posttoday

"Big cleaning day"...เมื่อคนไร้บ้านลุกขึ้นมาทำความสะอาดท้องถนน

26 ธันวาคม 2558

"Big cleaning day" เมื่อคนไร้บ้านร่วมแรงร่วมใจทำความสะอาดท้องถนน หวังปรับภาพลักษณ์ใหม่

เรื่อง....วรรณโชค ไชยสะอาด / ภาพ...ภคินัย ฟักฉ่ำ, โพสต์ทูเดย์ 

วันนี้ของคนไร้บ้าน

"คนไร้บ้าน" หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า “homeless” ถูกมองว่าเป็นหนึ่งในปัญหาสังคมที่รัฐบาลต้องเร่งแก้ไข

จากการสำรวจสถานการณ์คนไร้บ้านในพื้นที่กรุงเทพมหานครของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พบว่า ปัจจุบันมีคนไร้บ้านอยู่ 1,307 คน โดย 90 % อยู่ในพื้นที่สาธารณะ และ 10% อยู่ในศูนย์พักพิงชั่วคราว แบ่งเป็นเพศชาย 1,087 คน หญิง 202 คน หญิงข้ามเพศ 11 คน และชายข้ามเพศ จำนวน 2 คน มีปัญหาสุขภาพจิต 126 คน พิการ 46 คน นอกจากนี้ยังพบว่า คนไร้บ้านวัยกลางคน อายุ 40-59 ปี มีจำนวนสูงสุดถึง 641 คน หรือคิดเป็น 49 % ของจำนวนคนไร้บ้านทั้งหมด

กลุ่มคนเร่ร่อนไร้บ้าน มีที่มาหลากหลายแตกต่างกันไป ตั้งแต่คนต่างจังหวัดไร้ที่ดินทำกิน คนติดเหล้า ผู้ป่วยข้างถนน ผู้มีปัญหาทางครอบครัว คนจนเมือง ผู้ที่เพิ่งพ้นโทษหรือหนีคดี จนถึงชาวต่างชาติตกอับ 

ผู้คนส่วนใหญ่มักไม่ค่อยยินดียินร้ายกับคนไร้บ้าน อีกไม่น้อยที่แสดงท่าทีรังเกียจคนเร่ร่อนอย่างชัดเจน มองว่าเป็นพวกเกะกะ ไร้ค่า และเป็นอันตรายต่อคนรอบข้าง ด้วยเหตุผลเหล่านี้ มูลนิธิกระจกเงาจึงพยายามอย่างเต็มที่เพื่อบั่นทอนความรู้สึกและภาพลักษณ์ในแง่ร้ายของคนกลุ่มนี้ลงด้วยไอเดียสื่อสารสาธารณะ

"Big cleaning day"...เมื่อคนไร้บ้านลุกขึ้นมาทำความสะอาดท้องถนน

พลิกฟื้นภาพลักษณ์ ด้วยกิจกรรมจิตอาสา

ช่วงค่ำของทุกวัน ณ ลานคนเมืองหน้าเสาชิงช้าคึกคักไปด้วยผู้คนที่ในอดีตถูกเรียกว่าคนจรจัด ก่อนถูกบรรเทาความหมายในเชิงลบลงด้วยการเปลี่ยนมาใช้คำว่าคนไร้บ้าน

ภาพลักษณ์สุดแย่ในสังคมของคนเหล่านี้ ทำให้มูลนิธิกระจกเงาเกิดไอเดียที่จะปรับเปลี่ยนสร้างภาพลักษณ์ใหม่ ผ่านโครงการ “อาสาคนไร้บ้าน” เปิดโอกาสให้พวกเขาได้ทำกิจกรรมสาธารณะในพื้นที่ที่ตัวเองอาศัยหลับนอนอยู่

สิทธิพล ชูประจง ผู้ประสานงานโครงการอาสาคนไร้บ้าน มูลนิธิกระจกเงา เล่าว่า โครงการอาสาคนไร้บ้าน เป็นการรวมกลุ่มของคนไร้บ้านประมาณ 20 คน เพื่อลุกขึ้นมาทำงานอาสาสมัครลงมือทำความสะอาดในพื้นที่ที่มีปัญหาในเรื่องความสะอาด เช่น พื้นที่รอบกำแพงวัดสุทัศน์ เกาะกลางถนน จนถึงตึกแถวรอบบริเวณเสาชิงช้า

“ปกติคนเหล่านี้จะถูกมองว่าเป็นพวกไม่เอาไหน ไม่มีประโยชน์ และเป็นภาระต่อสังคม ฉะนั้นเราเลยอยากเปิดพื้นที่ สร้างกิจกรรมขึ้นมาให้เขาได้ทำสิ่งที่ดีที่พวกเขาสามารถทำได้ หากตั้งใจและมีโอกาส เราอยากให้ภาพของพวกเขาเปลี่ยนแปลง กิจกรรมนี้จะเกิดการสื่อสารทางสาธารณะว่าพวกเขามีประโยชน์เมื่อได้รับโอกาส เพียงแต่ต้องอยู่บนเงื่อนไขของการถูกสนับสนุน พวกเขาถึงสามารถทำเรื่องพวกนี้ได้”

สิทธิพลบอกอีกว่า เป้าหมายคือ อยากให้สังคมและคนในพื้นที่เห็นว่าพวกเขาเหล่านี้ไม่ใช่ภาระ หากแต่ต้องการทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมเช่นกัน เป็นการปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์ที่สังคมคุ้นเคยจากการมองอย่างเหมารวมว่าสกปรกและสร้างแต่ปัญหา

กิจกรรมนี้มีแผนจะดำเนินการเดือนละครั้ง รวมถึงจะขยายพื้นที่ในการทำกิจกรรมลักษณะนี้อีกต่อไปในอนาคต โดยอาจเพิ่มความถี่ต่อครั้งของการทำกิจกรรมทำความสะอาดด้วย

"Big cleaning day"...เมื่อคนไร้บ้านลุกขึ้นมาทำความสะอาดท้องถนน สิทธิพล ชูประจง ผู้ประสานงานโครงการอาสาคนไร้บ้าน มูลนิธิกระจกเงา

ขอโอกาสทำดีเพื่อสังคม

ระหว่างปัดกวาดทำความสะอาดพื้นที่รอบกำแพงวัดสุทัศน์ กรรณิการ์ ปู่จินะ วัย 37 ปี ชาวจ.ตราด หนึ่งในคนไร้บ้านผู้ร่วมกิจกรรมอาสาข้างถนน เล่าว่า อยากให้คนทั่วไปมองคนไร้บ้านเสียใหม่ คนไร้บ้านไม่อยากเป็นภาระของสังคม เพียงแต่ขาดโอกาสและรายได้น้อยจนไม่สามารถมีที่อยู่ถาวรได้

"ไม่มีใครอยากเป็นคนไร้บ้านจริงๆหรอก ทุกคนอยากมีชีวิตที่ดีทั้งนั้น พวกเราโดนดูถูกประจำ บางคนมองเราเหมือนไม่ใช่คน มองแบบขยะแขยงน่ารังเกียจมาก เคยโดนไล่เป็นประจำว่าเธอจะมานอนทำไมอย่างนี้ ไม่สงสารลูกหรอ เราก็ตอบว่า สงสารแต่มันไม่มีทางเลือก หลายคนก็มีอคติชอบเรียกพวกเราว่าคนจรจัด ซึ่งไม่มีใครชอบคำนี้ มันเหมือนใช้กับหมา หวังว่ากิจกรรมนี้จะทำให้ทุกคนเห็นว่าพวกเราก็อยากเปลี่ยนแปลง และสามารถพัฒนาตัวเองให้มีประโยชน์กับสังคมได้” 

กรรณิการ์ประสบปัญหาท้องไม่พร้อม จึงตัดสินใจหนีออกจากบ้านเกิดในจ.ตราด เข้ามาดิ้นรนสู้ชีวิตในเมืองหลวงพร้อมลูกน้อยตั้งแต่ปี 2544 ก่อนตัดสินใจเข้ามาอยู่ศูนย์พักพิงชั่วคราวเขตบางกอกน้อย ช่วยเหลืองานมูลนิธิกระจกเงาอย่างขยันขันแข็ง ลึกๆในใจเธอยังมีความฝันว่า สักวันจะมีบ้านเป็นของตัวเอง

ทองด้วง บุดดีอาสา หญิงไร้บ้าน วัย 56 แต่งตัวมอซอ ผมเผ้ากระเซิง กว่า 17 ปีของการเดินทางข้ามพรมแดนจากบ้านเกิดเมืองอุดรธานีสู่โลกของคนไร้บ้านที่กรุงเทพ 

เธอเล่าด้วยสีหน้าเรียบเฉยว่า รู้สึกชาชินมันเสียแล้วกับท่าทางรังเกียจเดียดฉันท์จากคนในสังคม หากเลือกได้ก็ขอให้ทุกคนมีทัศนคติที่ดีขึ้นบ้างต่อคนไร้บ้าน

“แรกๆทุกคนก็ต้องรู้สึกแย่อยู่แล้วกับสายตาที่คนอื่นมองมา เขาไม่รู้หรอกว่าเราผ่านอะไรมาบ้าง มีปัญหาครอบครัวอย่างไร อย่างตัวฉันเอง ลูกอยากให้กลับบ้านมาก แต่กลับไปทีไร ทะเลาะกับผัวทุกที ตบตีกันทุกครั้ง อยู่แบบนี้ดีกว่า สังคมรังเกียจพวกเราแทบทุกคนแหละ แต่นานเข้ามันก็ชิน จะให้ทำอย่างไรได้ก็ทางเลือกมันน้อย ก้มหน้าก้มตาทำงานเก็บขวดขาย เก็บเงินต่อไป ชีวิตมันแค่นี้”

"Big cleaning day"...เมื่อคนไร้บ้านลุกขึ้นมาทำความสะอาดท้องถนน

เช่นเดียวกับหนุ่มใหญ่ ผิวคล้ำ ร่างท้วม เจ้าของผมทรงสกินเฮดนามว่า เอ เเรมโบ้  อีกหนึ่งคนไร้บ้านผู้ร่วมกิจกรรมอาสาข้างถนน ชีวิตของเขาน่าสงสารไม่แพ้ใคร

“พระเก็บผมจากกองขยะมาเลี้ยง ก่อนผมจะหนีออกมาตอน 7 ขวบเข้ามาอยู่ในกรุงเทพ ร่อนเร่เก็บขยะขาย นั่งขอทานอยู่หลายสิบปี ค่ำไหนนอนนั่น โดนสายตารังเกียจจากสังคมจนไม่คิดมากแล้วครับ ที่น่าโมโหมากกว่าคือ โดนรังแก ไถเงิน ขโมยเงิน จนผมอยู่ไม่ได้ วันหนึ่งจังหวะดีเลยขอมูลนิธิกระจกเขาทำงาน ชีวิตเลยเปลี่ยนไป อาศัยศูนย์พักพิงเป็นบ้านไว้ซุกหัวหลับนอน มีความสุขขึ้นเยอะ สายตาคนอื่นที่มองเรามันก็ดีขึ้นด้วย

หนุ่มไร้บ้านรายนี้ สารภาพว่า กิจกรรมอาสาข้างถนนเป็นโอกาสดีที่ตัวเองและเพื่อนๆคนไร้บ้านจะได้แสดงให้สังคมเห็นว่า พร้อมที่จะทำประโยชน์เพื่อสังคม และไม่คิดจะเป็นภาระใครเหมือนที่คนอื่นเข้าใจ

ถ้อยคำจากก้นบึ้งหัวใจของคนไร้บ้าน อาจเป็นเสียงเล็กๆที่ไม่มีใครได้ยิน ทว่ากิจกรรมอาสาข้างถนนในครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกที่พวกเขาลุกขึ้นมาทำให้เห็นว่าคนไร้บ้านก็อยากจะพัฒนาเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตตัวเอง เพื่อให้สังคมรับรู้ว่า "ไร้บ้าน" ไม่ได้แปลว่า "ไร้ค่า"

เสียงตอบรับจากสังคมจะเป็นอย่างไรนั้นคงต้องให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์

"Big cleaning day"...เมื่อคนไร้บ้านลุกขึ้นมาทำความสะอาดท้องถนน