posttoday

พลิกฟื้นพื้นที่สีแดง เส้นทางมะเขือเทศจากพระเมตตา

24 กันยายน 2560

หลากหลายโครงการพระราชดำริ ใช่เพียงการพัฒนาในระยะเฉพาะหน้า แต่ล้วนเป็นโครงการพัฒนาอย่างยั่งยืน จากรุ่นสู่อีกรุ่น

โดย...ไชยวัฒน์ สาดแย้ม

พื้นที่ อ.เต่างอย จ.สกลนคร ช่วงเกือบ 40 ปีก่อนนั้น ถือเป็นพื้นที่สีแดงใต้อิทธิพลของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ชาวบ้านมีฐานะยากจน ความเป็นอยู่อย่างยากลำบาก

แต่แล้ววันหนึ่งชีวิตของชาวเต่างอยก็เปลี่ยนไป

พลิกฟื้นพื้นที่สีแดง เส้นทางมะเขือเทศจากพระเมตตา

คุณยายผาลี เจริญผล ในวัย 73 ปี ย้อนความทรงจำไปเมื่อปี 2523 เมื่อครั้งที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จพระราชดำเนินมายังบ้านนางอยและบ้านโพนปลาโหล ในพื้นที่ อ.เต่างอย แม้จะเป็นเขตอิทธิพลของพรรคคอมมิวนิสต์ฯ แต่พระองค์ก็ยังเสด็จฯ มาเยี่ยมเยียนราษฎร ทรงทอดพระเนตรเห็นถึงความเป็นอยู่ที่ยากแค้นของชาวบ้าน จึงมีพระราชดำริที่จะช่วยเหลือประชาชน

คุณยายผาลี บอกว่า ในวันนั้นได้เข้าเฝ้าฯ ถวายผ้าย้อมครามลายขิต แด่สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ซึ่งสมเด็จพระราชินีมีกระแสรับสั่งให้คุณยายผาลีรักษาภูมิปัญญาการย้อมผ้าด้วยต้นครามและการทอผ้าลายขิตเอาไว้ หลังจากนั้นพระองค์ท่านได้ให้ยายไปเป็นครูสอนการทำผ้าลายขิตในที่ต่างๆ

คุณยายผาลี บอกว่า หลังจากในหลวงรัชกาลที่ 9 เสด็จฯ มาเมื่อปี 2523 ไม่นานก็มีการตั้งโรงงานหลวงฯ ขึ้นมาผลิตอาหารสำเร็จรูป ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านเปลี่ยนไปเป็นอย่างมาก จากที่เคยกินอยู่กันอย่างอดอยากแทบไม่มีจะกิน ไฟฟ้าก็ไม่มี บ้านก็เป็นกระต๊อบหลังเล็กๆ ห้องน้ำก็ไม่มี คอมมิวนิสต์ก็เยอะมาก ก็กลับมามีกินมีใช้ มีความสุขมากๆ ชาวบ้านปลูกมะเขือเทศ ปลูกข้าวโพดฝักอ่อน ปลูกเสาวรส ปลูกกระเจี๊ยบ ปลูกทุกอย่างที่โรงงานรับซื้อ เมล็ดพันธุ์ก็เอามาให้ ไปจนถึงการปลูกข้าวแล้วก็สีให้เป็นข้าวกล้อง โรงงานหลวงฯ ก็รับซื้อหมดไม่ต้องเอาไปขายที่อื่นเลย แม้แต่การย้อมผ้าคราม การทอผ้า ที่เคยเฝ้าแต่ทำไว้ใช้เอง โรงงานหลวงฯ ก็ยังรับซื้อ ลูกหลานที่นี่ก็ได้เข้าไปทำงานในโรงงานหลวงฯ

“หากไม่มีพระองค์ท่านเสด็จฯ มาถึงที่นี่ ชีวิตพวกเรายังไม่รู้จะเป็นอย่างไร คิดถึงพระองค์ท่านมากๆ พ่อแม่ของเราทำเพื่อเราทำเพื่อครอบครัว แต่ในหลวงทรงทำเพื่อทุกคนในประเทศนี้” คุณยายผาลี เล่าพลางน้ำตาซึม

โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปที่ 3 (เต่างอย) ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 11 พ.ย. 2523 พร้อมกับการพัฒนาด้านสังคม สร้างศูนย์เด็กเล็ก สถานีอนามัย ธนาคารข้าว การซ่อมและสร้างวัด ขุดบ่อบาดาล สร้างอ่างเก็บน้ำ ฯลฯ
อีกทั้งยังมีการพัฒนาอาชีพของชาวบ้านเพื่อการสร้างงานในระยะยาว มีการสอนให้ทำการปลูกมะเขือเทศ ปลูกข้าวโพดฝักอ่อน ไผ่ตรง มะละกอ เสาวรส ฯลฯ เพื่อป้อนวัตถุดิบป้อนให้กับโรงงานหลวงฯ ภายใต้ความดูแลของมูลนิธิโครงการหลวง

ไม่เฉพาะคนในชุมชนโพนปลาโหลและนางอย แต่โรงงานหลวงฯ ได้ช่วยพัฒนาอาชีพของชาวบ้านในวงกว้าง สร้างรายได้ให้เกษตรกรในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ด้วยการปลูกมะเขือเทศแล้วส่งมาแปรรูปยังโรงงานหลวงฯ ถือเป็นโรงงานแปรรูปมะเขือเทศแห่งแรกในภาคอีสาน มีพื้นที่ส่งเสริมการปลูกมะเขือเทศมากกว่า 2 หมื่นไร่ จนกระทั่งมีคำกล่าวเรียกพื้นที่ตลอดฝั่งแม่น้ำมูลว่า “เส้นทางสายมะเขือเทศ” (Tomato Belt)

หลากหลายโครงการพระราชดำริ ใช่เพียงการพัฒนาในระยะเฉพาะหน้า แต่ล้วนเป็นโครงการพัฒนาอย่างยั่งยืน จากรุ่นสู่อีกรุ่น

พลิกฟื้นพื้นที่สีแดง เส้นทางมะเขือเทศจากพระเมตตา

จักรพงศ์ กงแก่นทา หรือ อ๊อด นักเรียนโรงเรียนเต่างอยพัฒนศึกษา ประธานกลุ่มยุวเกษตรกรโรงงานหลวงฯ บอกว่า เดิมไม่ค่อยสนใจในเรื่องของการเกษตรเท่าไรนัก แต่สนใจด้านวิทยาศาสตร์ ซึ่งโรงเรียนก็ส่งเสริมจากพื้นฐานคือ การทำปุ๋ยชีวภาพ จนถึงการต่อยอดมะเขือเทศ การปลูกหม่อน การปลูกข้าว ซึ่งทั้งหมดได้รับการเรียนรู้มาจากทางโรงงานหลวงฯ ได้เรียนรู้ถึงเกษตรทฤษฎีใหม่

“ทำให้ความคิดของผมเปลี่ยนไป ผมรู้สึกสนุกกับการทำการเกษตร เรียนรู้ว่าการเกษตรไม่ใช่แค่การปลูกต้นไม้ แต่มีอะไรที่ท้าทายและน่าศึกษาค้นคว้ามากกว่านั้น ผมนำความรู้ชักชวนพ่อแม่หันมาทำการเกษตร บนพื้นที่ดินของคุณปู่ที่ว่างอยู่ อาผลผลิตที่ได้ เช่น ข้าว หม่อน ข้าวโพดฝักอ่อน มะเขือเทศ ไปขายให้โรงงานหลวงฯ พ่อแม่มีเงินเก็บจนสามารถนำไปซื้อที่ดินเพิ่มขึ้นเอาใว้ทำการเกษตรได้อีก”

น้องอ๊อดเล่าถึงการเรียนรู้เกษตรทฤษฎีใหม่อย่างภูมิใจ ซึ่งการเรียนรู้และทดลองทำจริงนี้ ส่งผลให้ได้รับการคัดเลือกให้เป็นกลุ่มยุวเกษตรกรดีเด่นระดับประเทศ เข้ารับรางวัลโล่พระราชทานจากสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 10 ในวันพืชมงคลประจำปี 2560 ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ โรงงานหลวงอาหารสำเร็จรูปนั้น พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ได้ทรงมีพระราชดำริให้จดทะเบียนเป็นบริษัทนิติบุคคล ชื่อบริษัท ดอยคำผลิตภัณฑ์อาหาร เมื่อวันที่ 8 ส.ค. 2537 จำหน่ายสินค้าในชื่อ แบรนด์ “ดอยคำ” ขณะเดียวกันโรงงานหลวงฯ ก็ยังเป็นที่ฝึกอบรมความรู้ทางด้านการเกษตรให้กับบุคคลทั่วไปและนักเรียน นักศึกษา และนำไปพัฒนาเป็นอาชีพต่อไป

สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ ก็ด้วยน้ำพระทัย พระเมตตาของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ความสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอย่างหาที่สุดมิได้นี้ สถิตอยู่ในดวงใจของปวงพสกนิกรชาวไทย ตราบนิจนิรันดร์

พลิกฟื้นพื้นที่สีแดง เส้นทางมะเขือเทศจากพระเมตตา น้องอ๊อด

 

พลิกฟื้นพื้นที่สีแดง เส้นทางมะเขือเทศจากพระเมตตา ยายผาลี