posttoday

"สมาร์ทเนินทราย" แหล่งผลิตสมาร์ทชาวนา

31 กรกฎาคม 2559

โรงเรียนเนินทรายวิทยาคม ใช้ที่ดินกว่า 4 ไร่ นำมาใช้เป็นที่เรียนรู้อาชีพการเกษตร แบบทำจริง และทำทั้งกระบวนการ

โดย...จักรกฤชณ์ แววคล้ายหงษ์

กระทรวงศึกษาธิการเพิ่งเริ่มต้น “ลดเวลาเรียนในห้อง เพิ่มเวลาเรียนรู้” ซึ่งภาคการศึกษานี้ถือเป็นภาคการศึกษาที่ 2 ของนโยบายนี้ แต่สำหรับ โรงเรียนเนินทรายวิทยาคม ต.เนินทราย อ.เมือง จ.ตราด มีการจัดการศึกษาเพื่อให้นักเรียนได้สัมผัสประสบการณ์จริง และยังมีความชำนาญ โดยริเริ่มมาแล้วก่อนหน้านี้ถึง 5 ปี

โรงเรียนเนินทรายวิทยาคม ใช้ที่ดินกว่า 4 ไร่ นำมาใช้เป็นที่เรียนรู้อาชีพการเกษตร แบบทำจริง และทำทั้งกระบวนการ ตั้งแต่เพาะปลูก แปรรูป และการจำหน่าย ที่สำคัญกระบวนการเรียนรู้ดังกล่าวยึดตามแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว

รักพงศ์ จุลเจริญ ผู้อำนวยการโรงเรียนเนินทรายวิทยาคม บอกถึงที่มาของการเรียนรู้นี้ว่า ได้จัดการเรียนรู้ครบทั้งกระบวนการ ทั้งการผลิต การขาย การจัดการ ให้นักเรียนนำไปประกอบอาชีพได้ ข้าวที่ปลูกก็นำมาเป็นอาหารกลางวันในโรงเรียน ส่วนที่เหลือก็แปรรูปจำหน่ายในนามของโรงเรียนและของตำบล

“ถ้านักเรียนจบ ม.6 แล้วไม่เรียนต่อ ก็สามารถนำทักษะ ต่อยอดอาชีพเลี้ยงตัวเองในอนาคต เป็นเกษตรกรก้าวหน้า เป็นนักบริหารจัดการที่ดี ซึ่งเหล่านี้เป็นการตอบสนองนโยบายในการเรียนรู้นอกเวลาเรียน ลดเวลาเรียนในห้อง เพิ่มเวลาเรียนรู้”

"สมาร์ทเนินทราย" แหล่งผลิตสมาร์ทชาวนา

นที รัตนพิทักษ์ หัวหน้ากลุ่มส่งเสริมอาชีพ ผู้ริเริ่มโครงการนี้เมื่อปี 2553 บอกว่า นักเรียนจะเรียนรู้และทำด้วยตัวเอง ตั้งแต่กระบวนการเตรียมต้นกล้าในถาด การใช้ปุ๋ย และการนำต้นกล้าข้าวลงสู่แปลงนา บริเวณแปลงนาสาธิตในเนื้อที่ 4 ไร่

“เรามุ่งส่งเสริมให้นักเรียนน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาใช้ในชีวิตประจำวัน เนื่องจากเป็นรากฐานสู่ความมั่นคงในการดำรงชีวิตในอนาคต ข้าวที่ผลิตได้จะนำมาเป็นอาหารกลางวัน อีกส่วนหนึ่งจะนำไปให้โรงสีชุมชนทำแพ็กเกจบรรจุขายในนามของโรงเรียนเนินทรายวิทยาคม ซึ่งข้าวที่ปลูกเป็นข้าวไรซ์เบอร์รี่ ได้รับความนิยมสามารถนำรายได้มาเป็นกองทุนโรงเรียนและเป็นรายได้ให้กับนักเรียนได้”

"สมาร์ทเนินทราย" แหล่งผลิตสมาร์ทชาวนา วิมลพร แก้วเกิด

ด้าน วิมลพร แก้วเกิด หรือน้องทีน นักเรียนชั้น ม.5 บอกว่า ต้องเอาใจใส่ เริ่มจากการผลิต การเก็บเกี่ยว และการคิดว่าเมื่อได้ผลผลิตมาแล้วจะนำไปทำอะไร ซึ่งทางโรงเรียนนำมาเป็นอาหารกลางวัน ที่เหลือนำไปขาย ต้องคิดอีกว่าจะทำอย่างไรให้ขายได้ ไม่ใช่ให้ผู้บริโภคซื้อเพราะเป็นของนักเรียน แต่ซื้อเพราะเป็นความต้องการจะซื้อจริงๆ เพราะคุณภาพ สิ่งที่ได้เรียนรู้ทั้งหมด สามารถนำไปต่อยอดใช้ประกอบอาชีพได้จริง

“ในชีวิตจริงพวกเราทุกคนสามารถนำไปประกอบอาชีพได้ เพราะพ่อแม่ก็เป็นเกษตรกรอยู่แล้ว พวกเราดีใจและภูมิใจที่ได้มาเรียนที่โรงเรียน เพราะหากไปเรียนโรงเรียนอื่นๆ คงไม่มีโอกาสที่จะเรียนรู้เช่นนี้ นอกจากได้ความรู้แล้วยังได้เงินเป็นทุนการศึกษาด้วย”

ขณะที่ ฤทธิไกร ไขแสง หรือ ก็อด นักเรียนชั้น ม.6 บอกว่า สิ่งสำคัญคือการได้เรียนรู้ด้วยตัวเอง วิเคราะห์และเก็บข้อมูลด้านการผลิตว่าวิธีไหนที่สามารถได้ผลผลิตมากกว่ากัน รวมทั้งการจำหน่าย ความรู้ที่นำมาใช้ได้ เช่น สภาพพื้นที่ปลูก ดินที่ปลูกเหมาะสมหรือไม่ จะแก้ไขอย่างไร การแก้ปัญหาศัตรูพืชโดยใช้พืชในท้องถิ่น เช่นต้นสะเดา ต้นบอระเพ็ด มาแก้ปัญหา เช่น หอยเชอร์รี่ หรือโรคเชื้อราต่างๆ

"สมาร์ทเนินทราย" แหล่งผลิตสมาร์ทชาวนา ฤทธิไกร ไขแสง

ด้าน วิจิตร อยู่คง ผู้ปกครองและเกษตรกรชาวนาที่มาเป็นวิทยากรให้นักเรียน บอกว่า การฟื้นฟูกระบวนการแบบนี้ให้กับเด็ก เป็นเรื่องสำคัญเพื่อปลูกจิตสำนึก เป็นเรื่องดีที่จะทำให้เด็กได้เรียนรู้การทำเกษตรสมัยเก่า และควรจะต้องทำต่อไป วางเป็นแผนงานต่อไปในอนาคตด้วย

โครงการของโรงเรียนเล็กๆ แห่งนี้ อาจเป็นจุดเริ่มต้นพลิกเปลี่ยนวิถีชาวนาไทยในอนาคต ให้เป็น “SMART FARMER” เป็นชาวนาที่เข้มแข็งทั้งความรู้ในวิธีการผลิตที่มีคุณภาพ ตลอดจนการแปรรูป และการจำหน่ายที่สร้างรายได้ โดยไม่ผ่านโรงสี หรือพ่อค้าคนกลาง เพื่ออนาคตที่ชาวนาสามารถยืนหยัดได้ด้วยตนเองอย่างมั่นคง