posttoday

จับเข่าคุยกงสุลจีน-ลาว 5 ปีเห็นแน่รถไฟความเร็วสูง

13 พฤษภาคม 2560

การพัฒนาโครงสร้างระบบคมนาคมเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ถูกจับตามมองมากที่สุดน่าจะไม่มีโครงการใดเกิน “รถไฟจีน”

โดย...ยุทธพงษ์ กำหนดแน่ 

การพัฒนาโครงสร้างระบบคมนาคมเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ถูกจับตามมองมากที่สุดน่าจะไม่มีโครงการใดเกิน “รถไฟจีน” ซึ่งจะเชื่อมโยงจีนตอนใต้ผ่านประเทศลาวมายัง จ.หนองคาย ของไทย แต่ดูเหมือนจะยังไม่เห็นความคืบหน้ามากนัก

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาที่ประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ (กรอ.) กลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 หรือ “กลุ่มสบายดี” โดยมีตัวแทนหอการค้าจังหวัด สภาอุตสาหกรรมจังหวัด หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจาก จ.อุดรธานี-เลย-หนองคาย-หนองบัวลำภู-บึงกาฬ เข้าร่วมประชุม โดยที่ประชุมได้เชิญ หลี่ หมิงกัง กงสุลใหญ่สาธารณรัฐประชาชนจีนประจำ จ.ขอนแก่น และบุนสี วงบัวสี กงสุลใหญ่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวประจำ จ.ขอนแก่น ร่วมชี้แจงและตอบข้อซักถาม “โครงการลงทุนระบบรถไฟความเร็วสูงและโครงสร้างพื้นฐานของจีนในนครหลวงเวียงจันทน์”

ประเด็นหลักซึ่งภาคเอกชนให้ความสนใจกับโครงการรถไฟความเร็วสูงก็คือจะใช้โดยสาร หรือขนส่งสินค้าอย่างไร และจีนจะเข้ามาลงทุนอะไรในประเทศลาวและไทยบ้าง

หลี่ หมิงกัง กงสุลใหญ่สาธารณรัฐประชาชนจีนประจำ จ.ขอนแก่น เริ่มต้นอธิบายถึงความคืบหน้าว่ารถไฟความเร็วสูงจีน-นครเวียงจันทน์ความเร็วสูงสุด 200 กิโลเมตร/ชั่วโมง ขณะนี้เริ่มดำเนินการก่อสร้างแล้ว ระยะทางทั้งสิ้น 421 กิโลเมตร มีสถานีหลัก 6 สถานี สถานีย่อย 16 สถานี เป็นการสร้างผ่านพื้นที่ป่าและภูเขากว่า 80% ทำให้ต้องมีการสร้างอุโมงค์ถึง 51 แห่ง เพื่อรักษาธรรมชาติของลาวเอาไว้ คาดว่าจะใช้เวลาในการก่อสร้าง 5 ปี ขณะที่เส้นทางในไทยระยะทางประมาณ 600 กิโลเมตร ในช่วงเวลา 7 ปีที่ผ่านมา มีการพูดคุยกันไปถึง 16 รอบ แต่เป็นพื้นที่ราบจะใช้เวลาน้อยกว่า

“รถไฟความเร็วสูงหากสร้างเสร็จ แม้จีนจะสามารถสร้างรถไฟความเร็วสูงได้มากกว่า 300 กิโลเมตร/ชั่วโมง แต่เส้นทางนี้จะเริ่มต้นที่ 200 กิโลเมตร/ชั่วโมงก่อน ทำให้สามารถขนส่งผู้โดยสาร และขนส่งสินค้าแบบแยกประเภทขบวน ด้วยความรวดเร็วมาก ประชาชน นักท่องเที่ยว จะเดินทางไปมาหาสู่ สร้างเศรษฐกิจของทั้ง 3 ประเทศ รวมไปถึงการขนส่งสินค้าโดยเฉพาะผลไม้ของไทย ได้รับความนิยมมากในจีน” กงสุลใหญ่จีน กล่าว

ด้าน บุนสี วงบัวสี กงสุลใหญ่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวประจำ จ.ขอนแก่น กล่าวว่า ลาวจะเป็นเหมือนทางผ่าน หรือ แลนด์ลิงค์ ที่จะได้รับประโยชน์จากรถไฟสายนี้ ที่ผ่านมารัฐบาลลาวใช้เวลามากพอสมควรในการตกลงจนเป็นที่พอใจกันทั้งสองฝ่าย เป็นสัญญาการร่วมทุน อัตราดอกเบี้ย ระยะเวลาใช้หนี้ ขณะนี้ได้เริ่มก่อสร้างแล้ว โดยบริษัทจากจีน 6 ราย จากการเริ่มเจาะอุโมงค์ช่วงละ 300 เมตร พบว่าไม่มีอุปสรรคอย่างที่คาดอาจจะใช้เวลาก่อสร้างน้อยกว่า 5 ปี

“รถไฟความเร็วสูงเส้นทางนี้เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ ลาวก็จะได้ประโยชน์ที่ดีขึ้น แม้เป้าหมายรถไฟจะไปที่ไทย หรือลงไปถึงมาเลเซียและสิงคโปร์  ซึ่งโครงการนี้แตกต่างจากเขตเศรษฐกิจพิเศษที่มีนักลงทุนส่วนใหญ่จากจีนมาลงทุนไปก่อนหน้านี้ และโครงการต่างๆ ก็เดินหน้ากันไป ทั้งเรื่องโครงการอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม ที่อยู่อาศัย และสถานพยาบาล แต่ทั้งหมดมีการปรับเปลี่ยนให้สัมปทานทุกโครงการไม่เกิน 50 ปี”

กงสุลใหญ่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวประจำ จ.ขอนแก่น ตอบข้อซักถามด้วยว่าการไปมาหาสู่ของไทย-ลาว มีความสะดวกรวดเร็วใช้เวลาไม่เกิน 1 ชั่วโมง ชาวลาวมักเดินทางมาจับจ่ายซื้อของที่ จ.หนองคาย และ จ.อุดรธานี จากเดิมด่านสะพานมิตรภาพแห่งที่ 1 เปิดเวลา 06.00-22.00 น. แต่ก็มีข้อเสนอขยายเป็น 06.00-24.00 น. ทั้งสองฝ่ายประชุมกันแล้วและอยู่ระหว่างการนำกลับไปพิจารณา ส่วนการเปิดด่านและยกฐานะด่านต้องเห็นใจฝ่ายลาว

อย่างไรก็ตาม หลังการพูดคุยกับกงสุลใหญ่จีนและลาว แล้ว กรอ.อีสานเหนือก็มีการประชุมเพิ่มเติม โดย ชยาวุธ จันทร ผวจ.อุดรธานี ได้เตือนให้ภาคธุรกิจปรับตัวรับสถานการณ์ ที่ทางการลาวอาจนำระบบการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม 10% สินค้าทุกชนิดที่นำเข้าประเทศกลับมาใช้อีกครั้ง หลังได้ประกาศมาตรการดังกล่าวออกไป แต่ก็ส่งผลกระทบให้นักท่องเที่ยวลดลง ทำให้ทางการลาวต้องชะลอการบังคับใช้ออกไปก่อน แต่ก็เชื่อว่าในอนาคตทางการลาวอาจจะต้องนำประกาศมาใช้อีกเพราะเป็นระบบสากล จึงขอให้ภาคธุรกิจปรับตัวรับสถานการณ์ โดย จ.อุดรธานี จะยังคงผลักดันการขอคืนภาษี หรือ แท็กซ์รีฟัน ให้กับนักท่องเที่ยวข้ามไป สปป.ลาว ไม่ต้องรับภาระเสียภาษี 2 ต่อ

ถ้าเป็นไปอย่างที่กงสุลใหญ่ของทั้งสองชาติได้บอกกล่าวต่อที่ประชุม กรอ.อีสานเหนือ ก็คงเริ่มนับถอยหลังจากนี้ไปอีก 5 ปี รถไฟความเร็วสูงสายนี้จะเป็นจุดพลิกสร้างโอกาสในการพัฒนาเศรษฐกิจจีน ลาว ไทย และเชื่อมโยงต่อไปยังมาเลเซียและสิงคโปร์ได้ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้หรือไม่