posttoday

"ต้นไม้คือทรัพย์สิน ไม่ใช่สิ่งกีดขวาง" การไฟฟ้า-กทม.ยอมรับตัดผิดวิธีมาตลอด

26 เมษายน 2560

ปรากฏการณ์ที่คนในสังคมโซเชียลร่วมกันถ่ายภาพต้นไม้ซึ่งถูกตัดทิ้งอย่างน่าสงสาร ทำให้เกิดกระแสความรักความหวงแหนต้นไม้ในเมืองเพิ่มมากขึ้น

โดย...นิติพันธุ์ สุขอรุณ

ต้นไม้ริมทางตลอดแนวถนนในกรุงเทพมหานคร ถูกตัดจนเหลือแต่ตอ ด้วยโทษฐานที่เติบโตขึ้นไปชนกับสายไฟฟ้า สูญสิ้นความเขียวขจีและร่มเงา นำมาสู่การรวมพลังขับเคลื่อนโดยภาคประชาชน เอกชน และมหาวิทยาลัย เกิดเป็นเครือข่ายต้นไม้ในเมือง เพื่อผลักดันให้เกิดการปฏิรูปวิธีการบริหารจัดการต้นไม้ ไม่ใช่เพียงแค่พื้นที่กรุงเทพฯเท่านั้น แต่ยังขยายไปสู่แนวปฏิบัติทั่วประเทศ ผ่านเวทีเสวนาเรื่อง “ต้นไม้กับสายไฟฟ้า จะอยู่ร่วมกันได้อย่างไร”

ช่อผกา วิริยานนท์ ผู้ร่วมก่อตั้งเครือข่ายต้นไม้ในเมือง เปิดเผยว่า ปรากฏการณ์ที่คนในสังคมโซเชียลร่วมกันถ่ายภาพต้นไม้ซึ่งถูกตัดทิ้งอย่างน่าสงสาร ทำให้เกิดกระแสความรักความหวงแหนต้นไม้ในเมืองเพิ่มมากขึ้น ปัจจุบันมีองค์กรเข้าร่วมแล้วกว่า 70 แห่ง เพื่อช่วยกันเรียกร้องให้หน่วยงานภาครัฐมองว่าต้นไม้เป็นสินทรัพย์ ไม่ใช่สิ่งกีดขวาง เพราะต้นไม้มีประโยชน์มากกว่าแค่ช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียว แต่ยังช่วยลดมลภาวะทางอากาศ ต่อยอดเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ บำบัดผู้ป่วยที่เป็นโรคซึมเศร้าได้อีกด้วย ฉะนั้นต้นไม่ไม่ใช่สิ่งกีดขวางและสามารถตัดแต่งให้อยู่ร่วมกับสายไฟฟ้าได้ ทั้งนี้ข้อบกพร่องในการปฏิบัติงาน รวมทั้งข้อเสนอต่างๆจะถูกรวบรวมนำเสนอต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อปรับปรุงแก้ปัญหาที่ยั่งยืนต่อไป

นรเศรษฐ พัฒนเดช อาจารย์ประจำห้องปฏิบัติการไฟฟ้าแรงสูง ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า คณะวิศวะกรรมศาสตร์ สถาบันพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง  อธิบายว่า ความจำเป็นของการตัดต้นก็เพื่อสร้างความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน เป็นการป้องกันไม่ให้กระแสไฟฟ้ากระโดดเข้าสู่ต้นไม้แล้ววิ่งลงสู่พื้นดิน ดังนั้นสายไฟฟ้าทั่วกรุงเทพฯจึงต้องเปลี่ยนมาใช้สายชนิดหุ้มฉนวน 2 ชั้น และใช้ตัวล็อคสายไฟไม่ให้แกว่งไปมาได้ เพื่อทำให้ต้นไม้สามารถเข้าใกล้สายไฟฟ้าได้มากขึ้น จึงไม่จำเป็นต้องตัดโค้นทิ้งอย่างที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

เดชา บุญค้ำ ผู้ก่อตั้งภาควิชาภูมิสถาปัตยกรรม คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ทุกวันนี้กระบวนการตัดแต่งต้นไม้ของ การไฟฟ้า และ กทม. เป็นไปอย่างผิดวิธี เช่น ตัดด้วยวิธีบั่นยอด เหมือนการตัดหัวของต้นไม้ทั้งที่ยอดของต้นไม้มีความสำคัญในการสังเคราะห์แสงเพื่อเปลี่ยนเป็นอาหารเลี้ยงบำรุงลำต้น แม้จะมีการฝึกอบรมมากมาย แต่สุดท้ายปัญหาอยู่ที่สังสือสัญญาว่าจ้างบริษัทเอกชนเข้ามาทำงาน ไม่รู้วิธีการตัดที่ถูกต้องกลายเป็นปฐมเหตุแห่งอันตรายและความอัปลักษณ์ที่แก้ปัญหาไม่ตรงจุดสักที ดังนั้น การไฟฟ้า และ กทม. ต้องทำหลักสูตรการตัดต้นไม้สำหรับว่าจ้างเอกชนให้ชัดเจน หากไม่ปฏิบัติตามก็ถือว่าผิดสัญญาจ้าง

"ต้นไม้คือทรัพย์สิน ไม่ใช่สิ่งกีดขวาง" การไฟฟ้า-กทม.ยอมรับตัดผิดวิธีมาตลอด

ด้าน สุรินทร์ คำฝอย รองอธิการบดีฝ่ายแผนงาน สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า เจ้าคุณทหารลาดกระบัง กล่าวว่า ในสหรัฐอเมริกาก็มีปัญหาการตัดต้นไม้เติบโตกีดขวางสายไฟฟ้าเช่นกัน แต่เขามองว่าหากจำเป็นต้องลงทุนงบประมาณจำนวน 1.8 หมื่นล้านเหรียญ ซึ่งถือเป็นเงินจำนวนมหาศาล เพื่อทำให้ต้นไม้อยู่ร่วมกับสายไฟฟ้าได้นั้นยังคุ้มค่ากว่ายอมสูญเสียคุณค่าและประโยชน์ของต้นไม้ที่ช่วยลดมลภาวะทางอากาศ ลดเสียง ป้องกันน้ำท่วมได้ สุดท้ายเขาจึงทำให้ความร่วมมือระหว่างภาครัฐกับเอกชนดูแลรักษาต้นไม้ให้อยู่คู่กับสายไฟฟ้าได้เป็นผลสำเร็จจนถึงทุกวันนี้

ขณะที่ ชีวิน พัฒนคูหะ ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการและบำรุงรักษาเขต 3 ภาคเหนือ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ยอมรับว่า หลังนี้พนักงานการไฟฟ้าทุกคนไปจนถึงบริษัทผู้รับเหมา จะต้องไปฝึกอบรมองค์วามรู้ในการตัดต้นไม้อย่างถูกวิธีก่อนเข้าทำงาน เพื่อแก้ปัญหาในระยะยาว โดยขณะนี้การไฟฟ้าเดินหน้าอมรมพนักงานทั่วประเทศแล้ว พร้อมตั้งทีมเชี่ยวชาญการตัดต้นไม้โดยเฉพาะ กว่า 200 ทีม ยืนยันว่าสายไฟฟ้ากับต้นไม้อยู่ร่วมกันได้ ซึ่งการตัดที่ถูกหลักวิชาการจะทำเพียงตัดกิ่งก้านที่สร้างปัญหาเท่านั้น ไม่ใช่การตัดทิ้งทั้งต้น

ทั้งนี้ ยอมรับว่าหนังสือสัญญาจ้างเอกชนเข้ามาตัดต้นไม้เป็นไปไม่ถูกวิธี เพราะกำหนดไว้ว่าต้นไม้ต้องห่างจากสายไฟไม่น้อยกว่า 2.5 เมตร ไม่ได้ลงรายละเอียดหลักวิชาการเพื่อรักษาต้นไม้ไว้ด้วย  อย่างไรก็ตาม หลังการตัดแต่งเสร็จแล้วจะทีมตรวจสอบจะลงพื้นที่ให้คะแนนการทำงาน พร้อมกับขอความร่วมมือจากเครือข่ายต้นไม้ในเมืองช่วยกันสอดส่อง ตรวจสอบการทำงานเพื่อแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน

ยโสธร สุขประสงค์ ผู้อำนวยการการไฟฟ้านครหลวง เขตบางพลี กล่าวว่า การไฟฟ้าได้พยายามเปลี่ยนสายไฟแรงสูงเดิมซึ่งเป็นสายเปลือยไม่สามารถสัมผัสได้เลย มาใช้เป็นสายฉนวน 2 ชั้น เพื่อเพิ่มพื้นที่ให้กิ่งก้านของต้นไม้สามารถเข้าใกล้สายไฟฟ้าได้มากขึ้นจากเดิม และป้องกันกระแสไฟฟ้ากระโดดจากสายไฟเข้าสู่ต้นไม้แล้ววิ่งลงสู่ดิน ซึ่งเป็นอันตรายต่อประชาชน

“ที่ผ่านมายอมรับว่ารูปแบบวิธีการตัดต้นไม้ของการไฟฟ้าเก่าล้าสมัย เพราะมีข้อกำหนดตั้งแต่ปี 2513 ซึ่งเป็นมาตรฐานสายอากาศกำหนดให้ต้นไม้กับสายไฟฟ้าต้องอยู่ห่างกัน ถือเป็นองค์ความรู้เก่าที่ไม่ได้รับการพัฒนาให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีใหม่ช่วยให้ต้นไม้อยู่กับสายไฟได้แล้ว”ยโสธร กล่าว

ด้าน สุวรรณา จุ่งรุ่งเรือง ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม (กทม.) กล่าวว่า  ต้นไม้จำนวน 1.5 แสนต้นตามแนวสายไฟฟ้าทั่วกรุงเทพฯ ได้รับการตัดแต่งแล้วจำนวน  7.4 หมื่นต้น หรือคิดเป็น 51% นับว่าเป็นการดำเนินการล้าช้าในแต่ละปี ซึ่งปัญหาหนึ่งเกิดจากบุคลากรของ กทม. มีไม่เพียงพอต่อการดำเนินการตัดแต่งได้อย่างใกล้ชิด

อีกทั้งปัญหาเกิดจากผู้รับจ้างของการไฟฟ้ามักเน้นความรวดเร็ว เพื่อให้งานเสร็จตามกำหนดเวลา หรือตัดแล้วไม่เก็บไปทิ้งในที่กำหนด รวมถึงผู้รับจ้างการไฟฟ้าไม่ประสาน กทม. เพราะอ้างว่าจำเป็นต้องตัดเร่งด่วน ดังนั้นแนวทางแก้ไขต้องใช้วิธีให้ความรู้กับบุคลากรที่ กทม.จำเป็นต้องว่าจ้างควรจัดให้มีการอบรมตัดต้นไม้อย่างถูกวิธีทุกระดับชั้น โดยกทม.ยังคง เดินหน้าฝึกอบรมการตัดแต่งต้นไม้ใหญ่อย่างต่อเนื่อง เพราะประโยชน์ของต้นไม้มีมากกว่าจะยอมให้สูญเสียไป

“ยืนยันว่าผู้บริหารของ กทม. ให้ความใส่ใจต้นไม้เป็นสินทรัพย์ควรค่าแก่การรักษา ไม่ได้มองว่าเป็นสิ่งกีดขวาง เพราะกทม.มีนโยบายเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมือง และทุกวันนี้สามารถขยายได้ประมาณ 5-6 ตารางเมตร/คน เพิ่มขึ้นจากเดิมที่มีการสำรวจก่อนหน้าที่ พบว่า พื้นที่สีเขียวโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 3 ตารางเมตร/คนเท่านั้น”สุวรรณา กล่าว

ภาพจากเฟซบุ๊ก big trees project