posttoday

คนไทยพลัดถิ่นที่ห้วยส้าน วิถีไทยในต่างแดน

07 ธันวาคม 2559

เรื่องราวอันน่าเห็นใจของ คนไทยพลัดถิ่นที่ห้วยส้าน

เรื่องราวอันน่าเห็นใจของ คนไทยพลัดถิ่นที่ห้วยส้าน

“เราเป็นคนไทยที่รักเคารพในหลวงรัชกาลที่ ๙ และพระราชินี” นางปิ๊แดง ทาสุก วัย ๖๐ ปี คนไทยพลัดถิ่นบ้านห้วยส้าน ในเขตพม่า กล่าวด้วยภาษาไทยสำเนียงล้านนา

“ปู่ย่าตายายเกิดที่นี่และตายที่นี่  แต่เก๊า(บรรพบุรุษ)อพยพมาจากลำปาง  สมัยก่อนบ้านห้วยส้านมีแต่คนไทย  ตอนนี้เริ่มมีคนพม่าเข้ามาอาศัยทำกินในหมู่บ้านมากขึ้น”

บ้านห้วยส้านเป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่ ขึ้นกับอำเภอเมียวดี จังหวัดเมียวดี รัฐกะเหรี่ยง ประเทศพม่า อยู่ห่างจากชายแดนไทยที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก ประมาณ ๑๐ กิโลเมตร มีคนไทยพลัดถิ่นอาศัยอยู่หลายพันคน  ทั้งหมดพูดภาษาไทยล้านนา มีวิถีชีวิตวัฒนธรรมเช่นเดียวกับคนไทยในล้านนา

“คนไทยพลัดถิ่นที่นี่มีนามสกุลกันทุกคน เพราะมาจากเมืองไทย  มีญาติพี่น้องอยู่ในไทยจำนวนมาก ทั้งแม่สอด แม่ระมาด แม่พริก ลำปาง เชียงใหม่ หรือบางคนมาจากน่าน” พระสองเมือง สิงห์ตา วัย ๓๘ ปี บวชมา ๗ พรรษา ที่วัดสว่างอารมณ์เล่า

“พ่อแม่เล่าให้ฟังว่า นานมาแล้วบรรพบุรุษหนีการสู้รบมาอยู่ที่นี่  มาตั้งแต่สมัยอยุธยา  เพราะสมัยก่อนดินแดนแถบนี้เป็นของไทย  อาณาเขตประเทศไทยครอบครองไปทั้งรัฐกะเหรี่ยง เมืองมะละแหม่ง เมืองมะริด เมืองทวาย”

แม้บ้านห้วยส้านจะตกไปเป็นแผ่นดินของพม่าในช่วงหลัง  แต่คนไทยพลัดถิ่นห้วยส้านก็ยังติดต่อไปมาหาสู่กับญาติพี่น้องที่ฝั่งไทยตลอดมา  พระสองเมืองเองก็มีโอกาสไปเล่าเรียนที่อำเภอแม่สอด จังหวัดตากแต่เด็ก  จนได้รับชื่อว่า “สองเมือง” เพราะอยู่ทั้งเมืองพม่าและเมืองไทย

คนไทยพลัดถิ่นที่ห้วยส้าน วิถีไทยในต่างแดน วัดสว่างอารมณ์ วัดไทย ศิลปล้านนา ที่ห้วยส้าน พม่า

นอกจากวัดสว่างอารมณ์ ที่พระสองเมืองจำพรรษา ยังมีวัดบัวสถาน วัดศรีบุญเรือง วัดสุวรรณคีรี วัดป่าเลไลย์ และวัดศิริมงคล ซึ่งเป็นวัดไทยของคนไทยพลัดถิ่น  ทุกวัดยังรักษาวิถีวัฒนธรรมไทย  มีใบลานเก่าแก่จารเรื่องเกี่ยวกับพระศาสนาเป็นตัวอักษรตัวเมืองของชาวล้านนา คนไทยพลัดถิ่นซึ่งเรียกตนเองว่า “ไต” ยังสืบทอดพระพุทธศาสนาแบบล้านนาด้วยการบวชเรียน  โดยเฉพาะการบวชเณรที่เรียกกันว่า “บวชลูกแก้ว”

นายสมบัติ  เอื้องหมี ชาวห้วยส้าน วัย ๕๐ ปี เล่าว่า “วัดยังเป็นศูนย์กลางทางประเพณีของคนไทย  มีการจัดงานปอย(งานบุญประเพณี)ตามช่วงต่างๆ  เด็กชายและเด็กหญิงได้เรียนรำไต  มีการรดน้ำดำหัวครูบา งานสงกรานต์ และที่วัดศรีบุญเรืองมีการสอนภาษาไทย ซึ่งเด็กเรียนกันมากช่วงปิดเทอม  โดยมีพระเป็นผู้สอน”

แม้ปัจจุบันดูเหมือนว่าบ้านห้วยส้านเงียบสงบ  แต่ก็ยังเป็นพื้นที่ที่คนภายนอกเดินทางเข้าออกไม่ง่ายนัก  เพราะเป็นพื้นที่ในการดูแลของกองกำลังทหารพม่าและกองกำลังทหารกะเหรี่ยงพุทธ(DKBA)

“สมัยก่อนมีการยิงกันในหมู่บ้านบ่อยครั้ง บางครั้งผู้ชายก็โดนเกณฑ์ไปหาบลูกปืน  แต่เดี๋ยวนี้ไม่มีแล้ว  ทางพม่าทำบัตรประจำตัวประชาชนพม่าให้  เลือกตั้งที่ผ่านมาหลายคนก็เดินทางไปใช้สิทธิเลือกตั้ง” นางปิ๊แดงเล่า

คนไทยพลัดถิ่นที่ห้วยส้าน วิถีไทยในต่างแดน นางปิ๊แดง ทาสุก ชาวบ้านห้วยส้าน

เมื่อบ้านห้วยส้านถูกการแบ่งปันอาณาเขตไปสู่เขตการปกครองของพม่า และมีการสู้รบกันของกลุ่มชาติพันธุ์  ทำให้เมื่อ ๔๐-๖๐ ปีก่อน คนไทยพลัดถิ่นจำนวนหนึ่งอพยพกลับสู่ประเทศไทย  มาอาศัยอยู่กับญาติพี่น้องที่อำเภอแม่สอดและแม่ระมาด จังหวัดตาก  ต่อมาเมื่อราว ๓๐ ปีที่ผ่านมา รัฐบาลไทยได้สำรวจและจัดทำบัตรประจำตัวชนกลุ่มน้อย เป็น ”ผู้พลัดถิ่นสัญชาติพม่าเชื้อสายไทย” ให้ โดยได้สิทธิอาศัยชั่วคราว แต่ไม่ได้รับสัญชาติไทย

ในปีพ.ศ. ๒๕๕๕ คนไทยพลัดถิ่นเหล่านี้ร่วมกับกลุ่มคนไทยพลัดถิ่นจากจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ระนอง และตราด ได้เรียกร้องในการคืนสัญชาติไทย  จนมีการแก้ไขพระราชบัญญัติสัญชาติ ฉบับที่ ๕ พ.ศ. ๒๕๕๕ กำหนดให้คืนสัญชาติไทยให้คนกลุ่มนี้ ที่จัดทำทะเบียนไว้แล้ว มีจำนวนในฐานข้อมูลกระทรวงมหาดไทยประมาณ ๒๐,๐๐๐ คน

เมื่อดำเนินการยื่นขอคืนสัญชาติ คนไทยพลัดถิ่นจากประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ระนอง และตราด ได้รับการรับรองให้คืนสัญชาติไทย  แต่สำหรับกลุ่มจากอำเภอแม่สอดและอำเภอแม่ระมาด จังหวัดตาก คณะกรรมการรับรองความเป็นคนไทยพลัดถิ่นกลับไม่รับรองให้คืนสัญชาติไทย โดยอ้างว่าไม่ใช่กลุ่มตามกฏหมาย

นายสมบัติ กล่าวถึงญาติพี่น้องไทยพลัดถิ่นที่อำเภอแม่สอดและอำเภอแม่ระมาด จังหวัดตากว่า “คนอยู่ที่พม่านี่ได้บัตรพม่ากันหมดแล้ว เลือกตั้งในพม่าครั้งที่ผ่านมาก็ไปใช้สิทธิเลือกตั้ง  แต่กลุ่มที่อพยพไปอยู่ไทย บางคนก็ได้บัตรได้สัญชาติไทย  แต่ยังมีอีกจำนวนมาก โดยเฉพาะรุ่นเก่าๆ ยังไม่ได้สัญชาติไทย  คนพวกนี้น่าสงสาร จะกลับมาทางห้วยส้านอีกก็ไม่ได้ เพราะอพยพย้ายไปนานมากแล้ว ที่ดินที่ทำกินทางนี้ก็มีเจ้าของหมดแล้ว”

ขณะที่ ดร.อรอนงค์ ทิพย์พิมล อาจารย์สาขาประวัติศาสตร์ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งนำนักศึกษาธรรมศาสตร์ลงพื้นที่ศึกษาสภาพความเป็นอยู่และประวัติศาสตร์คนไทยพลัดถิ่นที่บ้านห้วยส้าน ให้ความเห็นว่า
“คนเหล่านี้ถูกแบ่งแยกโดยมิติพรมแดนและรัฐชาติซึ่งมาภายหลัง  วิถีชีวิตและสำนึกทางวัฒนธรรมยังเชื่อมโยงกับสังคมไทย เช่น ภาษาที่สื่อสารกันได้ มีความกลมกลืนกันทางสังคม  เมื่อคนไทยพลัดถิ่นเหล่านี้กลับเข้ามาประเทศไทย ซึ่งเข้ามาเนิ่นนานหลายสิบปี  ต้องให้สิทธิ  เพราะเขาปฏิบัติเหมือนคนไทยทุกอย่าง ทั้งเสียภาษีให้รัฐ  รัฐไทยต้องให้สัญชาติกับเขา  โดยมีขั้นตอน เช่น อยู่อาศัยนาน ๕ ปี ให้ได้ถิ่นที่อยู่ถาวร  และเมื่ออยู่ครบ ๑๐ ปี ก็ให้ได้สัญชาติไทย เช่นเดียวกับการดำเนินการของหลายประเทศ”

“ไม่ว่าจะมองแง่ประวัติศาสตร์ไทย  แง่คนเชื้อสายไทย  แง่วัฒนธรรมไทย และความกลมกลืนเป็นหนึ่งเดียวกับสังคมไทย  คนเหล่านี้คือคนไทยเช่นเดียวกับพวกเรา” ดร.อรอนงค์กล่าวในที่สุด

คนไทยพลัดถิ่นที่ห้วยส้าน วิถีไทยในต่างแดน ดร.อรอนงค์ ทิพย์พิมล อาจารย์ประวัติศาสตร์