posttoday

สำรวจโครงการ "เรือคลองภาษีเจริญ" ขาดทุนเดือนละล้านกับอนาคตรอด-ไม่รอด?

05 กรกฎาคม 2560

วันนี้ผู้ใช้บริการเดินเรือคลองภาษีเจริญ มีจำนวนลดลงกว่าเมื่อก่อนอย่างเห็นได้ชัด อะไรเป็นชนวนเหตุทำให้ผู้ใช้บริการจากเดิมที่มีกว่า 3 พันคนต่อวัน เหลือเพียงวันละพันกว่าคน

โดย…วิรวินท์ ศรีโหมด

โครงการเดินเรือคลองภาษีเจริญ ตั้งแต่ท่าเทียบเรือประตูน้ำภาษีเจริญถึงซอยเพชรเกษม 69 ระยะทางประมาณ 11.5 กิโลเมตร เป็นนโยบายสาธารณะเพื่อประชาชนชาวกรุงเทพมหานคร (กทม.) โดยมีบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด ดำเนินการเพื่อส่งเสริมการสัญจรทางน้ำภายในคลอง และหวังให้เป็นอีกทางเลือกหนึ่งของการเดินทางในเขตบางแค ถนนเพชรเกษม และพื้นที่ใกล้เคียง

อย่างไรก็ตามความหวังดีดังกล่าวกำลังประสบกับความผิดหวัง เมื่อโครงการขาดทุนเดือนละมากกว่าล้านบาท โดยนับตั้งแต่เก็บค่าบริการ 15 บาทตลอดสาย ตั้งแต่ช่วงเดือนต.ค. 2559 ถึงวันนี้โครงการมีรายได้ 18 ล้านบาท ขณะที่รายจ่ายสูงถึง 27 ล้านบาท

คำถามก็คือ กทม.จะมีวิธีการบริหารและแบกรับภาระขาดทุนจากบริการสาธารณะนี้อย่างไร

“ช้า” เหตุผลหลักทำผู้โดยสารลด

สถิติจำนวนผู้ใช้ก่อนเริ่มเก็บค่าบริการ เม.ย.57 เดือนแรกที่เริ่มมีผู้ใช้บริการ 6,869 คน , มิ.ย.57 มี 46,010 คน , ส.ค.57 มี 49,429 คน , พ.ย.57 มี 54,441 , ก.พ.58 มี 54,609 , และพุ่งสูงมากที่สุดเดือน ก.ย.58 มีผู้ใช้บริการกว่า 73,831 คน แต่ปัจจุบันผู้ใช้บริการไม่เกิน 45,000 คนต่อเดือน

ธนายุทธ์ วรรณศิริ เจ้าหน้าที่ตำแหน่งนายท่าซึ่งทำงานมาตั้งแต่เริ่มโครงการเล่าว่า ช่วงแรกผลตอบรับของประชาชนผู้ใช้บริการดีมาก เพราะเส้นทางนี้ช่วยลดระยะเวลาการเดินทางบนถนนเพชรเกษม เนื่องจากเมื่อก่อนมีการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยาย (หัวลำโพง-บางแค) จึงทำให้รถติดไปถึงวงเวียนใหญ่ โดยเฉพาะช่วงเวลาเร่งด่วนเช้า-เย็น เรือคลองภาษีเจริญจึงตอบโจทย์ผู้โดยสาร และในช่วงแรกที่ใช้เรือไม้คล้ายกับคลองแสนแสบ สามารถบรรทุกผู้โดยสารได้มากกว่าเรือรุ่นใหม่ที่ใช้อยู่ปัจจุบันที่รับได้เพียง 60 คน

ความเปลี่ยนแปลงของตัวเลขผู้โดยสาร มองว่า เกิดหลังจากที่มีการเก็บค่าโดยสารประกอบกับการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน หลายจุดเสร็จแล้ว จึงทำให้ผู้โดยสารลดลงไปกว่า 40% ผู้โดยสารหันไปใช้บริการขนส่งสาธารณะบนถนนเพชรเกษมมากขึ้น เพราะสะดวกรวดเร็วกว่าและมีราคาใกล้เคียงกัน

“ผู้โดยสารต้องการความสะดวกรวดเร็ว แต่เรือไม่สามารถทำความเร็วได้มาก เพราะจะมีผลกระทบต่อชุมชนริมตลิ่ง เป็นเหตุผลทำให้ผู้โดยสารลดลง”

ปัจจุบันกลุ่มผู้โดยสารที่ยังใช้บริการอยู่หลักๆ คือ คนวัยทำงาน นักศึกษา นอกนั้นเป็นผู้สูงอายุเกิน 60 ปี เด็กอายุต่ำกว่า 12 ปี พระสงฆ์ คนพิการ โดยกลุ่มหลังได้รับการยกเว้นค่าโดยสาร

วิทยา ขาวบาง กะลาสีเรือ มองสอดคล้องกันว่าช่วงแรกที่เปิดให้บริการมีผู้ใช้จำนวนมาก แต่เมื่อเริ่มเก็บค่าโดยสารคนลดลงประมาณ 30% คิดว่าผู้โดยสารอาจหันไปใช้บริการสาธารณะรูปแบบอื่นที่สะดวกและคุ้มค่ากว่า ขณะที่ปัญหาขาดทุนคิดว่าเป็นเรื่องปกติของระบบบริการขนส่งสาธารณะที่จะได้กำไรน้อยหรือขาดทุนบ้าง ไม่ว่าจะเป็นรถไฟ-รถเมล์ฟรี เพราะเป็นสิ่งที่รัฐบาลสนับสนุนเพื่อต้องการส่งเสริมคุณภาพชีวิตประชาชน

วิทยา เสนอว่า ต้องพัฒนาเรื่องการประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างการรับรู้ คาดว่าจะทำให้มีผู้ใช้เพิ่มมากขึ้น

จำเรียง สุขสมยา หัวหน้าช่างและนายท้าย มองว่า ต้องปรับปรุงเรื่องความรวดเร็วของการให้บริการ แม้จะเพิ่มได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้น หรือทำให้จำนวนเรือมีเพียงพอรองรับกับความถี่ในการให้บริการแต่ละรอบ เนื่องจากขณะนี้มีเรือ 12 ลำ และยังมีขนาดเล็กกว่าเรือที่ใช้ช่วงแรก จึงทำให้ไม่สามารถรองรับผู้ใช้บริการได้เหมาะสม

สำรวจโครงการ "เรือคลองภาษีเจริญ" ขาดทุนเดือนละล้านกับอนาคตรอด-ไม่รอด? เรือไม่สามารถทำความเร็วได้ เพราะอาจทำให้ชุมชนริมตลิ่งได้รับผลกระทบ

 

ผู้โดยสารบ่น เรือน้อย-ขอเพิ่มเวลาช่วงเย็น

รุ้งทอง ร่วงม่วงศรี แม่บ้าน เล่าว่าใช้บริการเรือคลองภาษีเจริญมาตั้งแต่เริ่มเปิดทดลองนั่งฟรี เดินทางไปส่งลูกที่โรงเรียนซึ่งอยู่ไม่ไกลจากบ้านทุกวัน ถ้าหากนั่งรถเมล์ต้องเสียค่าบริการ 15 บาท จึงเลือกนั่งเรือเพียงไม่กี่ท่าและไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย แต่ช่วงหลังเมื่อเริ่มเก็บค่าโดยสาร ยอมรับว่าเปลี่ยนกลับไปนั่งรถเมล์ เพราะคิดว่าถึงอย่างไรก็จ่ายเท่ากัน แต่เร็วกว่า

“นั่งเรือ ต้องมานั่งรอเวลา หลัง 8 โมง จะรอนานกว่าปกติ ถ้าเสียเงินเท่ากับนั่งรถเมล์ ขอเลือกนั่งรถเมล์ดีกว่า”

รุ่งทอง ทิ้งท้ายว่า ผู้ใช้บริการคำนึงถึงเรื่องความรวดเร็วและสะดวกสบายมาก่อน หากไม่เสียเงินก็อาจนั่งรอได้ แต่เมื่อเสียเงินและค่ารถเท่ากัน จึงต้องเลือกทางที่ดีกว่า

มนันยา เจ้าหน้าที่รัฐ ผู้ใช้บริการ เล่าว่า ทำงานอยู่ย่านจามจุรีสแควร์และบ้านพักก็อยู่ไม่ไกลจากท่าเรือจึงเลือกใช้บริการทางเรือ เพราะหากนั่งรถจักรยานยนต์รับจ้าง ต่อรถเมล์เพื่อไปขึ้นรถไฟฟ้าที่สถานีบางหว้า ต้องเสียค่าใช้จ่ายมากกว่า ทั้งยังต้องเจอกับสภาพการจราจรติดขัด ซึ่งมีผลทำให้เหนื่อย เครียด

“ระบบนี้ก็สะดวกนะ สบายมาก ไม่เครียดเรื่องการเดินทาง นั่งรถตอนเช้าไม่ไหว ถนนเพชรเกษมตอนเช้าและเย็นติดมาก ตอนนี้ระบบการเดินทางเรือ และรถไฟฟ้าก็เชื่อมถึงที่ทำงานเลย แต่ถึงอย่างไรอยากให้ผู้บริหารโครงการช่วยปรับปรุงขยายเวลาให้บริการช่วงเย็นออกไปจากเดิม 19.30 น. เพิ่มอีกชั่วโมงหรือชั่วโมงครึ่ง เพื่อรองรับคนที่เลิกงานในช่วงเย็น” 

พัตรชรา ขุนประเสริฐ พนักงานบริษัทเอกชน อีกหนึ่งผู้ใช้บริการ กล่าวว่า ชอบการเดินทางด้วยเรือมาก ทำให้การเดินทางช่วงเวลาเร่งด่วนรวดเร็ว หากเทียบกับใช้รถก็จะต้องรู้สึกหงุดหงิดจากสภาพการจราจรบนถนนเพชรเกษม แต่ยอมรับว่าเวลาเร่งด่วนเช้าและเย็น มีผู้โดยสารหนาแน่นและเสียเวลารอนาน อาจเป็นสาเหตุทำให้คนเปลี่ยนไปใช้บริการขนส่งรูปแบบอื่น เช่น รถจักรยานยนต์รับจ้างที่รวดเร็วกว่า ดังนั้นจึงขอเสนอให้เพิ่มจำนวนเรือเพื่อรองรับผู้ใช้บริการมากกว่านี้

สำรวจโครงการ "เรือคลองภาษีเจริญ" ขาดทุนเดือนละล้านกับอนาคตรอด-ไม่รอด?

 

ขาดทุนบ้าง แต่ไม่ถึงขั้นต้องยุติ

ผู้บริหารสำนักการจราจรและขนส่ง (สจส.) กทม. ให้ข้อมูลว่า จุดเริ่มต้นโครงการเดินเรือภาษีเจริญเกิดจาก กทม. มองว่าคลองแห่งนี้มีศักยภาพด้านการให้บริการขนส่งทางน้ำ ที่จะช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรติดขัดของถนนเพชรเกษมได้ และต้องการทำให้ทัศนียภาพตามแนวคลองดีขึ้น เนื่องจากเมื่อก่อนตามแนวคลองมักมีวัยรุ่นมั่วสุมเสพยาเสพติด โครงการดังกล่าวทำให้ปัญหานี้หมดไป โดยช่วงแรกว่าจ้างบริษัท กรุงเทพธนาคม เข้ามาเดินเรือชั่วคราว แต่ปัจจุบันให้บริการเต็มตัว

ส่วนข้อกำหนดการให้บริการจะเน้นเรือความปลอดภัยและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไม่ให้มีผลกระทบต่อชุมชนริมสองฝั่งคลอง  โดยกำหนดให้ขับเรือด้วยความเร็ว 10 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เพื่อไม่ให้เกิดคลื่นน้ำไปทำลายตลิ่งริมฝั่ง ซึ่งยอมรับว่าเรือที่ใช้อยู่ในปัจจุบันไม่สามารถทำความเร็วได้ และมีขนาดเล็กกว่าเรือไม้ที่เคยใช้ ทำให้ไม่สามารถรองรับจำนวนผู้โดยสารได้มากเหมือนช่วงแรก เพราะเรือออกแบบมาเพื่อลดผลกระทบและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

ผู้บริหาร สจส. ยอมรับว่า ขณะนี้โครงการประสบกับภาวะขาดทุน โดยค่าโดยสารที่เก็บได้ในแต่ละวัน ไม่เพียงพอกับ งบประมาณที่ลงทุนไปในการจัดซื้อเรือ 12 ลำ ราคาลำละ 3.2 ล้านบาท และค่าบริหารบุคลากร ค่าเชื่อเพลิง ซึ่งมีค่าใช้จ่ายประมาณเดือนละมากกว่าหนึ่งล้านบาท แต่ถึงอย่างไร กทม.มองว่าเรื่องการให้บริการสาธารณะประชาชน บางครั้งจำเป็นต้องยอมแบกรับภาระบางส่วนนี้ไว้

เนื่องจากกลุ่มที่ได้รับการยกเว้นค่าโดยสาร คือ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุเกิน 60 ปี พระสงฆ์ และคนพิการ จึงเป็นหน้าที่ กทม. ต้องดูแลประชาชนผู้ไม่มีรายได้ประจำ ส่วนเหตุผลที่หลายฝ่ายมองว่าคนเปลี่ยนไปใช้การจราจรทางรถมากขึ้นนั้น ยังไม่สามารถยืนยันได้เพราะโครงการรถไฟฟ้าบริเวณถนนเพชรเกษมยังไม่เสร็จสมบูรณ์

ผู้บริหาร สจส. เปิดเผยทางแก้ปัญหาว่า มีการเสนอของบประมาณประจำปี 61 เพื่อเพิ่มท่าเรืออีก 4 แห่ง ตามแนวคลองเดิม และมีเอกชนเสนอทำให้อีก 1 ท่า (บริเวณเดอะนิช บางแค ) เพื่อเป็นการเพิ่มช่องทางเข้าถึง ขณะที่การเพิ่มจำนวนเรือเพื่อแก้ปัญหา คิดว่ายังไม่น่ากังวล เพราะระยะเวลาการให้บริการปัจจุบันเหมาะสมแล้ว ส่วนอนาคตมีแนวคิดขยายเส้นทางให้บริการไกลออกไปอีก

อย่างไรก็ตาม กทม. มอบให้บริษัท กรุงเทพธนาคม คิดหาวิธีลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มรายได้ เช่น อาจให้มีการติดตั้งโฆษณาภายในตัวเรือหรือตามท่าต่างๆ รวมถึงบริหารงานเชิงพาณิชย์ แต่ต้องไม่กีดขวางหรือเสียระดับการให้บริการ และช่วงกลางวันที่มีผู้โดยสารน้อย อาจนำเรือไปใช้ประโยชน์ทางอื่นเพื่อสร้างรายได้

“ผู้ว่า กทม. ไม่ยุติโครงการหรอก เพราะยังมีประชาชนใช้อยู่ โครงการเหล่านี้ตั้งขึ้นมาเพื่อบริการประชาชน เป็นทางเลือกอีกการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ เพื่อลดการแออัดบนท้องถนน ยังไงระบบบริการขนส่งสาธารณะ ก็ต้องขาดทุน ไม่ว่าจะเป็น ขสมก. การรถไฟ แต่มั่นใจว่าจะไม่ยุติโครงการ เพราะบริษัทกรุงเทพธนาคม มีหลายโครงการที่บริหารอยู่ เช่น รถไฟฟ้า ซึ่งยังคงได้กำไร อาจบริหารงบประมาณส่วนต่างให้สมดุล เพื่อการบริการสาธารณะแก่ประชาชนอย่างแท้จริง” 

สำรวจโครงการ "เรือคลองภาษีเจริญ" ขาดทุนเดือนละล้านกับอนาคตรอด-ไม่รอด?

สำรวจโครงการ "เรือคลองภาษีเจริญ" ขาดทุนเดือนละล้านกับอนาคตรอด-ไม่รอด? เส้นทางกลับกันของช่วงเวลาเร่งด่วนมักจะไม่มีผู้โดยสารสัญจร

สำรวจโครงการ "เรือคลองภาษีเจริญ" ขาดทุนเดือนละล้านกับอนาคตรอด-ไม่รอด? การบริการที่ใส่ใจเรื่องความปลอดภัย

สำรวจโครงการ "เรือคลองภาษีเจริญ" ขาดทุนเดือนละล้านกับอนาคตรอด-ไม่รอด? อัตราค่าโดยสาร

สำรวจโครงการ "เรือคลองภาษีเจริญ" ขาดทุนเดือนละล้านกับอนาคตรอด-ไม่รอด? สภาพถนนเพชรเกษมในวันนี้ที่การจราจรดีขึ้น