posttoday

รถไฟฟ้ามหานคร 2017 ความหวังของคนกรุง

18 มกราคม 2560

ในปี 2560 จะเป็นปีที่ได้เห็นกระทรวงคมนาคมผลักดันโครงการรถไฟฟ้ามหานครทั้ง 10 สาย เข้าสู่การก่อสร้าง

โดย...ทศพล หงษ์ทอง

ในปี 2560 จะเป็นปีที่ได้เห็นกระทรวงคมนาคมผลักดันโครงการรถไฟฟ้ามหานครทั้ง 10 สาย เข้าสู่ขั้นตอนกระบวนการคัดเลือกเอกชน และเริ่มก่อสร้างให้เสร็จทันภายในรัฐบาลชุดนี้ เพื่อวางรากฐานสำคัญการเชื่อมโยงระบบขนส่งใน กทม. ตลอดจนลดปัญหาการจราจรติดขัด ควบคู่ไปกับแผนก่อสร้างรถไฟฟ้าระยะที่ 2 เพื่อเป็น Feeder กับรถไฟฟ้าสายหลักทั้ง 10 สาย เพิ่มโครงข่ายเชื่อมโยงการเดินทางรอบทิศของ กทม.และปริมณฑล รับผู้คนนอกเส้นทางขยายทำเลที่อยู่อาศัยรอบ กทม. โดยเฉพาะโครงการรถไฟฟ้าสายสีทองธนบุรี-ประชาธิปก ที่จะเริ่มเปิดใช้ในปี 2562

ธีรพันธ์ เตชะศิรินุกูล รองผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) กล่าวว่า โครงการที่กำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้างปัจจุบันรวมทั้งสิ้น 3 โครงการ ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ช่วงหัวลำโพง-บางแค และช่วงบางซื่อ-ท่าพระ ก่อสร้างคืบหน้าไปแล้วกว่าร้อยละ 87 ควบคู่กับงานระบบรถไฟฟ้าซึ่งอยู่ระหว่างนำเสนอสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ก่อนเข้าสู่กระทรวงคมนาคม (คค.) และที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ต่อไป ส่วนการเชื่อมต่อ 1 สถานีที่ให้บีอีเอ็มเข้ามาเดินรถคือต้องลงทุนติดตั้งอาณัติสัญญาณ 693 ล้านบาท ร่วมกับค่ารับจ้างเดินรถปีละ 52 ล้านบาท จะเสนอเข้าสู่บอร์ด รฟม.ได้ในเดือน ม.ค. ก่อนลงนามช่วงเดือน ก.พ. เพื่อให้สามารถเปิดเดินรถได้ไม่เกินเดือน ส.ค. 2560 ตามแผน

ด้านโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวใต้ แบริ่ง-สมุทรปราการ ขณะนี้ก่อสร้างเสร็จแล้วอยู่ระหว่างเสนอขอความเห็นชอบจากการประชุมสภา กทม.ภายในเดือน ม.ค. เพื่อโอนหนี้สินและทรัพย์สินรวมทั้งสิ้น 21,403.561 ล้านบาท ซึ่ง กทม.ต้องชำระเงินทันที 3,557 ล้านบาท เพื่อเปิดเดินรถในเดือน มี.ค. 2560

อย่างไรก็ตาม ถ้า รฟม.บริหารเองคาดว่าจะเปิดเดินรถได้ทันภายในเดือน มี.ค.เช่นกัน ด้านโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวเหนือ หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ก่อสร้างเสร็จแล้วร้อยละ 20 คาดว่าจะเปิดเดินรถ 1 สถานีก่อน หมอชิต-ลาดพร้าว ช่วงกลางปี 2561 ก่อนให้บริการทั้งเส้นทางในปี 2563

ปี’60 ลงทุน 1.88 แสนล้าน

ธีรพันธ์ กล่าวว่า โครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการ ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันออก ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) ระยะทาง 23 กิโลเมตร วงเงิน 8.29 หมื่นล้านบาท โดยเป็นทางวิ่งยกระดับ 9 กิโลเมตร และทางวิ่งใต้ดิน 12.2 กิโลเมตร อยู่ระหว่างเปิดซองและเจรจารายละเอียดราคา คาดว่าจะเซ็นสัญญาได้ภายในเดือน มี.ค. 2560 ด้านโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู แคราย-มีนบุรี ระยะทาง 34.5 กิโลเมตร วงเงิน 53,519 ล้านบาท และรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง ระยะทาง 30.4 กิโลเมตร วงเงิน 51,931 ล้านบาท คาดว่าจะเซ็นสัญญาทั้งสองสายได้ในเดือน เม.ย.

“ปีหน้าจะเริ่มเห็นการก่อสร้างทั้ง 3 โครงการ คือ สายสีส้ม สายสีชมพู และสายสีเหลือง ซึ่งขณะนี้ทั้ง 3 สายอยู่ระหว่างเร่งรัดการเวนคืนที่ดินเพื่อเริ่มก่อสร้างโครงการดังกล่าว” ธีรพันธ์ กล่าว

ปี’61 ลงทุน 1.52 แสนล้าน

สำหรับโครงการที่อยู่ระหว่างเสนอที่ประชุม ครม. ซึ่งบางโครงการถูกบรรจุในแผนแอ็กชั่นแพลนปี 2561 ของกระทรวงคมนาคมไปแล้ว ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้าสีม่วงใต้ เตาปูน-ราษฎร์บูรณะ ระยะทาง 23.6 กิโลเมตร วงเงิน 131,000 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างเสนอบอร์ดสภาพัฒน์ คาดว่าจะเข้าสู่ที่ประชุม ครม.ภายในเดือน ม.ค. ก่อนเริ่มต้นคัดเลือกเอกชนในเดือน พ.ค. และได้ตัวผู้รับเหมาช่วงปลายปี เพื่อเริ่มก่อสร้างต้นปี 2561

ด้านโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันตก ช่วงตลิ่งชัน-ศูนย์วัฒนธรรม ระยะทาง 16.4 กิโลเมตร วงเงิน 123,354 ล้านบาท ขณะนี้การออกแบบรายละเอียดเสร็จแล้วควบคู่ไปกับการพิจารณาอีไอเอ คาดว่าจะเสนอเข้าสู่บอร์ด รฟม.ต้นเดือน ม.ค. ก่อนเปิดประมูลช่วงปลายปี 2560 ให้สอดคล้องกับแผนปีหน้าของกระทรวงคมนาคมที่ต้องการเร่งรัดให้อนุมัติรถไฟฟ้าทุกโครงการภายในรัฐบาลชุดนี้

ขณะที่โครงการซึ่งถูกบรรจุในแผนแอ็กชั่นแพลนอย่างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย บางแค-พุทธมณฑล สาย 4 วงเงิน 21,197 ล้านบาท กำลังอยู่ระหว่างเสนอบอร์ดสภาพัฒน์และคาดว่าที่ประชุม ครม.จะเห็นชอบในเดือน ม.ค.-ก.พ. ก่อนเปิดประมูลปลายปี 2561 ควบคู่ไปกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยายเขียวใต้ สมุทรปราการ-บางปู วงเงิน 12,146 ล้านบาท และช่วงต่อขยายสีเขียวเหนือ คูคต-ลำลูกกา คลองหก วงเงิน 9,803 ล้านบาท คาดว่า ครม.จะอนุมัติได้ช่วงต้นปี ไปจนถึงเปิดประมูลได้ในช่วงกลางปีและได้ตัวผู้รับเหมาปลายปี ก่อนเริ่มก่อสร้างในปี 2561 อีกทั้งบริเวณชานเมืองไม่น่ามีปัญหาในกระบวนการก่อสร้างมากนัก

แจงแผนสีชมพู-เหลือง

ธีรพันธ์ กล่าวว่า การต่อขยายเส้นทางสายสีชมพูราว 2.8 กิโลเมตร จากสถานีศรีรัช (PK10) บนถนนแจ้งวัฒนะเข้าไปยังเมืองทองธานีอีก 2 สถานีนั้น เป็นการเชื่อมต่อแบบ Shuttle ซึ่งไม่เกี่ยวกับเส้นทางรถไฟฟ้าสายหลัก คือเอกชนต้องสร้างรางมาเชื่อมต่อที่สถานีศรีรัชเอง (PK10) เพื่อใช้รถไฟฟ้าโมโนเรลมาเชื่อมต่อผู้โดยสารเข้าสู่เมืองทองธานี ด้านการเชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีเหลืองระยะทางราว 2.6 กิโลเมตร เพื่อเชื่อมต่อกับโครงข่ายรถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยเริ่มจากสถานีรัชดา (YL01) ไปทางทิศเหนือตามถนนรัชดาภิเษกบริเวณแยกรัชโยธินเพื่อเชื่อมต่อกับสถานี N10 ของสายสีเขียวบริเวณปากซอยพหลโยธิน 24 นั้นเป็นการเชื่อมต่อในเส้นทางรถไฟฟ้าสายหลักโดยที่ผู้โดยสารสามารถเปลี่ยนขบวนรถได้ที่สถานีจุดเชื่อมต่อ (Interchange Station)

อย่างไรก็ตาม มีความเป็นห่วงสถานการณ์จราจรในปี 2560 โดยเฉพาะพื้นที่ก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู สายสีเหลือง และสายสีส้ม ซึ่งจะเกิดขึ้นในปีหน้า จนส่งผลให้การจราจรทางฝั่งตะวันออกของ กทม.เป็นอัมพาต ซึ่งเป็นพื้นที่ถนนสายหลักมีผู้ใช้บริการรถยนต์และประชากรจำนวนมาก เช่น ถนนพหลโยธิน ถนนลาดพร้าว ถนนวิภาวดีรังสิต และถนนรามอินทรา รวมถึงย่านมีนบุรี ย่านรามคำแหง-ลำสาลี ซึ่งในสภาวะปกติการจราจรก็หนาแน่นทุกวันอยู่แล้ว โดยเฉพาะช่วงชั่วโมงเร่งด่วน อีกทั้งการก่อสร้างยังต้องมีการปิดช่องจราจรและถนนในบางจุดอีกด้วย

ทั้งนี้ ต้องยอมรับว่าการก่อสร้างโครงการใหญ่เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก แต่ทว่าประชาชนต้องปรับตัวและอยู่ร่วมกันให้ได้ในระยะเวลา 2-3 ปี เพื่อแก้ไขปัญหาจราจรในเมืองหลวงระยะยาวหากรถไฟฟ้าสามารถให้บริการได้ ส่วนสถานการณ์จราจรบริเวณพื้นที่ก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่แยกรัชโยธินถึงแม้จะประสบปัญหาอย่างมากในขณะนี้ แต่ประชาชนผู้สัญจรเริ่มคุ้นเคยกับเรื่องรถติดมากขึ้น อีกทั้งยังเข้าใจในการใช้ตำแหน่งกลับรถตามที่เจ้าหน้าที่ได้กำหนดไว้ตามจุดต่างๆ รอบบริเวณดังกล่าว