posttoday

รุมค้านทางเลียบเจ้าพระยา ทุ่มงบมหาศาลสร้างไม่คุ้มค่า

22 พฤษภาคม 2560

โครงการนี้กำลังทำให้นักวิชาการเป็นกังวลว่าจะเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมรุนแรง กระทั่งไม่อาจกู้คืนมาได้อีก

โดย...นิติพันธุ์ สุขอรุณ

โครงการก่อสร้างทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยาในพื้นที่นำร่องตั้งแต่สะพานพระราม 7 ถึง สะพานปิ่นเกล้า รวมระยะทางทั้งสองฝั่งกว่า 14 กิโลเมตร โดยเป็นแผนก่อสร้างแลนด์มาร์คแห่งใหม่ให้คนเมือง ได้ที่สถานที่พักผ่อนหน่อยใจ ออกกำลังกาย ปั่นจักรยาน และเป็นพื้นที่ส่งเสริมการท่องเที่ยวของประเทศ ทว่าโครงการนี้กำลังทำให้นักวิชาการเป็นกังวลว่าจะเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมรุนแรง กระทั่งไม่อาจกู้คืนมาได้อีก

ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ กรรมการมูลนิธิศิลปวัฒนธรรมแห่งชาติกรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า โครงการก่อสร้างทางเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา จะกลายเป็นเหมือนโครงการโฮปเวลล์ที่ล้มเหลวไม่เป็นท่า และน่าแปลกที่โครงการใหญ่ๆมักเกิดในรัฐบาลที่มุ่งหวังใช้อำนาจของตัวเอง ไม่ก่อให้เกิดผลประโยชน์ต่อสาธารณะ ส่งผลกระทบต่อประวัติศาสตร์วิถีชีวิตริมน้ำ ทั้งยังไม่ถามความคิดเห็นจากประชาชน ผิดจากในต่างประเทศเขามีสวยสาธารณะริมน้ำเช่นกัน แต่เขาไม่ทำลายวัฒนธรรม สิ่งแวดล้อมที่มีมาแต่เดิม

มาริสา สุโกศล นักธุรกิจโรงแรม กล่าวว่า ทุกวันนี้โรงแรมริมแม่น้ำกำลังพัฒนาธุรกิจควบคู่ไปกับการ   อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม  โดยมีจุดมุ่งหมายรักษาพื้นที่ริมน้ำให้คงอยู่ในสภาพสมบูรณ์ แต่หากสร้างทางเลียบแม่น้ำแล้วจะต้องสร้างท่าเรือสำหรับผู้โดยสารใหม่ ซึ่งต้องมีขนาดยาวยื่นออกไปในแม่น้ำต่อจากทางเลียบ ส่งผลให้แม่น้ำแคบลง การเดินเรือยากลำบากมากขึ้น ผลกระทบร้ายแรงที่เกิดจากทางเลียบเจ้าพระยาอาจทำให้สูญเสียแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของกรุงเทพฯโดยไม่รู้ตัว ทั้งๆที่มีจุดมุ่งหมายเพื่อสร้างเป็นแลนด์มาร์ค แต่กลับไม่เหลือความสวยงามของแม่น้ำที่อย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ให้นักท่องเที่ยวได้ชื่นชมและถ่ายภาพ หากภาครัฐต้องการสร้างสวนสาธารณะ สร้างสวนหย่อมเพิ่มพื้นที่สีเขียว ทำไมไม่ร่วมมือกับภาคเอกชนมาช่วยพัฒนาอย่างยั่งยืนมากกว่า ซึ่งไม่จำเลยที่เป็นต้องใช้เงินงบประมาณจำนวนมหาศาลทุ่มให้สิ้นเปลืองเช่นนี้

สิตางศุ์ พิลัยหล้า นักวิชาการชลศาสตร์ กล่าวว่า ประชาชนยังไม่เข้าใจจุดมุ่งหมายของโครงการนี้ว่าสร้างเพื่ออะไร เนื่องจากตอนแรกบอกเป็นพื้นที่สำหรับปั่นจักรยาน มีสวนหย่อมเป็นพื้นที่สีเขียว ต้องถามกลับว่าแนวคิดนี้ได้ตอบสนองการใช้ชีวิตจริงหรือไม่ ทั้งที่ประเทศไทยมีพื้นที่สีเขียวหลายแห่ง แต่ไม่ได้รับการพัฒนา โดยโครงการนี้ไม่ใช่โครงการใหม่ แต่เป็นการนำแผนก่อสร้างถนนริมแม่น้ำเพื่อแก้ปัญหาจราจรในอดีตมาปัดฝุ่น จึงขอตั้งข้อสงสัยว่า ได้ศึกษาทุกแง่มุมผลกระทบแล้วหรือไม่ ได้ศึกษาหรือไม่ว่าสร้างแล้วจะเปลี่ยนให้คนหันมาปั่นจักรยานแทนการขับรถยนต์ เพราะหากตอบไม่ได้ การก่อสร้างก็ไม่คุ้มค่าตั้งแต่ยังไม่เริ่มแล้ว

“ประเทศไทยต้องปฏิรูปเรื่องการรับฟังความเห็นจากภาคประชาชนในพื้นที่ เพราะภาครัฐไม่เคยฟังประชาชนเลย หรือหากฟังก็ใช้เวลาเพียง 7 เดือนเท่านั้น ซึ่งน้อยมากเมื่อเทียบการโครงการใหญ่เช่นนี้ ทำให้สงสัยว่าได้ผ่านการศึกษาผลกระทบครอบคลุมแน่ชัดจริงหรือไม่ ขอฝากไปถึงคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ควรนำงบประมาณไปแก้ปัญหาเรื่องภัยธรรมชาติ เพิ่มพื้นที่สีเขียว เพิ่มการเข้าถึงการรักษาอย่างมีคุณภาพ มากกว่ากำลังนำเงินหลายพันล้านบาทมาละลายโดยไม่เกิดประโยชน์”สิตางศุ์ กล่าว

นพ.นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า หลักสิทธิมนุษยชนอยู่ภายใต้ นิติรัฐ นิติธรรม ไม่ใช่ยึดหลักของพล.อ.ประยุทธ์ จัทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ฉะนั้นโครงการขนาดใหญ่นี้ใช้เงิน 1.4 หมื่นล้านบาท ไม่ได้ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชน เพราะไม่ฟังเสียงของประชาชน แต่ไปฟังเสียงของนายทุนสุ่มเสี่ยงเกิดการทุจริตคอรัปชั่น ประเทศไทยมีจุดอ่อนเรื่องนี้มากที่สุดคือไม่เข้าใจการมีส่วนร่วม หากใครคัดค้านก็จะบอกว่ากระทบต่อความมั่นคง

ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ มีความต้องการพัฒนาที่ยั่งยืน อยากให้เป็นไทยแลนด์ 4.0 พ้นจากกับดักเรื่องความเลื่อมล้ำ เพิ่มรายได้คนระดับปานกลาย ปัญหาเหล่านี้ยังไม่ได้รับการแก้ไข แต่ไปทุ่มงบประมาณเพื่อทำลายสิ่งแวดล้อม

ดวงฤทธิ์ บุนนาค สถาปนิก กล่าวว่า ยอมรับว่าจะจะมีโครงการนี้ผุดขึ้นมา ได้มีเจ้าหน้าที่ กทม. มาล็อบบี้ ขอให้ช่วยออกแบบให้ โดยใช้รูปแบบเหมือนทางด่วน เมื่อพวกเราสถาปนิกตรวจสอบดูก็ตกใจว่า ทำตามรูปแบบเช่นนี้ไม่ดีต่อสิ่งแวดล้อม จึงพยายามทำให้เรื่องแดงขึ้นมาเพื่อยับยั้ง ขอตั้งข้อสังเกตว่าสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (จสล.) เข้ามาทำการศึกษา โดยไม่มีสถาปนิกองค์กรอื่นเข้าร่วม แล้วจะถือว่าได้รับการรับรองได้อย่างไร

“การที่ต้องการสร้างริมเจ้าพระยา เพราะไม่ต้องวุ่นวายเรื่องเวนคืนที่ดิน สามารถเริ่มก่อสร้างได้ทันที ใช้เงินได้ทันที อย่างลืมว่าโปรเจ็คนี้ไม่มีสถาปนิกคนไหนเลยเห็น ดังนั้นแนวทางที่จะหยุดโครงการคือต้องฟ้องร้องด้วยกฎหมาย เพื่อไม่ให้เกิดความสูญเสียต่อแม่น้ำ”ดวงฤทธิ์ กล่าว

ยศพล บุญสม ผู้ร่วมก่อตั้งกลุ่ม เฟรนด์ ออฟ เดอะ ริเวอร์ กล่าวว่า ในเดือน ก.ย.นี้ อาจได้เห็นตอม่อหลายพันต้นอยู่ในน้ำ เมื่อเป็นเช่นนั้นจะมีการฟ้องร้องโดยประชาชนที่เสียประโยชน์ สุดท้ายโครงการต้องหยุดชะงักลงและสร้างต่อไม่ได้ ทว่าความเจ็บปวดเกิดขึ้นเมื่อต้องเสียเงินอีกก้อนหนึ่งมารื้อตอม่อที่ลงไปแล้ว กลายเป็นเรื่องน่าเสียใจซ้ำแล้วซ้ำอีก

อย่างไรก็ตาม เหล่านักวิชาการพยายามยับยั้งทุกทางแล้ว เช่น ลงพื้นที่พบประชาชนชี้ให้เห็นถึงปัญหา หรือสะท้อนภาพความเสียหายกลับมายังภาครัฐ แต่ถ้ายังเดินหน้าสร้างต่อไปก็เหลือช่องทางเดียว คือ ฟ้องศาลปกครอง

จุลจักร จักรพงษ์  ศิลปินนักแสดง กล่าวว่า เรื่องนี้แสดงให้เห็นถึงความรีบร้อน ทำไมไม่ค่อยๆทำ หาวิธีที่เรียบง่ายและประหยัดเงินที่สุด หากโครงการนี้เป็นเรื่องดีทำไมต้องทำให้เป็นความลับแบบนี้ ในเมื่ออาจเกิดผลกระทบหลายอย่าง หากเรามองทิวทัศน์ของเจ้าพระยา จะพบว่าแทบไม่เปลี่ยนไปจากอดีตที่ผ่านมา ระหว่างทางสามารถพบเห็นได้ทุกศิลปะ วัฒนธรรม และทุกศานา เป็นสายเชื่อมโยงสู่อดีตของผู้คน ถือเป็นหลักฐานของประวัติศาตร์ หากตัดทิ้งลบล้างออกไป เราจะเป็นประเทศที่ไม่มีอนาคต เพราะอนาคตสร้างขึ้นจากอดีที่หยั่งรากลึก ฉะนั้นต้องมีคำตอบว่าทำไมต้องรีบสร้างให้ได้ ทำไมต้องเป็นความลับ เพราะชุมชนคือสถาบันส่วนใหญ่ของสังคมไทย จึงควรฟังเสียง ฟังความคิดเห็นของประชาชน

“ผมหวังดีต่อผู้ที่อยู่ริมน้ำ และหวังดีต่อรัฐบาล เชื่อว่าโครงการนี้ยังถอยได้ รอได้ ยืนยันว่าไม่ได้ออกมาต่อต้านโดยสิ้นเชิง หากเป็นเรื่องดีก็พร้อมสนับสนุน แต่เพราะประเทศไทยยังมีความเดือดร้อนของประชาชนที่ต้องไปทำก่อน โครงการที่ใช้เงินทุนมหาศาลนี้รอไปก่อนได้ ไม่แน่หากชะลอออกไปแล้วไปแก้ปัญหาเรื่องสำคัญอื่นๆก่อน อาจทำให้ประชาชนมีส่วนร่วมกับรัฐบาลมากกว่าที่เป็นอยู่”จุลจักร กล่าว