posttoday

หน้าร้อนระวังเพลิงไหม้ วอดวายเฉลี่ย 800-1,200ครั้ง/ปี

21 มีนาคม 2560

กว่า 11 ปีที่ผ่านมาไม่เคยพบเหตุเพลิงไหม้ครั้งใหญ่ 2 ครั้งในวันเดียวเช่นนี้ ถือได้ว่าเป็นวันโลกาวินาศก็ว่าได้

โดย...นิติพันธุ์ สุขอรุณ

วันที่ 20 มี.ค. กรุงเทพมหานคร ต้องเผชิญกับเหตุอัคคีภัยครั้งใหญ่ถึง 2 แห่งด้วยกัน เริ่มตั้งแต่ช่วงเช้ามีเหตุเพลิงไหม้ศูนย์การค้าฟอร์จูนทาวน์ ถนนรัชดาภิเษก เขตดินแดง บริเวณโซนพลาซ่า จุดเกิดเหตุเป็นร้านขายเครื่องเสีย ต่อจากนั้นในช่วงเย็นเกิดเพลิงไหม้ที่อาคารการประปาส่วนภูมิภาค สำนักงานใหญ่ ซอยแจ้งวัฒนะ 1  เขตหลักสี่ นับได้ว่าเป็นวันที่เมืองกรุงต้องผจญเปลวเพลิงตั้งแต่เช้าไปจนถึงค่ำในวันเดียว

พ.ต.อ.เทวานุวัฒน์ อนิรุทธเทวา รองผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า จากสถิติที่ผ่านมาพบว่า ช่วงฤดูร้อนมักมีโอกาสที่จะเกิดเหตุเพลิงไหม้เพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากมีการเปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งวัน กระทั่งอุปกรณ์ไฟฟ้าทำงานหนักจนรับภาระไม่ไหว นำไปสู่การหลอมละลายและช็อตขึ้นในที่สุด

ทั้งนี้ อาคารที่พักอาศัยโดยเฉพาะห้องแถว มีสถิติเกิดเพลิงไหม้มากที่สุดคิดเป็น 60-70 % เพราะอาคารเหล่านี้ใช้ชั้นล่างเป็นพื้นที่พาณิชย์ มีการเสียบเครื่องใช้ไฟฟ้าหลายแห่ง ส่วนชั้นบนเป็นที่พักอาศัยที่ติดตั้งลูกกรง เหล็กดัด เมื่อเกิดเหตุไฟไหม้จะทำให้ไม่สามารถหนีออกจากอาคารได้ ดังนั้นควรทำเป็นช่องทางให้หนีได้ในช่วงเหตุฉุกเฉิน โดยเก็บกุญแจล็อคไว้ในที่สามารถจดจำและค้นหาได้ง่าย

ถัดมาคือ บ้านพักอาศัยที่เปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าทิ้งไว้ โดยมักเลือกซื้อเต้าเสียบปลั๊กไฟไม่ได้มาตรฐาน นำมาเสียบใช้ไฟฟ้ากับทุกอุปกรณ์จำนวนมาก อาทิ คอมพิวเตอร์ ปริ้นเตอร์ โทรศัพท์มือถือ พัดลม รวมถึงศาลเจ้าที่ของคนไทยเชื้อสายจีนที่วางกับพื้นเกิดไฟลุกไหม้บ่อยที่สุด

สำหรับสถิติช่วง 5 ปีที่ผ่านมาพบว่า อัคคีภัยที่เกิดขึ้นเฉลี่ย 800-1,200 ครั้ง/ปี คิดเป็น 4-5 ครั้ง/วัน ส่วนสถิติช่วงปี58 เป็นต้นมาพบว่าเพลิงไหม้อาคารสาเหตุมาจากไฟฟ้าลัดวงจร 646 ครั้ง ถัดมาปี 59 เพลิงไหม้ 681 ครั้ง และปี 60 ตั้งแต่เดือน ม.ค.-ก.พ. เกิดเหตุพลิงไหม้จากไฟฟ้าลัดวงจรแล้วจำนวน 107 ครั้ง 

อย่างไรก็ตามการรับมือของประชาชนที่ทำได้คือการมั่นดูแลเตาแก็ส ปลั๊กไฟ ควรปิดทุกครั้งเมื่อไม่ใช้งาน โดยเฉพาะธูปเทียนมักเป็นสาเหตุส่วนใหญ่ที่ก่อให้เกิดเพลิงไหม้อยู่เสมอ

หน้าร้อนระวังเพลิงไหม้ วอดวายเฉลี่ย 800-1,200ครั้ง/ปี

พ.ต.อ.เทวานุวัฒน์ กล่าวอีกว่า ทางสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ทำโครงการรณรงค์ให้ความรู้กับประชาชน งบประมาณปี 60 จำนวน 19 ล้านบาท ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนโทรเข้ามายังสายด่วน 199 เพื่อรับเรื่องร้องเรียนสำหรับแจ้งเหตุสาธารณะภัย เหตุเพลิงไหม้โดยเฉพาะ ซึ่งจะมีคู่สายโทรศัพท์จำนวน 50 สายพร้อมรับตลอด 24 ชั่วโมง

ด้านการป้องกันในสถานที่ราชการ ส่วนงานราชการควรดูแลอุปกรณ์อาคารให้อยู่ในสภาพใหม่ อย่าปล่อยให้เก่า รวมถึงติดตั้งถังเพลิงขนาด 9-10 กิโลกรัม ให้ครอบคลุมพื้นที่ชั้นสำนักงานได้ทั้งหมด จะให้ดียิ่งขึ้นควรติดตั้งเครื่องแจ้งเตือนควันภายในห้อง เพื่อเป็นการแจ้งถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดเพลิงไหม้ขึ้น หากรู้ตัวได้เร็วก็จะรักษาความชีวิตและทรัพย์สินได้มากขึ้นตามไปด้วย

รองผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เล่าว่า เหตุเพลิงไหม้ที่การประปาส่วนภูมิภาค เกิดขึ้นภายในอาคารเก่าซึ่งไม่มีที่ดับเพลิง อีกทั้งใช้สถานที่เก็บเอกสารจำนวนมาก ดังนั้นสถานที่ราชการควรสำรวจว่าบริเวณใดมีเอกสารหรือวัสดุที่อาจเกิดไฟไหม้ขึ้นได้นั้น ต้องทำการปรับปรุงรับมือ หรือซ้อมหนีภัยอยู่เป็นประจำ

"กว่า 11 ปีที่ผ่านมาไม่เคยพบเหตุเพลิงไหม้ครั้งใหญ่ 2 ครั้งในวันเดียวเช่นนี้ ถือได้ว่าเป็นวันโลกาวินาศก็ว่าได้ จึงควรป้องกันตั้งแต่ต้นจึงเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ซึ่งต้องคอยตรวจสอบอาคารสำนักงาน สถานที่ราชการ หรือบ้านเรือน ชุมชนทุกแห่งและซ้อมดับเพลิงอย่างสม่ำเสมอ เพียงเท่านี้ก็สามารถลดโอกาสเกิดเพลิงไหม้ได้แล้ว"พ.ต.อ.เทวานุวัฒน์ กล่าว