posttoday

ถอดรหัส"ถนนสีแดง"มากกว่าสะดุดตาคือความปลอดภัย

16 พฤศจิกายน 2558

ไขข้อสงสัย "เหตุใดต้องทาสีแดงลงบนพื้นถนน" กรณีศึกษาจากโค้งร้อยศพ ตาก-แม่สอด

เรื่อง...อินทรชัย พาณิชกุล

เรียกเสียงฮือฮาได้ไม่น้อย

หลังจากกรมทางหลวงสั่งการให้ทาสีแดงทับลงบนพื้นถนนเป็นระยะทางกว่า 200 เมตร บริเวณโค้งอันตรายวัดห้วยเตย ถนนเอเชียไฮเวย์ที่ 12 บ้านห้วยเตย-ห้วยหินฝน ต.แม่ปะ อ.แม่สอด จ.ตาก หรือที่ชาวบ้านรู้จักกันดีในชื่อ "โค้งร้อยศพ ตาก-แม่สอด" โดยให้เหตุผลว่าเพื่อลดอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นอยู่เป็นประจำแทบทุกวัน

คำถามเกิดขึ้นตามมาคือ ทำไมถึงต้องทาสีแดงลงบนพื้นถนน? สีแดงมีความหมายอย่างไร? และจะช่วยลดอุบัติเหตุได้จริงหรือ?

จากการเปิดเผยของกรมทางหลวงพบว่า ถนนเส้นดังกล่าวเกิดอุบัติเหตุขึ้นบ่อยครั้ง ที่ผ่านมาได้แก้ปัญหาด้วยการติดตั้งจุดสังเกตไว้ริมทาง เช่น ป้ายลดความเร็ว ป้ายห้ามขับเกิน 40 กม.ต่อชั่วโมง ป้ายระวังถนนลื่น แต่ก็ไร้ผล ในที่สุดจึงใช้วิธีทาสีลงบนพื้นถนน เพื่อให้ผู้ขับขี่รถสัญจรผ่านไปมารู้สึกสะดุดตายิ่งขึ้น

สีที่ใช้ทามีลักษณะพิเศษคือ สีโคลด์พลาสติกแอนตี้สคิด ผสมกับลูกแก้ว เมื่อผู้ขับขี่รถผ่านมาในเวลากลางคืน แสงไฟจากรถจะส่องกระทบพื้นและจะมีแสงระยิบระยับสะท้อนให้เห็นชัดเจน ขณะเดียวกันยังมีแรงเสียดทาน ทำให้ยางรถยึดเกาะถนนได้ดียิ่งขึ้นด้วย

"รู้กันในหมู่คนที่สัญจรผ่านไปมาบนเส้นทางนี้ว่า ถนนสายตาก-แม่สอด เกิดอุบัติเหตุทุกวัน คว่ำตกข้างทางบ้าง ลื่นไถลบ้าง เนื่องจากเป็นเส้นทางหุบเขาที่คดเคี้ยว บวกกับคนขับมักใช้ความเร็วสูง หรือไม่ชำนาญทาง นอกจากนี้สภาพพื้นผิวถนนที่เป็นทางลาดไต่เขาถูกเสียดสีบ่อยจึงสึกค่อนข้างเร็ว ผิวถนนที่เป็นมันจึงไม่มีแรงเสียดทาน พอฝนตก ถนนเลยลื่น เสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุมาก

วิธีเดียวที่จะช่วยให้ผู้ขับขี่ลดความเร็วลงได้คือ สร้างความตระหนักว่าพื้นที่บริเวณดังกล่าวมีความเสี่ยงอันตราย ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ ซึ่งการติดป้ายเตือน เช่น ลดความเร็ว ระวังโค้งอันตราย ก็ดูเหมือนจะไม่ได้ผลแล้ว ดังนั้นการที่เลือกใช้สีฉูดฉาดมาทาทับถนนพื้นถนนให้โดดเด่นสะดุดตา น่าจะช่วยให้คนตระหนักถึงความเสี่ยงอันตรายได้"

ผศ.ทวีศักดิ์ แตะกระโทก อาจารย์ประจำคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าว

ถอดรหัส\"ถนนสีแดง\"มากกว่าสะดุดตาคือความปลอดภัย

ผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมจราจรรายนี้ อธิบายต่อว่า สีที่นำมาใช้ทาไม่ใช่สีธรรมดา แต่เป็นสีพิเศษที่มีลักษณะเป็นสีพลาสติกผสมกับวัสดุมวลรวม เพื่อเพิ่มแรงเสียดทานให้กับผิวถนน ช่วยให้รถยึดเกาะถนนได้ดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะช่วงฝนตก

"นอกจากการใช้สีเพื่อให้สะดุดตา และเกิดความตระหนัก ลักษณะพิเศษของสีชนิดนี้ยังช่วยเพิ่มแรงเสียดทานให้พื้นผิวถนน ช่วยให้รถยึดเกาะถนนดียิ่งขึ้น อย่างที่ผ่านมารถบรรทุกขนาดใหญ่แทบจะไม่สามารถไต่ขึ้นได้ เนื่องจากผิวถนนถูกเสียดสีจนสึกเป็นมันเลื่อม ล้อจึงหมุนฟรี ทำให้รถไถลตกลงข้างทางอยู่บ่อยๆ ในกรุงเทพเองก็มีการใช้วิธีทาสีถนนในลักษณะนี้หลายจุด เช่น สะพานข้ามห้าแยกลาดพร้าว สะพานข้ามแยกบางใหญ่ สะพานทางเข้าสนามบินสุวรรณภูมิ"

ผศ.ทวีศักดิ์ แนะนำไปยังผู้ใช้รถใช้ถนนว่า เมื่อขับไปเจอพื้นถนนสีแดง ควรตื่นตัว ระมัดระวัง และลดความเร็วลงตามที่ป้ายกำหนดไว้

ขณะที่ นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) ให้ความรู้ทางวิชาการว่า การทาสีลงบนพื้นถนน มาจากคำว่า Anti Skid Paint มักใช้บริเวณจุดที่ต้องการเพิ่มแรงเสียดทานให้รถเกาะถนน เช่น ทางโค้ง

"Skid แปลว่าลื่นไถล การใช้ Anti Skid Paint ก็คือการทาสีเพื่อป้องกันไม่ให้รถลื่นไถล โดยจะมีหลายรูปแบบ เช่น สีเขียว สีส้ม สีน้ำเงิน สีแดง ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ ข้อดีแต่ละสีแตกต่างกัน สีส้มเหมาะกับเตือนให้ความสว่างในช่วงกลางคืน สีแดงจะให้ความรู้สึกระมัดระวังเป็นพิเศษ เป็นต้น ทีนี้ก็ต้องพิจารณาดูว่าพื้นที่นั้นๆมีปัญหาลักษณะไหน เสียหลักหลุดโค้ง หรือข้ามเกาะมาประสานงากัน

ถ้าเป็นการวิ่งมาด้วยความเร็ว และหลุดโค้ง การใช้ Anti Skid Paint อย่างเดียวอาจไม่พอ ต้องมีมาตรการชะลอความเร็วก่อนเข้าโค้งเข้ามาช่วยด้วย เช่น 1.ใช้ป้ายเตือน สัญญาณไฟกะพริบเตือนเป็นตัวกำหนดความเร็ว เช่น "ลดความเร็ว""ระวังทางโค้ง" 2.เตือนเป็นการตัวอักษร ตัวเลข หรือสัญลักษณ์ที่เข้าใจได้ง่ายลงบนพื้นถนน หรือเรียกว่า “มาร์กกิ้ง 3.เตือนด้วยลูกระนาด (Rumble Strip ) เป็นเครื่องหมายจราจรบนผิวทางที่มีลักษณะเป็นเส้นหลายๆเส้นเพื่อให้ขับรถให้ช้าลง เมื่อผ่านเส้นชะลอความเร็วรถจะเกิดอาการสั่นสะเทือน ทำให้ผู้ขับขี่ตื่นตัวและเพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษ  4.บีบถนนให้แคบลง ด้วยการตีเส้นช่องทาง หรือขีดเส้นเป็นสัญลักษณ์เตือนให้ลดความเร็วที่มองเห็นได้ง่าย เรียกว่า Optical speed bar หรือเครื่องหมายที่ติดตั้งบนไหล่ทางที่เรียกว่า Shoulder Rumble Strip ทำให้คนขับรถรู้สึกว่าถนนแคบลง และจะลดความเร็วลงโดยอัตโนมัติ"

ถอดรหัส\"ถนนสีแดง\"มากกว่าสะดุดตาคือความปลอดภัย

ในมุมมองของนักวิชาการด้านความปลอดภัยบนท้องถนนรายนี้เชื่อว่า การใช้วิธีทาสีลงบนพื้นถนน หรือ Anti Skid Paint ใช้งบประมาณไม่แพง เมื่อเทียบกับการต้องเปลี่ยนกายภาพของถนน เช่น การยกโค้ง แต่ถ้าท้ายที่สุดแล้ววิธีนี้ไม่ได้ผลก็อาจต้องไปแก้ไขในระดับกายภาพ

"ข้อเสนอของผมคือ ควรมีการประเมินผลก่อนและหลังการทาสีแดงลงบนถนน เช่น ก่อนหน้านี้มีสถิติอุบัติเหตุเกิดขึ้นบ่อยแค่ไหน รูปแบบใด และหลังจากมาตรการนี้ออกไปช่วยลดอุบัติเหตุได้แค่ไหน อย่างไร การประเมินผลจะทำให้การวิเคราะห์ปัญหาเป็นไปอย่างแม่นยำและมีประสิทธิภาพ"

เบื้องหลังแนวคิดการทาสีแดงลงบนพื้นผิวถนน นอกจากจะช่วยให้เกิดความสะดุดตา เกิดความตระหนักในกลุ่มผู้ขับขี่รถยนต์แล้ว ยังมีคุณประโยชน์แฝงไว้มากมายอย่างที่ใครก็คิดไม่ถึง.

ถอดรหัส\"ถนนสีแดง\"มากกว่าสะดุดตาคือความปลอดภัย นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน