posttoday

เก็บภาษีรีสอร์ท จุดเริ่มทางแก้ที่ดินเขาค้อ

19 เมษายน 2560

หากเทียบกับกรณีภูทับเบิก สิ่งที่เกิดขึ้นกับเขาค้อนั้นถือว่าใหญ่กว่าปัญหาภูทับเบิกนับสิบเท่า

โดย...ทีมข่าวภูมิภาคโพสต์ทูเดย์

เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ พื้นที่ท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมสูงในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา กำลังเผชิญกับปัญหาการจัดระเบียบการใช้ที่ดินและการก่อสร้างที่พักหรือรีสอร์ท เช่นเดียวกับภูทับเบิก อ.หล่มเก่า โดยพื้นฐานของปัญหานั้นใกล้เคียงกัน คือ การใช้ที่ดินซึ่งทางราชการมอบให้ราษฎรอาสาเป็นที่ทำกิน หรือที่ดิน รอส. โอนเปลี่ยนมือมาเป็นของนายทุนเพื่อทำรีสอร์ท

อ.เขาค้อ ได้เสนอ 3 แนวทางเพื่อแก้ปัญหา ประกอบด้วย 1.หน่วยงานทหารซึ่งเป็นผู้ขอใช้ที่ดินจากกรมป่าไม้ สามารถออกระเบียบที่สามารถดูแลได้เต็มที่ 2.ให้กรมป่าไม้ดำเนินการหาวิธีจัดการ และ 3.ใช้มาตรา 44 เปลี่ยนที่ป่าสงวนแห่งชาติไปเป็นที่ดินราชพัสดุ

ฐิติศักดิ์ กันเขตต์ นายอำเภอเขาค้อ บอกว่า กำลังเปิดรับความคิดเห็นจากในพื้นที่ ขณะนี้โครงการหลวงเข้ามาดำเนินการใน ต.เข็กน้อย ให้เป็นพื้นที่พัฒนาทั้งตำบลแล้ว ปัจจุบันเขาค้อมีโครงการหลวง 5 ตำบล จาก 7 ตำบล จะใช้ศาสตร์พระราชาในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาเขาค้อ ที่สำคัญปัญหาเขาค้อแตกต่างชัดเจนจากภูทับเบิก คือ ภูทับเบิก เป็นพื้นที่ป่าไม้ลุ่มน้ำชั้น 1 เอ แต่เขาค้อ คือ ป่าไม้โซนอี สามารถพัฒนาให้เช่าในการพัฒนาในทางเศรษฐกิจได้

แต่สำหรับภาคเอกชนซึ่งมีบทบาทด้านการท่องเที่ยวใน อ.เขาค้อ ประสม ประคุณสุขใจ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เมาเทนพาร์ค อินเตอร์เนชั่นแนล กอล์ฟ แอนด์ รีสอร์ท กลับไม่เห็นด้วยกับทั้ง 3 แนวทางดังกล่าว โดยเห็นว่าทั้ง 3 แนวทาง ไม่ว่าจะเลือกทางไหน สุดท้ายที่ดินก็ตกอยู่ในมือนายทุนอยู่ดี

ประสม บอกว่า ไม่สามารถจะรับได้ทั้ง 3 แนวทาง โดยแนวทางแรก ซึ่งจะให้ทหารในฐานะผู้ขอใช้พื้นที่ออกระเบียบ ตั้งเงื่อนไขการใช้ประโยชน์ที่ดิน เพราะที่ผ่านมากองทัพภาคที่ 3 ก็ปล่อยปละละเลย ทำให้มีนายทุนมาสร้างโรงแรม รีสอร์ท จนเต็มพื้นที่ หากยึดเงื่อนไขการใช้ที่ดินตามหนังสือรับรองที่ออกให้แก่ รอส. 9 ข้อ ปัญหาก็คงไม่บานปลายขนาดนี้

“ขณะนี้ยังไม่ช้า หากงัดเงื่อนไข 9 ข้อ ในหนังรือรับรองที่ออกให้แก่ผู้ครองที่ดิน รอส.ออกมาปฏิบัติอย่างจริงจัง เชื่อว่าแก้ไขได้แน่นอน โดยเฉพาะในเงื่อนไขข้อ 8-9 ซึ่งให้อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัดมีอำนาจเพิกถอนหนังสือรับรองนี้ได้ และผู้ถือหนังสือหรือบริวารต้องออกจากพื้นที่ภายใน 30 วัน แถมจะฟ้องเรียกค่าเสียหายหรือค่าตอบแทนใดๆ ไม่ได้ทั้งสิ้น ยังสงสัยที่ผ่านมาผู้ว่าฯ ต่างเพิกเฉย หรือกลัวเจอตอ”

สำหรับแนวทางที่ 2 ซึ่งให้กรมป่าไม้ในฐานะเจ้าของที่ดินหาวิธีจัดการ ประสม บอกว่า น่าเห็นใจกรมป่าไม้ เพราะมอบที่ดินให้ทหารไปแล้ว แต่ก็ยังมีที่ดินนอกแปลงเขต รอส.ที่กรมป่าไม้จะต้องเร่งรัดจัดการเช่นกัน

ส่วนแนวทางที่ 3 ซึ่งทางอำเภอเตรียมเสนอในร่างแผนแม่บทฯ จะให้ใช้อำนาจมาตรา 44 เปลี่ยนป่าให้เป็นที่ดินราชพัสดุ โดยอ้างเพื่อปลดล็อกให้ที่ดิน รอส. ก็ต้องถามว่าเอื้อให้ รอส.หรือนายทุนรีสอร์ท

“แนวทางนี้ไม่สามารถจะยอมรับได้ เพราะหากเป็นที่ดินราชพัสดุ ก็จะสามารถเปลี่ยนโอนสิทธิการเช่าครอบครองที่ดินได้อีก สุดท้ายที่ดิน รอส.ก็หนีไม่พ้นจะตกไปอยู่ในมือนายทุนรีสอร์ททั้งหมดอยูดี ที่สำคัญจะกลายเป็นการสร้างบรรทัดฐานใหม่ เป็นการเลือกปฏิบัติแบบสองมาตรฐาน และจะทำให้พื้นที่อื่นยึดและทำตาม สุดท้ายพื้นที่ป่าหรือที่ดินรัฐที่ถูกบุกรุกก็คงไม่เหลือ ส่วนชาวบ้านก็คงบุกรุกหาพื้นที่ใหม่ จากนั้นก็เรียกร้องและปฏิบัติตามแนวทางเดียวกับเขาค้อ กระทั่งกลายเป็นวงจรที่ไม่รู้จบ”

ประสม มองว่า การแก้ไขที่ดินใน 4 ตำบลของ อ.เขาค้อ หากภาคราชการมีความจริงใจก็สามารถใช้กฎหมายที่มีอยู่เป็นเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาได้ โดยเฉพาะกฎหมายโรงแรมปี 2547 ก่อนหน้านี้กระทรวงมหาดไทยมีหนังสือเร่งรัดมาที่จังหวัดให้จัดการกับโรงแรม รีสอร์ท ที่ไม่ถูกกฎหมาย จ.เพชรบูรณ์ได้มีหนังสือไปยังอำเภอต่างๆ ทั่วจังหวัดถึง 2 ครั้ง เพื่อเร่งรัดให้จัดการโรงแรม รีสอร์ท ที่ไม่ถูกต้อง หากฝ่าฝืนจะมีความผิดทางอาญา โทษจำคุก 1 ปี ปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท และหากยังประกอบกิจการโรงแรมต่อเนื่องจะถูกปรับวันละ 1 หมื่นบาทจนกว่าจะยอมยุติกิจการตามมาตรา 59 พ.ร.บ.โรงแรม พ.ศ. 2547

“สำหรับที่เขาค้อ ผมได้ทำหนังสือไปยังนายอำเภอเขาค้อเพื่อให้เร่งรัดดำเนินการกับโรงแรม รีสอร์ท ซึ่งไม่เพียงจะสร้างอยู่บนที่ดิน รอส.เท่านั้น แต่ยังเรียกร้องให้จัดการกับโรงแรม รีสอร์ท ที่ไม่ได้รับอนุญาตทั้ง อ.เขาค้อ อีกด้วย เพราะปัจจุบันมีโรงแรม รีสอร์ท ที่ได้รับอนุญาตดำเนินกิจการอย่างถูกกฎหมายเพียงแค่ 11 รายเท่านั้น ฉะนั้นหากนายอำเภอเขาค้อยังเลี่ยงไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของจังหวัดและกระทรวงมหาดไทย ก็เข้าข่ายละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ ขณะนี้ผมกำลังร่างคำฟ้องต่อศาลปกครอง”

ประสม บอกว่า ก่อนหน้านี้เคยทำหนังสือร้องเรียนเรื่องการละเว้นไม่จัดเก็บภาษีโรงแรม รีสอร์ทในพื้นที่ อ.เขาค้อ และภูทับเบิก แต่จนถึงปัจจุบันกรมสรรพากรก็ยังไม่ได้มีการจัดเก็บภาษีให้ถูกต้องตามกฎหมาย ทำให้ส่งผลกระทบต่อโรงแรม รีสอร์ท ที่ทำธุรกิจที่ถูกต้อง และส่งผลให้ผลประกอบการติดลบอย่างต่อเนื่องมาโดยตลอด ในขณะที่โรงแรม รีสอร์ท ที่ไม่ถูกกฎหมายไม่จำเป็นต้องแบกรับต้นทุนในส่วนนี้ ไม่ต้องทำบัญชี ภาษีเงินได้ ส่งให้สรรพากรอำเภอ รวมทั้งไม่ต้องจัดทำงบดุลส่งพาณิชย์จังหวัดอีก เป็นการเอาเปรียบและเอาแต่ได้

“แบบนี้ไม่เลือกปฏิบัติแบบสองมาตรฐานก็ไม่รู้จะว่ายังไง ทั้งๆ ที่เห็นกันอย่างชัดเจนและโทนโท่อยู่ในขณะนี้ ฝากไปยัง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. ที่เคยบอกย้ำมาตลอดว่า การบังคับกฎหมายต้องมีความเท่าเทียม ที่เขาค้อมีความเท่าเทียมขนาดไหน แค่บังคับใช้กฎหมายโรงแรมอย่างจริงจัง โดยรายไหนไม่ถูกต้องหรือถูกกฎหมายก็ให้เลิกหรือปิดการดำเนินธุรกิจไป”

หากเทียบกับกรณีภูทับเบิก สิ่งที่เกิดขึ้นกับเขาค้อนั้นถือว่าใหญ่กว่าปัญหาภูทับเบิกนับสิบเท่า ผลกระทบที่จะตามมาจึงมากตามไปด้วย น่าจับตาว่าสุดท้ายแล้วปัญหานี้จะมีทางออกอย่างไร