posttoday

เมื่อชาวนาเป็นพ่อค้า ประสบการณ์จาก "กลุ่มข้าวอิสระ"

26 กุมภาพันธ์ 2560

เกษตรกรต้องยกระดับเป็นพ่อค้าข้าว เพื่อดูแลและรักษาผลประโยชน์ของเกษตรกรด้วยกัน

โดย...อักษรา ปิ่นนราสกุล

ราคาข้าวที่ตกต่ำในช่วงก่อนหน้านี้ ทำให้ชาวนาต่างหันมาทำข้าวสารบรรจุถุงขายเอง โดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่าส่งเสริม เพราะทำให้ชาวนาขายข้าวได้ราคาดีขึ้น ส่วนผู้บริโภคก็ซื้อข้าวสารคุณภาพดีได้ในราคาที่ถูกลงกว่าเดิม เนื่องจากเป็นการซื้อตรงจากผู้ผลิตโดยไม่ผ่านคนกลาง

แต่เมื่อราคาข้าวดีขึ้น กระบวนการขายตรงของชาวนาก็กลับลดน้อยจนแทบหายไปด้วย

ในฐานะที่เป็นกลุ่มเกษตรกรที่เริ่มขายข้าวสารบรรจุถุงส่งตรงถึงผู้บริโภคมานาน ซึ่งล่าสุดยอดขายของกลุ่มข้าวอิสระนั้นสูงถึงเดือนละ 10 ตัน ไอศูรย์ ช้างแก้ว ประธานกลุ่มข้าวอิสระ หรือ Freedom Rice ต.บ้านต๊ำ อ.เมืองพะเยา จ.พะเยา มองว่าทางออกที่เป็นการไขปัญหาราคาข้าวตกต่ำอย่างถาวร ภาครัฐจะต้องส่งเสริม และช่วยเหลือให้เกษตรกรผลิตและพัฒนาข้าวให้มีคุณภาพ สนับสนุนทุนในการแปรรูปข้าว เช่น โรงสีขนาดกลาง ให้ข้อมูลแก่กลุ่มเกษตรและเครือข่าย เพื่อสามารถวิเคราะห์และเตรียมการผลิตที่เหมาะสม วางระบบโซนนิ่งพื้นที่ปลูกข้าวแต่ละสายพันธุ์ เพื่อรักษาสายพันธุ์และป้องกันข้าวล้นตลาด ราคาตกต่ำ

“เกษตรกรเองก็ต้องยกระดับเป็นพ่อค้าข้าว เพื่อดูแลและรักษาผลประโยชน์ของเกษตรกรด้วยกัน ผลิตข้าวคุณภาพไม่ปลอมปน เพื่อรักษามาตรฐานของผลผลิตทุกรายการ และระบบซื้อขายทั้งผู้ซื้อและผู้ขายต้องทำสัญญาชัดเจน มีความซื่อสัตย์และจริงใจต่อกันทั้งสองฝ่ายโดยใช้หลักคุณธรรม จริยธรรมนำธุรกิจ”

ไอศูรย์ บอกว่า กลุ่มข้าวอิสระขณะนี้มีสมาชิกที่เป็นเกษตรกรอยู่ในเครือข่ายไม่น้อยกว่า 20 เครือข่าย โดยจะเน้นเครือข่ายในเรื่องกระบวนการผลิต หลีกเลี่ยงการใช้สารเคมี ทำให้เป็นข้าวปลอดภัย เพราะปัจจุบันผู้บริโภคมีความต้องการบริโภคข้าวปลอดภัยเพื่อสุขภาพมากขึ้น พร้อมกันนี้ผู้ผลิตก็ต้องห่วงใยสุขภาพของตัวเองโดยงดหรือหลีกเลี่ยงสารเคมีให้มากที่สุดด้วย และก่อนส่งให้ลูกค้าได้มีการคัดคุณภาพทุกครั้ง

เมื่อชาวนาเป็นพ่อค้า ประสบการณ์จาก "กลุ่มข้าวอิสระ" ไอศูรย์ ช้างแก้ว ประธานกลุ่มข้าวอิสระ

“เมื่อผลิตภัณฑ์ข้าวปลอดภัยเป็นที่สนใจและต้องการของผู้ผลิต เกษตรกรที่เป็นสมาชิกและเครือข่ายฯ มีกำลังใจผลิตข้าวกล้องปลอดภัยมากขึ้น ซึ่งราคาข้าวของกลุ่มข้าวอิสระมีหลายประเภท แบ่งออกเป็นข้าวกล้องลืมผัวกิโลกรัมละ 52-55 บาท ข้าวไรซ์เบอร์รี่ 35-40 บาท และ ข้าวหอมมะลิขาวกิโลกรัมละ 20-40 บาท ซึ่งเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคอย่างมาก ในอนาคตจะมีการศึกษาเพื่อยกระดับการค้าข้าวอิสระสู่การส่งออกต่อไป เพื่อให้เกษตรกรมีความมั่นคงทางรายได้และกระจายผลผลิตที่มีคุณภาพมากขึ้น”

ไอศูรย์ บอกว่า ความเชื่อมั่นต่อคุณภาพของกลุ่มข้าวอิสระ ทำให้มีกลุ่มทุนสนใจที่จะให้กลุ่มข้าวอิสระส่งออกเดือนละ 100 ตัน แต่ยังคงอยู่ในขั้นตอนของการศึกษาข้อมูลและความเป็นไปได้ แต่ก็เป็นเป้าหมายหนึ่งของแผนธุรกิจข้าวอิสระในอนาคต ขณะนี้ทางกลุ่มและเครือข่ายกำลังศึกษาข้อมูลอย่างรอบด้านเพื่อพัฒนาและยกระดับผลผลิตข้าว เพื่อให้สามารถก้าวสู่ระดับของการส่งออกต่อไป

“ขณะนี้ทางกลุ่มข้าวอิสระได้วางระบบการซื้อขาย โดยผู้ที่ต้องการสั่งซื้อข้าวจะจ่ายมัดจำส่วนหนึ่งเข้ามาจำนวน 30% จากนั้นเมื่อผลผลิตข้าวผ่านการคัดคุณภาพและพร้อมส่ง ผู้สั่งซื้อจะจ่ายส่วนที่เหลืออีก 70% ระบบดังกล่าวจะเป็นการรับประกันให้แก่เกษตรกรผู้ผลิตข้าวไม่ให้แบกรับความเสี่ยงต่อความเสียหายว่าเงินค่าข้าวจะสูญหาย สร้างความมั่นใจให้ทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย”ไอศูรย์ กล่าว

หากเกษตรกรจะปรับตัวมาเป็นผู้ค้าข้าวสารบรรจุถุงขายตรงสู่ผู้บริโภคเพื่อให้ได้ราคาดีขึ้น ส่วนผู้บริโภคก็ซื้อได้ในราคาที่ถูกลงกว่าการซื้อผ่านคนกลาง วิธีการนี้นับว่ายังมีโอกาส และช่องทางที่จะประสบความสำเร็จอยู่สูง ดังบทเรียนของกลุ่มเกษตรกรหลายกลุ่ม