posttoday

"หลับห้าตื่น ฟื้นมายังแดง" เสียงครวญจากคนกรุงฯ หายนะแยกรัชโยธิน

25 มกราคม 2560

หลากเสียงคนกรุงฯ ต่อปัญหาจราจรบริเวณแยกรัชโยธิน ผลกระทบจากการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเขียว

โดย..วรรณโชค ไชยสะอาด

“แยกรัชโยธิน ไฟแดงห้าชาติ ไฟเขียวห้าวิ หลับห้าตื่น ฟื้นมายังแดง, แยกรัชโยธิน ติดฟินๆได้ทุกวัน, สี่แยกนรกรัชโยธิน ติดชาตินี้ถึงชาติหน้า, ติดชาตินี้ ขยับอีกทีชาติหน้า” ตัวอย่างประโยคตัดพ้อจากคนกรุงฯ ที่ต้องเดินทางสัญจรผ่านแยกรัชโยธินซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวเส้นทาง หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต โดยล่าสุดเจ้าหน้าที่ได้มีการปรับรูปแบบจราจรบริเวณแยกดังกล่าวเป็นวงเวียน รถยนต์ทุกด้านที่มุ่งหน้าเข้าสู่แยกรัชโยธินจะต้องวนเข้าวงเวียน โดยมีสัญญาณไฟจราจรควบคุม

น่าสนใจว่า ชีวิตการเดินทางของคนกรุงฯ บริเวณนี้เปลี่ยนแปลงไปอย่างไรกัน?

"หลับห้าตื่น ฟื้นมายังแดง" เสียงครวญจากคนกรุงฯ หายนะแยกรัชโยธิน

ตื่นเช้า ออกเย็น เทคนิคปรับตัวของคนทำงาน

ปัญหาการจราจรที่เกิดขึ้นทำให้พนักงานออฟฟิศและใครหลายคนที่ต้องเดินทางผ่านเส้นทางดังกล่าวเริ่มปรับตัว

ปัญญา ใจกล้า อายุ 30 ปี พนักงานออฟฟิศ เลือกเปลี่ยนแปลงเวลาตื่นนอนให้เช้าขึ้นและยอมเสียเงินในการเดินทางเพิ่มเติมให้กับวินมอเตอร์ไซค์หากจำเป็น

“ตั้งแต่มีการก่อสร้างผมปรับตัวเยอะเหมือนกัน โดยเฉพาะเรื่องเวลา เมื่อก่อนออกจากบ้าน 9 โมงเช้า เดี๋ยวนี้ 8 โมงก็ต้องออกแล้วเพื่อให้เข้างานทัน หลายครั้งก็เลือกใช้บริการวินมอเตอร์ไซค์แทน ส่วนช่วงเย็นเลิกงานก็ออกช้าหน่อย ให้รถเริ่มคลี่คลาย อีกอย่างที่กระทบชัดเจนคือ เวลามีธุระในช่วงเย็นพลาดบ่อยเพราะรถติดครับ”

เช่นกันกับ นาเดีย พรธิดา พนักงานสาวที่ตื่นเช้าขึ้น พร้อมกับหันไปใช้รถสาธารณะเพื่อลดความอ่อนล้าจากการขับรถส่วนตัว

“เมื่อก่อนเราใช้รถส่วนตัว พอมีการก่อสร้างก็เปลี่ยนมานั่งแท็กซี่ เพราะขับเองรู้สึกเพลีย เวลามันกลายเป็นเรื่องที่เราต้องให้ความสำคัญกับมันมาก สายไป 30 นาทีชีวิตเปลี่ยนเลย ค่าแท็กซี่จากราชพฤกษ์มาถึงออฟฟิศปกติ 200 บาท จะกลายเป็น 400 บาททันที”

วิธีลดความเครียดบนท้องถนนของนาเดียคือ การติดต่อสื่อสารกับเพื่อนหรือหาความบันเทิงผ่านทางสมาร์ทโฟน ที่สำคัญขอไม่รับฟังข่าวสารการรายงานสถานการณ์รถติดบริเวณแยกรัชโยธินเด็ดขาด เพราะเมื่อไม่รับรู้ ก็เท่ากับไม่เครียด

“วิทยุรายงาน การจราจรแยกรัชโยธินไม่เคลื่อนตัว เราได้ยินแล้วหมดอารมณ์ เพราะงั้นไม่ฟังดีกว่า”

"หลับห้าตื่น ฟื้นมายังแดง" เสียงครวญจากคนกรุงฯ หายนะแยกรัชโยธิน


เบญจมาศ พิมพาแป้น เล่าว่า เมื่อก่อนใช้เวลาแค่ 10 นาทีในการเดินทางจากบ้านถึงสถานที่ทำงาน แต่นับตั้งแต่มีโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้า เวลาการในการเดินทางก็เพิ่มสูงถึง 45 นาที ขณะที่ค่าน้ำมันและความเสี่ยงอุบัติเหตุก็เพิ่มตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

“ขามาว่าหนักแล้ว ขากลับไม่ต้องพูดถึง รถติดมาก เสียค่าน้ำมันเพิ่มขึ้น ช่องทางจราจรก็แคบลงทำให้มีรถปาดกันไปปาดกันมาเสี่ยงต่ออุบัติเหตุและทำให้รถเคลื่อนตัวได้ช้ามาก”

กุลิสาณัชช์ สายพร้อมญาติ บอกว่า ทุกวันนี้ต้องแย่งกันใช้บริการรถสาธารณะเนื่องจากไม่มีใครอยากรอรถเป็นเวลานาน หากเสี่ยงต่อการไปทำงานไม่ทันก็ต้องยอมเสียค่าใช้จ่ายให้กับวินมอเตอร์ไซค์

“ค่าใช้จ่ายเป็นเรื่องที่เราหนีไม่พ้น บางวันรอรถนานมากก็ต้องยอมขึ้นวินมอเตอร์ไซต์ บางวันเร่งๆ ก็ใช้เส้นทางอื่นเพื่อเลี่ยงรถติด แต่ก็ต้องต่อรถหลายต่อ เมื่อก่อนเดินทางไม่ถึง 30 นาที วันนี้เกือบชั่วโมง  ถึงเวลาเลิกงาน 5 โมงเย็นก็ยังกลับบ้านไม่ได้ ต้องออกสักทุ่มนึง ไม่งั้นติดหนัก แต่เราไม่เครียดหรอกเพราะทำใจตั้งแต่ประกาศปิดสะพานแล้ว” พนักงานออฟฟิศสาวกล่าวด้วยรอยยิ้ม

นัฎชรี ทองเพ่งพิศ บอกว่า เลือกใช้เวลาหลังเลิกงานระหว่างรอสถานการณ์บนท้องถนนคลี่คลายไปกับการออกกำลังกายเพื่อพัฒนาตัวเอง

“ทำไรไม่ได้ ด่าไปรถก็ติดอยู่ดี  เมื่อก่อนกลับบ้านทางเซ็นทรัล ลาดพร้าว รถติดมาก ก็จะแวะเดินเล่น กินข้าวในนั้น พอรถติดมากๆเข้า ตั้งแต่แยกรัชโยธิน ก็เลยไม่ไปทางนั้นแล้ว ดีเหมือนกัน ไม่เสียเงิน ทุกวันนี้เลิกงานก็เอาเวลาไปวิ่งออกกำลังกายที่ทำงานแทน รอรถหายติดค่อยกลับบ้าน ว่าไปแล้วรถติดก็ส่งผลกระทบในด้านที่ดีอยู่นะ”นัฎชรี หัวเราะ

"หลับห้าตื่น ฟื้นมายังแดง" เสียงครวญจากคนกรุงฯ หายนะแยกรัชโยธิน

เบื่อ เครียด รายได้ลด

พนักงานหนุ่มสาวคนทำงานปรับตัวด้วยการตื่นนอนให้เช้าขึ้น และอยู่ออฟฟิศให้นานกว่าเดิม เพื่อรอการจราจรคลายตัว แต่สำหรับคนมีอาชีพเป็นพนักงานขับรถโดยสารสาธารณะแล้ว ทางเลือกของพวกเขานั้นต่างออกไป 

ณรงค์ ศิริชัยอินทร์ คนขับตู้โดยสารสายปากเกร็ด–บางกะปิ เล่าว่า ปัญหารถติดนั้นส่งผลกระทบทั้งต่ออารมณ์และรายได้ เนื่องจากผู้โดยสารเลือกไปใช้เส้นทางอื่น ขณะที่เวลาในการขับรถก็ลดน้อยลง

“ไม่อยากพูดถึงเลย จากแถวเกษตรกว่าจะผ่านแยกรัชโยธินได้ต้องมีต่ำๆ ครึ่งชั่วโมง ก่อนหน้านี้วิ่งได้วันละ 3 รอบ จากปากเกร็ดไปบางกะปิ ทุกวันนี้เหลือ 2 รอบ รอบละเกือบ 5 ชั่วโมง ต่างจากเมื่อก่อนแค่ 3 ชั่วโมงก็อยู่แล้ว ทีนี้พอวิ่งน้อย ผู้โดยสารก็น้อย รายได้ก็ลด”

โชเฟอร์วัยเก๋า บอกว่า ปัจจุบันเมื่อขับรถไปถึงบริเวณแยกเกษตรศาสตร์ ต้องประเมินว่า การจราจรเส้นทางมุ่งหน้าถนนพหลโยธินนั้นรุนแรงหรือไม่ หากรุนแรงก็จำเป็นต้องบอกผู้โดยสารในรถว่า ขออนุญาตเปลี่ยนไปใช้เส้นทางวิภาวดีรังสิตแทน ซึ่งหลายคนเข้าใจและไม่มีปัญหา

“มันต้องทำเวลาด้วยครับ บางคันเขาก็เลือกวิ่งลงอุโมงค์ แล้วไปตัดเข้าที่แยกวังหินและซอยเสือใหญ่ คนขับก็พยายามปรับเส้นทางให้ห่างไกลจากเสนานิคมและเมเจอร์ เพราะเข้าไปแล้วไม่คุ้มกับเวลาที่เสียไป แถมบางทียังไม่ได้คนอีก”

ดวงใจ บุญส่ง อายุ 50 กระเป๋ารถเมล์สาย 126 รามคำแหง-บางเขน บอกให้ฟังว่า มีแค่ช่วงเช้าเท่านั้นที่รถเมล์จะยอมฝ่าการจราจรไปถึงบางเขน ขณะที่รอบอื่นๆ ไปถึงเเค่แยกรัชโยธินเท่านั้น ก่อนวนกลับไปยังรามคำแหง

“ไม่ไหวจริงๆ รถมันติดหนักมาก เมื่อก่อนใช้เวลาไม่เกิน 2 ชั่วโมงต่อรอบ แต่ทุกวันนี้ต้องมี 3 ชั่วโมง”

ด้าน สมบุญ กาสิงห์ 51 ปี แท็กซี่หนุ่มใหญ่ บอกว่า ปัญหารถติดนั้นส่งผลให้เกิดเหตุการณ์ผู้โดยสารทิ้งแท็กซี่กลางทางอยู่บ้าง ซึ่งเข้าใจและพอยอมรับได้ เนื่องจากผู้โดยสารหลายคนต้องรีบเร่งไปทำงานให้ทัน

“เมื่อวานติดอยู่แยกประชานุกูลจะเข้ารัชดา 30 นาทียังไปไม่ได้  เลยตัดสินวกรถกลับไปเส้นอื่น รถติดหนักจริงๆ ทุกวันนี้แท็กซี่บางคนถึงขนาดกลัวผู้โดยสารทิ้ง ขึ้นมาแล้วอาจมีบอกว่า ถ้าไปแล้วอย่าทิ้งกันนะครับ เพราะบางคนพอติดนานเข้า ขอลงตรงนั้น แล้วต่อวินมอเตอร์ไซค์เลย”

"หลับห้าตื่น ฟื้นมายังแดง" เสียงครวญจากคนกรุงฯ หายนะแยกรัชโยธิน

วินมอเตอร์ไซค์รายได้กระฉูดวันละ 1,200

ท่ามกลางเสียงบ่นเรื่องรถติดวินาศสันตะโร มีคนอีกกลุ่มได้ประโยชน์เพิ่มขึ้นมหาศาล

ธันวา ปทุมานนท์ วินมอเตอร์ไซค์บริเวณคอนโดเเยกรัชโยธิน บอกว่า รายได้เพิ่มจากเดิมเท่าตัว เมื่อก่อนที่ได้วันละ 500-600 บาท เพิ่มเป็น 1,000-1,200 บาทสาเหตุที่คนเลือกใช้เพราะมีความคล่องตัวกว่ารถยนต์และรถโดยสารทั่วไปมาก โดยเฉพาะในช่วงเวลาเร่งด่วน

“ตั้งแต่ 7 โมงถึง 9โมงเช้า และ 5 โมงถึง 1 ทุ่ม ผู้โดยสารเยอะมาก จนต้องนั่งรอคิว บางคนนั่งแท็กซี่ รถตู้ รถเมล์มา รถติดทนไม่ไหวก็ลงกลางทาง เรียกวินไปทำงานต่อ มีให้เห็นเยอะครับช่วงนี้”

ก้องเกียรติ์ คลังทรัพย์ วินมอเตอร์ไซค์แยกรัชโยธิน บอกว่า โอกาสสร้างรายได้ของเขานั้นเพิ่มมากขึ้น จากเส้นทางระยะไกลที่น้อยคนนักจะเลือกใช้บริการในช่วงเวลาปกติ

“เมื่อก่อนเขานั่งกันใกล้ๆ 20-30 บาท แต่เดี๋ยวนี้รถติดมาก แท็กซี่ก็รอนาน เพราะไม่มีใครอยากเข้ามา  คนรอก็เครียด หนักเข้าก็เริ่มเอาสะดวก ประหยัดเวลา ยอมจ่ายแพงเพื่อขึ้นวินไปต่อรถที่อื่น 60-70 บาทก็ยอมจ่าย บางคนขึ้นจากแยกไปถึงบ้านที่รามคำแหงเลยก็มี”

อย่างไรก็ตามก้องเกียรติ์ บอกว่า หากเป็นช่วงเวลาที่รถติดหนัก เบียดเสียดกันทั้งรถเมล์ รถตู้ รถแท็กซี่และรถยนต์ส่วนตัว มอเตอร์ไซค์อย่างพวกเขาก็ลำบากและเหนื่อยไม่น้อยกับการฝ่าฝันอุปสรรคบนท้องถนน

"หลับห้าตื่น ฟื้นมายังแดง" เสียงครวญจากคนกรุงฯ หายนะแยกรัชโยธิน

คนเริ่มปรับตัวกับรูปแบบใหม่

ข้อมูลจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย ระบุว่า มีรถผ่านแยกรัชโยธินโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 2 แสนคัน/วัน ผ่านไปถนนพหลโยธินประมาณ 6 หมื่นคัน/วัน ที่เหลือกว่า 1 แสนคันจะวิ่งบนถนนรัชดาภิเษก

พล.ต.ท.จิรสันต์ แก้วแสงเอก ผู้บังคับการตำรวจจราจร บอกว่า ผลกระทบจากการก่อสร้างนั้นเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงได้ยาก เจ้าหน้าที่พยายามหารูปแบบการจัดการจราจรให้ดีและกระทบกับผู้ใช้รถน้อยที่สุด

“ตอนนี้ได้ปรับรูปแบบ กระชับวงเวียนให้มีขนาดเล็กลง เพื่อเพิ่มพื้นผิวจราจรมากขึ้น และมีเจ้าหน้าที่ผลัดเปลี่ยนดูแลตลอดทั้งวัน ทำให้ปัญหาลดลงกว่าวันแรกมาก ขณะเดียวกันยังได้ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนมีความเข้าใจเส้นทางมากขึ้น เชื่อว่าทุกคนจะเริ่มปรับตัวได้”

สำหรับรูปแบบวงเวียนดังกล่าว หากเจ้าหน้าที่ประเมินแล้วไม่ได้ก่อผลกระทบกับพี่น้องประชาชนมากจนเกินไป ก็จะคงแนวทางนี้ต่อไปจนกระทั่งเสร็จสิ้นในช่วงกลางเดือน พ.ค. ก่อนคืนพื้นผิวจราจรบริเวณสี่แยกให้เป็นปกติ และเริ่มเข้าสู่ขั้นตอนขุดเจาะอุโมงค์ใต้ดินต่อไป

"หลับห้าตื่น ฟื้นมายังแดง" เสียงครวญจากคนกรุงฯ หายนะแยกรัชโยธิน