posttoday

เช็กความพร้อม! "กทม.รับมือน้ำท่วม" ยุคไร้สุขุมพันธุ์

26 กันยายน 2559

ตรวจความพร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเตรียมการรับมือฝนตกหนัก-น้ำท่วมกรุงอย่างไร

โดย...ทีมข่าวในประเทศโพสต์ทูเดย์

หลังจากพื้นที่ กทม.และปริมณฑลมีฝนตกลงมาอย่างหนักหลายวันติดต่อกัน โดยล่าสุด รอยล จิตรดอน ผู้อำนวยการสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร ออกมาบอกว่า สถานการณ์ปริมาณฝนที่ตกช่วงปลายเดือน ก.ย.ในพื้นที่ภาคกลางจะมีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะได้รับอิทธิพลจากพายุอีก 2 ลูก และมีหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงอีก 2-3 ลูกมาสมทบ ส่งผลให้คำนวณทิศทางการเกิดฝนได้ยากคำเตือนดังกล่าวสอดคล้องกับกรมอุตุนิยมวิทยาที่ออกมาแจ้งเตือนให้ระวังภาวะฝนตกหนักซึ่งเป็นผลจากพายุพาดผ่านในสัปดาห์นี้เช่นกัน

รอยล ระบุว่า สิ่งที่ต้องเฝ้าระวังอีกด้วย คือ หากอิทธิพลจากความกดอากาศต่ำจากทะเลจีนใต้ ทำให้เกิดร่องความกดอากาศต่ำพาดผ่านประเทศไทย จนมีฝนตกหนักมากกว่า 100 มิลลิเมตร (มม.) เกิน 3 วัน จะทำให้หลายพื้นที่ใน กทม.เสี่ยงน้ำท่วมขังได้ เพราะขณะนี้คลองบางซื่อยังอยู่ในระหว่างการก่อสร้างไม่สามารถระบายออกแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นเส้นทางตรงได้ การจัดการปริมาณฝนจะต้องแบ่งระบายออกคลองสามเสน คลองลาดพร้าว

ปรากฏการณ์ดังกล่าวทำให้เกิดคำถามว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการรับมือเรื่องนี้อย่างกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้เตรียมความพร้อมแค่ไหน

เช็กความพร้อม! "กทม.รับมือน้ำท่วม" ยุคไร้สุขุมพันธุ์

อมร กิจเชวงกุล รองผู้ว่าฯ กทม. ระบุว่า ได้เฝ้าระวังในจุดเสี่ยงต่างๆ อย่างใกล้ชิด โดยได้เพิ่มความสูงของถนน แก้ปัญหาน้ำท่วมรอระบายบนผิวถนน เตรียมปั๊มน้ำสำรองทุกจุด และติดตามสถานการณ์น้ำเหนือ โดยขณะนี้สถานีบางไทรมีปริมาณน้ำไหลเข้า กทม. 900 ลบ.ม./วินาที ยังอยู่ในกำลังที่รับมือได้ ถ้าปริมาณน้ำมากกว่านี้จะเพิ่มวิธีรับมือ เช่น เสริมประตูระบายน้ำหรือปิดประตูระบายน้ำ ส่วนปัญหาน้ำหนุนสามารถรับมือได้ที่ระดับความสูง 3 เมตร

อย่างไรก็ดี สิ่งที่กังวลคือปัญหาขยะอุดตันระบบระบายน้ำ แต่ได้ส่งเจ้าหน้าที่ออกเก็บขยะก่อนมีฝน ซึ่งปัจจุบันสามารถพยากรณ์ได้ล่วงหน้า 3 ชม.

สมพงษ์ เวียงแก้ว ผู้อำนวยการสำนักการระบายน้ำ กทม. เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ฝนที่ตกลงมาอย่างหนักตลอดทั้งวัน ทำให้ กทม.เตรียมพร้อมรับมือด้วยการพร่องน้ำในคลองสายหลัก อาทิ คลองแสนแสบ คลองชักพระ คลองดาวคะนอง และคลองภาษีเจริญ เพื่อทำให้ระดับน้ำลดลงต่ำที่สุดโดยไม่กระทบต่อการเดินเรือ แต่ยังคงมีความสามารถรองรับปริมาณน้ำฝนที่ตกลงมาในพื้นที่ รวมถึงรับน้ำจากคลองชั้นนอก กทม.ได้อีกด้วย ขณะเดียวกันได้เตรียมเครื่องสูบน้ำจำนวน 150 เครื่อง พร้อมสูบน้ำออกจากพื้นที่ 19 จุดเสี่ยงแล้ว

ทั้งนี้ กทม.จะควบคุมระดับน้ำในคลองพื้นที่ชั้นในก่อน ส่วนคลองพื้นที่ชั้นนอกบริเวณเขตมีนบุรี ลาดกระบัง ขณะนี้มีระดับสูง เบื้องต้นได้ประสานกรมชลประทานช่วยเร่งระบายน้ำออกไปทางคลองพระองค์เจ้าไชยานุชิต เพื่อผลักดันน้ำออกสู่ทะเลต่อไป ซึ่งหากยังคงมีฝนตกลงมาอีกจะทำการเปิดประตูรับน้ำเข้าสู่คลองชั้นใน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนที่อาศัยอยู่ในเขตปริมณฑลทันที

เช็กความพร้อม! "กทม.รับมือน้ำท่วม" ยุคไร้สุขุมพันธุ์

สำหรับมาตรการป้องกันน้ำท่วมขังบนถนนสายหลัก อาทิ ถนนวิภาวดี สุขุมวิท พหลโยธิน และอโศก ถือเป็นจุดที่มีการจราจรหนาแน่นมาก ดังนั้นต้องทำให้ประชาชนสามารถใช้เดินทางสัญจรได้อย่างสะดวก เพื่อป้องกันผลกระทบต่อเนื่องไปถึงถนนสายอื่น ซึ่งหากฝนตกลงมาอย่างหนักอาจใช้เวลาในการระบายน้ำประมาณ 2-3 ชม. ต่อจากนั้นจะเข้าช่วยระบายน้ำออกจากชุมชนต่างๆ ต่อไป

นอกจากนี้ ยังได้มีการประกาศว่า หากประชาชนพบเห็นเหตุน้ำท่วมขังรอการระบาย สามารถแจ้งได้ที่ศูนย์ควบคุมระบบป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพมหานคร โทร. 02-248-5115 ซึ่งจะมีเจ้าหน้าที่รับเรื่องร้องทุกข์เกี่ยวกับปัญหาน้ำท่วมขังรอการระบายและประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อดำเนินการแก้ไขตลอด 24 ชั่วโมง