posttoday

'ของที่ชาวบ้านให้คือสิ่งมีค่า' รับสั่งของมหาราชาผู้เป็นที่รัก

20 ตุลาคม 2559

"เชื่อไหมดอกไม้ หรือสิ่งของทุกอย่างที่ชาวบ้านนำมาให้กับศูนย์ศิลปาชีพฯ ไม่เคยทิ้งแม้แต่อย่างเดียว จะให้นำไปใช้ประโยชน์ทุกอย่าง"

โดย...เมธี เมืองแก้ว
     
ในบรรดาภาพถ่ายพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระปรมินทร มหาภูมิพลอดุลยเดช จำนวนมากมายนั้น ภาพหนึ่งที่เห็นกันบ่อยครั้งคือภาพที่ทรงนั่งพิงล้อรถแลนด์โรเวอร์พระที่นั่งบนสะพานไม้  ระหว่างเสด็จฯ ไปทรงเยี่ยมประชาชนในพื้นที่ ต.ปูโยะ อ.สุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส เมื่อวันที่ 7 ก.ย. 2524

ความห่วงใยต่อพสกนิกรของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชนั้นเป็นที่ประจักษ์ชัด ไม่แบ่งแยกด้วยความต่างของเชื้อชาติ ศาสนา และวัฒนธรรม

ในอดีตนั้น เมื่อถึงเดือน ส.ค. ประชาชนใน จ.นราธิวาส ต่างเฝ้ารอที่จะได้เฝ้าฯ รับเสด็จ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ ที่จะแปรพระราชฐานมาประทับ ณ พระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ จ.นราธิวาส

36 ปีก่อนตั้งแต่ปี 2523 เป็นต้นมา  นิตดา ไชยเสรี เคยได้ร่วมถวายงาน รับใช้พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และพระบรมวงศานุวงศ์ ยามเสด็จฯ ไปชายแดนภาคใต้

"สมัยนั้นรับราชการครูอยู่ที่วิทยาลัยเทคนิคนราธิวาส ในตำแหน่งผ้าและเครื่องแต่งกาย และได้ทำงานเรื่อยๆ จนเลื่อนขั้นเป็นหัวหน้าคณะ มีความรู้เรื่องการบ้านการเรือนทุกอย่าง จึงมีโอกาสได้ทำงานถวายเบื้องพระยุคลบาททุกพระองค์"

'ของที่ชาวบ้านให้คือสิ่งมีค่า' รับสั่งของมหาราชาผู้เป็นที่รัก

นิตดา ในวัย 66 ปี เกษียณอายุราชการแล้วบอกว่า ตนเองและเจ้าหน้าที่ทุกคนต่างเฝ้ารอว่าเมื่อใดจะถึงเดือนส.ค. เพื่อเฝ้าฯ รับเสด็จ

"หน้าที่ตอนนั้นคือถวายงานในศูนย์ศิลปาชีพในพระตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ ทราบดีว่าพระองค์ทรงเหน็ดเหนื่อย พระวรกายเพียงใด แต่ทุกคนก็ไม่เคยได้ยินเสียงบ่น หรือกล่าวว่าใดๆ แม้แต่น้อย มีเพียงสีหน้าที่เรียบเฉย และสายตาที่มุ่งมั่นอยากให้งานสำเร็จ บรรเทาความทุกข์ยากของประชาชนเท่านั้น เนื่องจากสมัยปี 2523 หรือ 36 ปีที่แล้ว จ.นราธิวาส นับว่ายังคงมีความลำบากหลายพื้นที่ ประชาชนไม่มีอาชีพ"

นิตดา เล่าว่า มีโอกาสรับใช้ถวายงานถึง 16 ปี ในช่วงนั้นมีโอกาสได้ร่วมห้องรับประทานอาหาร ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ประทับเสวยพระกระยาหารร่วมกับเจ้าหน้าที่ซึ่งตามเสด็จโดยไม่ถือพระองค์แม้แต่น้อย

การได้ถวายงานอย่างใกล้ชิดและต่อเนื่องยาวนานถึง 16 ปี ทำให้นิตยาได้รับรู้ถึงพระวิริยะอุตสาหะที่ทรงประกอบพระราชกรณียกิจเพื่อราษฎร ยิ่งทำให้เคารพรัก เทิดทูน และภูมิใจอย่างยิ่งที่มีโอกาสเกิดมาเป็นคนไทยใต้เบื้องพระยุคลบาทที่ทรงเปี่ยมไปด้วยพระเมตตา สิ่งนี้เองที่เป็นแรงบันดาลใจให้ทุ่มเททำงานรับใช้เบื้องพระยุคลบาทอย่างไม่ รู้จักเหน็ดเหนื่อย เพราะพระองค์คือขวัญและกำลังใจที่เปี่ยมล้นด้วยความเมตตา กรุณาต่อทุกคน

"เชื่อไหมดอกไม้ หรือสิ่งของทุกอย่างที่ชาวบ้านนำมาให้กับศูนย์ศิลปาชีพฯ ไม่เคยทิ้งแม้แต่อย่างเดียว จะให้นำไปใช้ประโยชน์ทุกอย่าง พระองค์ทรงรับสั่งว่าของใดก็ตามที่ชาวบ้านเอามาให้คือสิ่งที่มีค่า เขาจัดมาด้วยใจ อย่านาไปทิ้ง เพราะชาวบ้านรู้จะทำให้เสียใจ พระองค์ทรงแคร์ความรู้สึกของทุกคน"นิตยาเล่าถึงความประทับใจต่อน้ำพระทัยอันละเอียดอ่อน ใส่พระทัยต่อความรู้สึกของประชาชนขององค์ในหลวงภูมิพล

16 ปีที่ได้ติดตามเบื้องพระยุคลบาทถวายงานรับใช้พระราชกรณียกิจต่างๆ ในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ก่อนจะย้ายกลับภูมิลำเนาที่ จ.ตรัง แต่ตลอดเวลานิตยาก็ติดตามข่าวพระราชกรณียกิจอยู่เสมอ และช่วงแห่งที่สุดของความวิปโยค เมื่อสำนักพระราชวังแถลงการณ์เสด็จสวรรคตทำให้นิตยาเสียใจอย่างที่สุด

"รู้สึกรับไม่ได้กับความสูญเสียที่เกิดขึ้น ช่วงแรกๆ ไม่อยากออกไปนอกบ้าน ไม่อยากเห็นภาพที่แผ่นดินไทยไม่มีพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ตื่นเช้ามาก็ทำบุญตักบาตรเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลให้แด่พระองค์ แล้วกลับเข้าบ้าน อยู่แต่ในบ้านไม่ออกไปไหน ติดตามข่าวพิธี พระราชกรณียกิจทางทีวีตลอดเวลา และคิดว่าในโลกนี้ไม่มีใครอีกแล้วที่เหมือนพระองค์"

16 ปีที่ได้ถวายงาน นิตยาบอกว่า รับรู้ถึงความรัก น้ำพระทัยเมตตากรุณาต่อประชาชนของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชอย่างเต็มเปี่ยม

"สิ่งที่อยากจะบอกคนไทยทุกคน คือ ขอให้ทุกคนรักสามัคคีกัน อย่าทะเลาะกัน เพราะนี้คือสิ่งที่พระองค์ท่านปรารถนา ขอให้คนไทยรักกัน ไม่แบ่งสี ไม่แบ่งพรรค แบ่งพวก อยากขอสิ่งนี้เอาไว้ เพื่อพระองค์ท่าน" นิตดาในวัย 66 ปี เล่าถึงความทรงจำที่ประทับใจไม่เสื่อมคลาย ด้วยเสียงสะอื้นและต้องเช็ดน้ำตาเป็น ระยะๆ

เป็นความทรงจำถึงพระจริยวัตร น้าพระทัยที่ทรงห่วงใยและเสียสละเพื่อราษฎรของในหลวงภูมิพล "มหาราช" พระผู้เป็นที่เคารพรักของปวงพสกนิกรชาวไทยตลอดไป