posttoday

โมเดลสุโขทัยพ้นน้ำท่วม ยึดข้อมูลแม่นยำ-พลังมวลชนร่วม

23 สิงหาคม 2559

แม้สถานการณ์น้ำจะผ่านพ้นวิกฤตในรอบแรกไปแล้วอย่างปลอดภัย แต่ทางจังหวัดสุโขทัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก็ยังคงมีการเตรียมพร้อมรับมือมวลน้ำก้อนที่ 2

โดย...ทีมข่าวภูมิภาคโพสต์ทูเดย์ 

แม้สถานการณ์น้ำจะผ่านพ้นวิกฤตในรอบแรกไปแล้วอย่างปลอดภัย แต่ทางจังหวัดและกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย กองบัญชาการช่วยรบที่ 3 พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก็ยังคงมีการเตรียมพร้อมรับมือมวลน้ำก้อนที่ 2 จากอิทธิพลของพายุเตี้ยนหมู่ ซึ่งคาดว่าอีก 3 วันจะมาถึงสุโขทัย ด้วยการพร่องน้ำจากประตูระบายน้ำบ้านหาดสะพานจันทร์ อ.สวรรคโลก เพื่อเปิดพื้นที่รอรับน้ำใหม่ แล้วเอาของเก่ามากองไว้ที่ด้านใต้ของตัว อ.เมืองสุโขทัย ซึ่งมีประตูบ้านยางซ้ายปิดกั้นอยู่

ขณะเดียวกัน ก็ผันน้ำเข้าไปกักเก็บไว้ที่แก้มลิงทุ่งทะเลหลวงด้วย เมื่อด้านบนมีมวลน้ำก้อนใหญ่มาถึง ก็จะเปิดประตูบ้านยางซ้ายให้น้ำไหลระบายไปสู่ อ.กงไกรลาศ และ อ.บางระกำ ได้เร็วขึ้น ส่วนมวลน้ำพายุโซนร้อนเตี้ยนหมู่ที่กำลังไหลมายังสุโขทัยพบมีแค่ 420 ลบ.ม./วินาที น้อยกว่าลูกแรกครึ่งหนึ่ง

ปิติ แก้วสลับสี ผวจ.สุโขทัย กล่าวถึงแผนป้องกันน้ำท่วมของสุโขทัยที่ผ่านมาว่า สิ่งสำคัญที่สุดคือเรื่องของฐานข้อมูล ข้อเท็จจริง และสภาพที่เป็นปัจจุบัน ฐานข้อมูลคือปริมาณฝนที่ตกตั้งแต่จุดเริ่มต้นที่ อ.ปง จ.พะเยา ซึ่งสุโขทัยมีแม่น้ำยมไหลผ่าน กว่าจะมาถึงใช้เวลาเท่าไหร่ แล้วปริมาณฝนมีเบี่ยงเบนไปที่ไหนบ้าง เป็นต้น

“ผมใช้ข้อมูลเป็นตัวตั้งในการกำหนดแนวทางบริหารจัดการน้ำ และมีการเตรียมความพร้อมโดยตั้งคณะทำงานต่างๆ ร่วมกันดูแลรับผิดชอบ เฝ้าระวัง ติดตามข้อมูล พร้อมดำเนินแผนตามนโยบายของรัฐบาล ที่ไม่ต้องการให้มีพื้นที่ภัยแล้ง น้ำท่วมซ้ำซาก แต่สุโขทัยเผชิญปัญหานี้มาตลอด 20 กว่าปี ทุกปีต้องแจกถุงยังชีพ มีประกาศพื้นที่ประสบอุทกภัย ต้องหาเงินชดเชยให้นาข้าวกับพื้นที่การเกษตร รวมทั้งต้องซ่อมแซมสิ่งสาธารณูปโภคต่างๆ ใช้งบมากมาย” ผวจ.สุโขทัย กล่าว

เมื่อ 2 ปีที่ผ่านมาเมืองสุโขทัยประสบปัญหาวิกฤตภัยแล้งแบบเต็มๆ ทำให้เป็นกรอบแนวคิดว่าจะทำยังไงในการบริหารจัดการน้ำครั้งนี้ไม่ให้น้ำท่วมเสียหายมาก และสามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้งปีหน้าได้ด้วย

“การพร่องน้ำก็ต้องปล่อยในระดับที่เหมาะสมเพื่อป้องกันตลิ่งพัง และเราก็กักเก็บน้ำไปพร้อมกับการปล่อยทิ้งบางส่วน จนทำให้แก้มลิงทุ่งทะเลหลวงมีน้ำกักเก็บแล้ว 14 ล้าน ลบ.ม. จากความจุ 32 ล้าน ลบ.ม. บึงใหญ่จุน้ำได้ 12 ล้าน ลบ.ม. มีน้ำแล้ว 6 ล้าน ลบ.ม. และที่ทุ่งแม่ระวิง ความจุ 10 ล้าน ลบ.ม. มีน้ำแล้ว 4 ล้าน ลบ.ม.”

ทั้งนี้ แผนบริหารจัดการน้ำ จ.สุโขทัย ที่สามารถป้องกันน้ำเหนือล้นตลิ่งเข้าท่วมย่านเศรษฐกิจสำเร็จ คือ 1.ต้องมีฐานข้อมูล ข้อเท็จจริง 2.การเตรียมพร้อมโดยมีคณะทำงานร่วมกัน 3.บริหารจัดการให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล แก้น้ำท่วม แก้ภัยแล้ง ไม่ทิ้งน้ำอย่างเปล่าประโยชน์ และ 4.ความร่วมมือร่วมใจของทุกภาคส่วน ร่วมกันรับผิดชอบในหน้าที่ของตัวเองอย่างเต็มที่ เต็มกำลัง

ในส่วนของพื้นที่ที่มีปัญหาขาดแคลนน้ำอย่าง อ.ทุ่งเสลี่ยม และบางตำบลของ อ.คีรีมาศ และที่ ต.นาขุนไกร อ.ศรีสำโรง ซึ่งเป็นพื้นที่สูงและห่างจากแม่น้ำยมนั้นจะใช้แผนบริหารจัดการในเรื่องของการสร้างอ่างเก็บน้ำ และสร้างธนาคารน้ำ (เช็กแดม) ในป่าของเขาเอง เพื่อรักษาน้ำไว้ในป่าทำให้เกิดความชื้น ทำฝนเทียมได้ง่ายขึ้น ตอนนี้มีการปูพรมแล้วทั้งจังหวัดนับร้อยๆ ฝาย เพื่อเฉลิมพระเกียรติในหลวงและพระราชินีอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม กรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ชมเชยการแก้ปัญหาน้ำท่วมของสุโขทัยที่ผ่านมาว่าต้องยกความภาคภูมิใจของชาวสุโขทัยทั้งจังหวัด รวมทั้งส่วนราชการ หน่วยงาน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น รวมทั้งกองกำลังรักษาความสงบเรียบร้อย กองบัญชาการช่วยรบที่ 3 โดย พล.ต.ทรงวุฒิ จิตตานนท์ ผบ.กองกำลังฯ ซึ่งต่างก็มีส่วนร่วมและทำงานกันอย่างเต็มที่ตามกรอบนโยบายของรัฐบาล

ด้าน ธนาคม จงจิระ ผวจ.นครสวรรค์ กล่าวว่า ได้ประชุมส่วนราชการที่เกี่ยวข้องและนายอำเภอทุกอำเภอ เตรียมความพร้อมรับมวลน้ำจากภาคเหนือไหลลงสู่ภาคกลางผ่าน จ.นครสวรรค์ โดยได้เตรียมเครื่องสูบน้ำพลังสูงจำนวน 5 เครื่อง ผันน้ำในอัตราเครื่องละ 3 ลบ.ม./วินาที รวม 15 ลบ.ม./วินาที จากแม่น้ำน่านผ่านคลองระยะทาง 4 กิโลเมตร เข้าสู่บึงบอระเพ็ดไว้แล้ว

ขณะที่การขุดลอกบึงบอระเพ็ดทำแก้มลิงที่ได้มีการระดมรถแบ็กโฮไปขุดลอกก่อนหน้านี้ คาดว่าจะแล้วเสร็จก่อนปลายเดือน ก.ย.นี้อย่างแน่นอน ซึ่งแก้มลิงดังกล่าวจะสามารถรองรับและแบ่งน้ำบางส่วนที่จะไหลลงสู่ลุ่มเจ้าพระยาตั้งแต่ จ.นครสวรรค์ ลงไป และจะสามารถช่วยบรรเทาปัญหาอุทกภัยในพื้นที่ภาคกลางได้ระดับหนึ่ง