posttoday

แผนขุดคลองด้ามขวานไทยแนว9A ท่าเรือน้ำลึกแลกทรัพยากรธรรมชาติ?

07 พฤษภาคม 2560

จะคุ้มค่าหรือไม่ เมื่อต้องแลกกับสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติอันทรงคุณค่า ซึ่งยังไม่มีคำตอบว่า ความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นมากเท่าใด

โดย...นิติพันธุ์ สุขอรุณ

ความพยายามในการผลักดันพัฒนาเศรษฐกิจของพื้นที่ภาคใต้ ด้วยแนวคิดที่มีมาอย่างยาวนานคือ การสร้างคลองคอคอดกระ หรือ “คลองไทย” ซึ่งขุดคลองลากผ่านด้ามขวานของประเทศ อาจกลายเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืน สร้างรายได้จำนวนมหาศาล เปลี่ยนทิศทางเดินเรือขนส่งสินค้าและน้ำมันแถบภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยไม่ต้องเสียเวลาอ้อมประเทศสิงคโปร์อีกต่อไป ทว่าจะคุ้มค่าหรือไม่ เมื่อต้องแลกกับสูญเสียทรัพยากรธรรมชาติอันทรงคุณค่า ซึ่งยังไม่มีคำตอบว่า ความสูญเสียที่จะเกิดขึ้นมีมากเท่าใด และฟื้นฟูคืนสภาพได้หรือไม่

พล.อ.พงษ์เทพ เทศประทีป เลขาธิการมูลนิธิ สำนักงานรัฐบุรุษ เปิดเผยว่า การออกมาผลักดันให้ศึกษาเรื่องการก่อสร้างคลองไทยอย่างจริงจัง เนื่องจากหากทำให้เกิดขึ้นจริงได้ ประเทศไทยจะกลายเป็นศูนย์กลางของพาณิชย์นาวีโลก ซึ่งก่อประโยชน์ให้กับหลายประเทศ โดยเฉพาะกับประเทศไทยที่นับได้ว่ามีขุมทรัพย์ทางการค้าและเศรษฐกิจที่สำคัญ

โดยที่ผ่านมาถูกขัดขวางจากปัญหาความมั่นคงของประเทศ เพราะในยุคล่าอาณานิคม ประเทศอังกฤษไม่ต้องการให้ก่อสร้างคลองไทย ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิงคโปร์ที่เป็นเมืองขึ้นไม่สามารถใช้สำหรับท่าเทียบเรือส่งสินค้าได้ แต่เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไปความพยายามนี้จะเป็นการผลักดันครั้งสุดท้าย ส่วนความกังวลเรื่องหากสร้างคลองแล้วจะกลายเป็นการแบ่งแยกดินแดนโดยสมบูรณ์นั้น เป็นความกังวลที่เกิดขึ้นจากคนภาคกลางคิดเท่านั้น เพราะประชาชนภาคใต้มีความต้องการให้สร้างและเชื่อมั่นว่าไม่กลายเป็นปัญหาแบ่งแยกดินแดนแน่นอน

และเมื่อลงพื้นที่ศึกษา รวมทั้งสอบถามความคิดเห็นของประชาชนในพื้นที่ภาคใต้เป็นที่เรียบร้อยแล้ว จะเสนอเรื่องต่อรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้เดินหน้าโครงการต่อไป แต่หากศึกษาแล้วมีผลเสียมากกว่าผลดีจะถือเป็นอันยุติเรื่องดังกล่าวทันที เนื่องจากที่ผ่านมาหลายยุคหลายสมัยก็ยังไม่มีรัฐบาลใดให้ความสำคัญ

สถาพร เขียววิมล อดีตที่ปรึกษาคณะกรรมาธิการวิสามัญ เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการขุดคอคอดกระ (คลองไทย) วุฒิสภา กล่าวว่า ประโยชน์ของเส้นทางเดินเรือผ่านคลองไทยนั้นสามารถลดระยะทางเดินเรือได้กว่า 700 กิโลเมตร หรือลดเวลาการเดินทางได้ 2-3 วัน จากเดิมที่ต้องเดินเรือสินค้าผ่านช่องแคบมะละกา ประเทศมาเลเซีย หรือต้องจอดแวะที่ประเทศสิงค์โปร์ ดังนั้นเส้นทางเดินเรือสำคัญของโลกจะมาอยู่ในพื้นที่ของประเทศไทยทันที เนื่องจากต้นทุนการเดินทางราคาถูกและถือเป็นทำเลที่ดีที่สุดในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ  ทั้งยังส่งเสริมการท่องเที่ยวมุ่งหน้าไปอินเดีย พม่า ไทย เวียดนาม

ทั้งนี้โครงการยังช่วยลดการใช้น้ำมันดิบของโลก ลดมลภาวะทางอากาศ จากการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ประมาณ 100 ล้านตัน/ปี รวมถึงแก้ปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้ได้อย่างสันติวิธี ซึ่งสามารถสร้างงาน สร้างรายได้ คาดว่าจะมีการเพิ่มอาชีพได้กว่า 3-4 ล้านคน และแก้ปัญหาโจรสลัดก่อเหตุปล้นเรือสินค้าที่ช่องแคบมะละกาได้อีกด้วย

โครงการขุดคลองบริเวณด้ามขวานของประเทศ เพื่อเปิดช่องทางสัญจรทางทะเล จากฝั่งมหาสมุทรอินเดียเชื่อมสู่ฝั่งอ่าวไทย และมหาสมุทรแปซิฟิก โดยเส้นทางคลอง 9 เอ ถือว่ามีความเหมาะสมมากที่สุด จากเดิมที่มีการศึกษาเส้นทางสร้างคลองจำนวน 12 เส้นทาง และด้วยปัจจัยสำคัญที่เป็นเส้นทางผ่านภูเขาน้อยทำให้การก่อสร้างไม่ยากลำบากนัก

 

แผนขุดคลองด้ามขวานไทยแนว9A ท่าเรือน้ำลึกแลกทรัพยากรธรรมชาติ?

สถาพร กล่าวอีกว่า ประโยชน์ที่เกิดกับจังหวัดทางภาคใต้ อาทิ ก่อสร้างเมืองใหม่ให้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งคาดว่าประชากรกว่า 3 ล้านคนที่ต้องการอาชีพจะทยอยเดินทางเข้ามาในพื้นที่มากขึ้น โดยเฉพาะเรือประมงไทยจำนวนกว่า 5 หมื่นลำ ไม่ต้องเผชิญกับการปล้นชิงทรัพย์จากโจรสลัดแถบมาเลเซียอีกต่อไป ทั้งยังส่งเสริมการท่องเที่ยวจากสองฝั่งคลอง เช่น โรงแรม ร้านค้าปลอดภาษี

ขณะที่ไทยจะเพิ่มอำนาจการต่อรองการขนส่งกับประเทศสิงคโปร์ และไม่ต้องจ่ายเงินให้จำนวน 2-3 แสนล้านบาท เพื่อเป็นค่าขนส่งทางเรืออ้อมผ่านสิงคโปร์อย่างที่ผ่านมา เพราะทุกประเทศที่ต้องใช้เส้นทางเรือจะเปลี่ยนทางอ้อมสิงคโปร์เปลี่ยนมาผ่านทางคลองไทยทันที

สำหรับเส้นทางลากผ่านตั้งแต่ด้านตะวันตกที่ ต.เขาไม้แก้ว อ.สิเกา จ.ตรัง ผ่าน ต.เคร็ง อ.ชะอวด จ.นครศรีธรรมราช ไปจนถึง อ.ศรีบรรพต อ.ป่าพยอม จ.พัทลุง และออกสู่อ่าวไทยที่ ต.ทำบอน อ.ระโนด จ.สงขลารวมระยะประมาณ 135  กิโลเมตร ความกว้าง 400 เมตร และลึกประมาณ 30 เมตร 

วิรวัฒน์ แก้วนพ วิศวะกร สมาคมการค้าและอุตสาหกรรมไทย-จีน กล่าวว่า แนวโน้มการขนส่งทางเรือในอนาคตจะเพิ่มมากขึ้น โดยในปี 2562 เรือขนาดใหญ่พยายามลดต้นทุนการขนส่ง ด้วยการใช้เรือลำใหญ่มากขึ้นเพื่อให้ขนสินค้าหรือขนน้ำมันได้ครั้งละมากๆ ดังนั้นเรือต้องใช้ความลึกมากขึ้น ดังนั้นการขุดคลองไทย 9A ต้องทำเป็นสองเส้นทางขาไปและขากลับ ส่วนเกาะกลางใช้เป็นพื้นที่สนามบินนานาชาติและเป็นเมืองปลอดภาษีได้อีกด้วย ซึ่งไม่มีที่ไหนในโลกมีทำเลเหมาะสมเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม โครงการก่อสร้างคลองไทยควรมีการทำประชามติ เพื่อให้ประชาชนได้ร่วมแสดงความคิดเห็นถึงผลได้ทางเศรษฐกิจรวมถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่สูญเสียไปบ้าง กระแสน้ำสองฝั่งคลองมีผลต่อระบบนิเวศน์ทางทะเล ส่วนแหล่งเงินทุนนั้นทางประเทศจีนมีความสนใจร่วมลงทุน

แหล่งข่าวภายในกลุ่มทุนจากประเทศจีน เปิดเผยว่า ประเทศจีนมองไกลไปถึงสถานการณ์สุ่มเสี่ยงที่อาจเกิดสงครามระหว่างสหรัฐ เนื่องจากสิงคโปร์มีความสัมพันธ์อันดีต่อสหรัฐ หากวันหนึ่งเกิดปัญหาความขัดแย้งขึ้น จะทำให้เส้นทางขนส่งสินค้าของจีนที่ต้องแล่นผ่านช่องแคบมะละกาและสิงคโปร์ถูกขัดขวางทันที ดังนั้นการผลักดันให้ประเทศไทยศึกษาโครงการก่อสร้างคลองไทย จะทำให้จีนมีทางเลือกในการขนส่งสินค้าใหม่ เท่ากับขยายอำนาจการต่อรองทางยุทธศาสตร์ ส่วนประเทศไทยก็ได้พัฒนาทางเศรษฐกิจอีกด้วย

ด้าน ธีรพจน์ กษิรวัฒน์ นายกสมาคมท่องเที่ยวเกาะลันตา กล่าวว่า โครงการคลองไทยควรมีการศึกษาผลกระทบแต่ละด้านให้รอบคอบ เช่น ผลกระทบที่เกิดกับประมงพื้นบ้าน ระบบนิเวศน์จะได้รับผลกระทบอย่างไรบ้าง หรือการขุดคลองทำให้เกิดตะกอนดินกระจายไปทำลายประการังเป็นวงกว้างเพียงใด หรือแม้กระทั่งเมื่อขุดคลองเสร็จแล้วน้ำทะเลจากฝั่งอ่าวไทยกับน้ำทะเลฝั่งอันดามันจะไหลไปทางไหนกันแน่ ทั้งหมดยังไม่มีคำตอบเพราะยังไม่เคยศึกษาอย่างจริงจัง

ทั้งนี้ระหว่างการศึกษาควรเปิดโอกาสให้ชาวบ้านในพื้นที่ได้ร่วมแสดงความคิดเห็นและได้รับข้อมูลอย่างละเอียดมากกว่านี้ ซึ่งไม่ใช่การมาให้ชาวบ้านร่วมลงชื่อฟังการสัมมนา แต่กลายเป็นการลงชื่อเพื่อสนับสนุนโดยไม่รู้ตัว

“สมาคมการค้าและอุตสาหกรรมไทย-จีน อ้างว่าจะมีศูนญ์การค้า สนามบิน ยิ่งใหญ่มากกว่าของต่างประเทศ ขอถามกลับว่าคลองสุเอซ ที่นับได้ว่าเป็นต้นแบบทุกวันนี้ยังไม่คืนทุนเลย จึงอยากให้ทุกฝ่ายที่สนับสนุนการก่อสร้างคลองไทย ตระหนักว่าอาจกลายเป็นการลงทุนเกินตัว เพราะโครงการของรัฐบาลหลายแห่งมักต้องเสียค่าโง่ ขณะที่มูลค่าทางเศรษฐกิจการท่องเที่ยวของอันดามัน ประมาณ 4 แสนล้านบาท/ปี กระบี่ 7 หมื่นล้านบาท/ปี และเกาะลันตา ประมาณ 1 หมื่นล้านบาท/ปี แสดงให้เห็นถึงคุณค่าในตัวเองอยู่แล้ว อาจไม่จำเป็นต้องทำให้สถานที่เหล่านี้กลายเป็นเมืองทันสมัยเต็มไปด้วยโรงแรมและท่าเรือน้ำลึก” ธีรพจน์ กล่าว