posttoday

เรือกทม. ทางเลือกใหม่คนเมือง มาแน่กลางปี นำร่องคลองหลัก

09 มีนาคม 2559

การเดินเรือในคลองแสนแสบมีปัญหาทางเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้มีบริษัทได้รับอนุญาตเดินเรือเพียงรายเดียว ซึ่งการตัดสินใจให้บริษัทใดเข้ามาทำธุรกิจได้เป็นหน้าที่ของกรมเจ้าท่า

โดย...นิติพันธุ์ สุขอรุณ

เหตุการณ์ถังก๊าซเรือโดยสารคลองแสนแสบ ที่ท่าเรือวัดเทพลีลา เขตบางกะปิ บริเวณใกล้ห้องเครื่องยนต์ ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก นำมาสู่การทบทวนมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพความปลอดภัย ในชีวิตและทรัพย์สินของผู้โดยสารให้มากยิ่งขึ้น

ณัฐ จับใจ รองอธิบดีกรมเจ้าท่า ด้านโครงสร้างพื้นฐานทางน้ำ กรมเจ้าท่า (จท.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันมีประชาชนใช้บริการเรือโดยสารคลองแสนแสบประมาณ 6-7 หมื่นคน/วัน โดยกรมเจ้าท่าได้เพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวก พร้อมทั้งสอดส่องดูแลการให้บริการอย่างเข้มงวดมากขึ้น จากเดิมที่มีเจ้าหน้าที่ดูแลเข้มงวดอยู่แล้ว รวมถึงเพิ่มมาตรการด้านความปลอดภัย ด้านความแข็งแรงทนทานของท่าเรือด้วย

อย่างไรก็ตาม ในอนาคตกรมเจ้าท่ามีแนวคิดปรับเกณฑ์การตรวจสอบเรือโดยสารและการออกใบอนุญาตเรือโดยสารทั่วประเทศใหม่ ซึ่งเป็นมาตรการดูแลความปลอดภัยทั่วประเทศ จากเดิมที่มีการตรวจสอบสภาพเรือปีละ 1 ครั้ง ตาม พ.ร.บ.เรือไทย และ พ.ร.บ.การเดินเรือในน่านน้ำไทย ซึ่งกำหนดอายุใบอนุญาตเรืออายุไม่เกิน 12 เดือน เป็น 6 เดือน เพื่อให้ผู้ประกอบการนำเรือเข้าตรวจสอบบ่อยครั้งเป็นทุกๆ 6 เดือน และให้เจ้าหน้าที่พิจารณาถึงความพร้อมก่อนให้บริการแก่ประชาชน ซึ่งจะพิจารณาในการออกเป็นกฎกระทรวงต่อไป

อมร กิจเชวงกุล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า ทาง กทม. ได้ออกมาตรการเพื่อความปลอดภัยในการเดินเรือ โดยใช้รูปแบบเดียวกับในต่างประเทศ เช่น ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ ที่จำกัดความเร็วไม่เกิน 7 กิโลเมตร/ชั่วโมง ซึ่งความเร็วระดับนี้ทำให้เกิดคลื่นน้ำไม่สูงจนกระทบต่อเรืออีกลำที่แล่นผ่านหรือสร้างกระทบต่อแนวกั้นเขื่อนได้

นอกจากนั้น ยังควบคุมมาตรฐานของเครื่องยนต์ ให้ใช้เครื่องยนต์ดีเซลไม่ดัดแปลงติดตั้งก๊าซ ซึ่งน้ำมันดีเซลไม่ติดไฟง่าย ส่วนโครงสร้างเครื่องยนต์ถูกออกแบบให้ใช้สำหรับเรือเท่านั้น ระบายความร้อนด้วยน้ำทำให้เกิดควันไอเสียน้อย ไม่ใช่การนำเครื่องยนต์รถบรรทุกมาใช้งานเหมือนในปัจจุบัน

มาตรการถัดมาคือ ระบบรักษาความปลอดภัยบนเรือเริ่มที่ ขนาดของเรือถูกกำหนดให้มีความยาวประมาณ 25-35 เมตร เพื่อให้เหมาะสมกับขนาดความกว้างของคลองในการกลับลำเรือได้ โครงสร้างลำเรือทำจากไฟเบอร์กลาสแข็งแรง มีหลังคาและหน้าต่างกระจกเปิดปิดได้ป้องกันน้ำในหน้าฝน ติดตั้งกล้องวงจรปิด (ซีซีทีวี) รวมถึงถังดับเพลิง

ขณะเดียวกันจำกัดจำนวนผู้โดยสารไม่เกิน 60 คน เสื้อชูชีพจำนวนเพียงพอต่อจำนวนผู้โดยสารถูกติดตั้งประจำทุกตำแหน่งที่นั่ง เพิ่มความสะดวกสบายด้วยสัญญาอินเทอร์เน็ตไว-ไฟ ที่สำคัญมีที่นั่งสำหรับคนพิการอีกด้วย

อนึ่ง ท่าเรือจะต้องมีการปรับปรุงให้รองรับระดับน้ำขึ้นสูงสุด-น้ำลงต่ำสุดได้ จึงต้องทำทางเดินลาดลงให้สอดรับกับน้ำดับน้ำในคลอง เพิ่มความคล่องตัวด้วยระบบเชื่อมโยงคมนาคม เรือ ราง เช่นที่ท่าภาษีเจริญ มีทางเชื่อมสกายวอล์กไปจนถึงสถานีรถไฟฟ้าบางหว้าเป็นต้น

อมร ระบุว่า การเดินเรือในคลองแสนแสบมีปัญหาทางเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้มีบริษัทได้รับอนุญาตเดินเรือเพียงรายเดียว ซึ่งการตัดสินใจให้บริษัทใดเข้ามาทำธุรกิจได้เป็นหน้าที่ของกรมเจ้าท่า ทาง กทม.ไม่ได้เป็นผู้กำหนดคุณสมบัติ ดังนั้นเพื่อให้มาตรการความปลอดภัยเกิดผลสำเร็จและเป็นอีกทางเลือกหนึ่งให้คนกรุงเทพฯ ใช้ระบบขนส่งทางเรือ กทม.จึงตัดสินใจว่าจ้างบริษัท กรุงเทพธนาคม สร้างเรือขึ้นมาเอง โดยใช้งบประมาณจำนวนทั้งสิ้น 40 ล้านบาท เฉลี่ยลำละ 3.8 ล้านบาท  ขณะนี้อยู่ในช่วงทดลองใช้แล้วในคลองภาษีเจริญ 1 ลำ ซึ่งจะนำข้อบกพร่องไปปรับปรุงแก้ไขกับเรืออีก 13 ลำ คาดว่าจะแล้วเสร็จเริ่มให้บริการได้เต็มรูปแบบในเดือน มิ.ย. 2559

นอกจากนี้ ยังถือเป็นการรองรับนโยบายปรับปรุงพัฒนาคลองทั้ง 9 สายเพื่อใช้เป็นคลองระบายน้ำ หรือใช้เพื่อการสัญจรและท่องเที่ยว โดยเริ่มต้นที่คลองลาดพร้าว จึงขึ้นอยู่กับรัฐบาล ต้องการให้ใช้ประโยชน์จากคลองที่ผ่านการพัฒนาแล้วหรือไม่ หากประสงค์ต้องการให้มีเรือโดยสารสำหรับประชาชน กทม.ก็พร้อมให้บริการทันที

ด้าน วีระพงษ์ พูลอ่อน พนักงานบริษัทเอกชน ซึ่งใช้บริการเรือโดยสารไปทำงานทุกวัน ว่า รู้สึกอึดอัดเรื่องความไม่ปลอดภัยเป็นอย่างมาก ดังจะเห็นได้จากจำนวนเสื้อชูชีพไม่เพียงพอต่อผู้โดยสาร ทั้งยังอยู่ในสภาพเก่าขาดลุ่ยเชื้อราขึ้น ที่น่ากลัวที่สุดคือ ความละเลยเรื่องจำนวนผู้โดยสารที่จุคนลงเรือมากเกินไป บางลำแล่นเร็วมากทำให้คลื่นกระทบกับเรือที่แล่นสวนมาอีกทาง น้ำจึงกระเด็นถูกเสื้อผ้าผู้โดยสาร กว่าจะถึงที่หมายเนื้อตัวมีกลิ่นเหม็นน้ำเน่าและกลิ่นควันไอเสียเครื่องยนต์

“บริษัทเดินเรือเอาเปรียบผู้โดยสารมากเกินไปไม่นึกถึงความปลอดภัย ใครจะลงเรืออัดได้เท่าไหร่ก็อัดกันเข้ามา ทุกวันนี้เสี่ยงมาก ถ้าเรือล่มขึ้นมาจะต้องมีคนจมน้ำเสียชีวิตแน่นอน เพราะไม่มีความปลอดภัยเลย เหตุผลเดียวที่ยังใช้บริการเรือเพราะเดินทางรวดเร็วตรงเวลา ไม่ต้องไปแออัดกับการจราจรบนถนน ในอนาคตอยากให้มีบริษัทอื่นๆ เข้ามาแข่งขันเพิ่มขึ้น เพื่อสร้างมาตรฐานการบริการที่ดีให้ประชาชนมีตัวเลือกบ้าง” วีระพงษ์ กล่าวทิ้งท้าย