร้างหอชมเมืองกรุงเทพฯ เพื่อพัฒนาพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา โดยพื้นที่ราชพัสดุแห่งนี้มีความเหมาะสม เนื่องจากประเทศไทยเคยใช้ระบบคมนาคมทางน้ำเป็นหลัก แต่เมื่อมีสิ่งปลูกสร้างเกิดขึ้นบนผืนดินจึงเปลี่ยนมาเป็นคมนาคมทางบก ทำให้พื้นที่ริมน้ำถูกทิ้งร้างหลายแห่ง ขาดการพัฒนาอย่างเป็นระบบ ที่ผ่านมาปล่อยให้เอกชนทำกันเอง บางแห่งทำดีก็ออกมาสวยงามรักษาคุณค่าศิลปวัฒนธรรมเก่าแก่ไว้ได้ แต่บางแห่งกลายเป็นสถานที่ ลับตาเข้าไม่ถึง เป็นที่ทิ้งขยะ หรือเป็นชุมชนรุกล้ำในที่สุด ดังนั้น จึงเห็นด้วยที่รัฐจะเปิดทางให้เอกชนเข้ามาพัฒนาพื้นที่ โดยใช้การเดินทางด้วยเรือเป็นหลัก ส่งผลดีต่อเอกชนธุรกิจเดินเรือ ทั้งยังขยายการเชื่อมต่อคมนาคมไปยังเส้นทางอื่นๆ มากขึ้นตามไปด้วย

อย่างไรก็ตาม รัฐต้องตอบคำถามให้ชัดเจนเพราะผู้ที่ออกมาคัดค้านกำลังไม่ไว้ใจรัฐ เนื่องจากเอกชนเข้ามาบริหารจัดการก็ต้องมองเรื่องผลประโยชน์ตอบแทน ซึ่งตามหลักก็ควรเป็นเช่นนั้น แล้วรัฐได้ประโยชน์อะไร ประชาชนได้ประโยชน์อะไร คำถามเหล่านี้ต้องตอบให้ได้ ไม่ใช่ผลประโยชน์ตกอยู่กับเอกชนเพียงอย่างเดียว

อันธิกา กล่าวอีกว่า มติ ครม.ที่ออกมาดูจะเร่งรีบรวบรัด ขาดการทำประชาวิจารณ์ แตกต่างจากสิงคโปร์ที่วางแผนระยะยาวให้ประชาชนได้เห็นว่าต่อไปอีก 10 ปี จะต้องสร้างสิ่งนั้น หรืออีก 20 ปีจะเกิดสิ่งนี้ ทำให้สังคมได้เห็นแบบแผนในอนาคตก่อน แล้วมาร่วมวิจารณ์กันว่าเหมาะสมหรือไม่ ควรสร้างหรือไม่ สำหรับประเทศไทยมักทำไปโดยประชาชนรับทราบทีหลัง

"รัฐต้องสื่อสาร ชี้แจง ตอบทุกคำถามถึงข้อดีข้อเสียที่เกิดขึ้นให้มากกว่านี้ แทนที่สังคมจะร่วมสนับสนุนอาจกลายเป็นต่อต้านสิ่งที่รัฐมุ่งแต่จะทำ เพราะเรื่องนี้ประชาชนแทบไม่ได้ร่วมตัดสินใจด้วยเลย" อันธิกา กล่าวทิ้งท้าย

อาจารย์สถาปัตยกรรมศาสตร์ สจล. กล่าวทิ้งท้ายว่า ทุกวันนี้หลายประเทศกำลังนิยมใช้พื้นที่ริมแม่น้ำเป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่มากขึ้น เพราะมีความสวยงามสามารถดึงเม็ดเงินจากการท่องเที่ยวเข้ามาได้แน่นอน ดังนั้น จึงเห็นด้วยที่ควรมีการพัฒนาพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา เปิดโอกาสให้คนได้ใช้ประโยชน์ร่วมกันอย่างแท้จริง

ธนารักษ์แจง 3 ปมสงสัย

ระเบียบ คุ้มอินทร์ เลขานุการกรม ปฏิบัติราชการแทนอธิบดีกรมธนารักษ์ ชี้แจง 3 ข้อสงสัยต่อสังคม 1.โครงการนี้จะสร้างบนที่ดินราชพัสดุแปลงหมายเลขทะเบียนที่ กท.3275 แขวงคลองต้นไทร เขตคลองสาน กรุงเทพฯ เนื้อที่ 4-2-34 ไร่ โดยภาคเอกชนมีความประสงค์ที่จะทำโครงการซึ่งสอดคล้องกับนโยบายกรมธนารักษ์ โดยรวมตัวกันจัดตั้งเป็นมูลนิธิ หอชมเมืองกรุงเทพมหานคร มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดสร้างหอชมเมือง เพื่อเป็นสัญลักษณ์สำคัญของการรวมใจของคนไทยทั้งประเทศ

2.เอกชนเป็นผู้ลงทุนในการก่อสร้างมูลค่า 4,620 ล้านบาท และ 3.ไม่ใช้วิธีการประมูลงาน เนื่องจากเป็นโครงการที่มีลักษณะเชิงสังคมไม่ใช่เชิงพาณิชย์ ประกอบกับเป็นการดำเนินงานประชารัฐตามแนวนโยบายประชารัฐที่เกิดจากความร่วมมือของหลายภาคส่วนและขั้นตอนของกฎหมายร่วมลงทุน จึงนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบโดยไม่ต้องใช้วิธีการประมูล อันจะสามารถสนับสนุนการเผยแพร่ถึงการน้อมนำ "ศาสตร์พระราชา" มาใช้ในการพัฒนาประเทศทั้งในด้านเศรษฐกิจและสังคม

อีกทั้งจะเป็นสถานที่ท่องเที่ยวแห่งใหม่ ที่มีความโดดเด่นของเอกลักษณ์ไทยและเป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญแห่งยุคที่จะเป็น New Global Destination ที่จะช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวและส่งผลเกื้อหนุนต่อการเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจภายในประเทศและรายได้จากการดำเนินงานหลังหักค่าใช้จ่ายจะนำไปสนับสนุนกิจการสาธารณกุศลต่อไป