posttoday

ชะตากรรมชาวแม่สอด รัฐบีบคืนที่สร้างเขตศก.พิเศษ

19 ตุลาคม 2558

"ปัจจุบันที่ดินใน อ.แม่สอด มีราคาพุ่งสูงถึงไร่ละ 12-25 ล้านบาท จากเดิมเพียงไร่ละ 1 ล้านบาท แต่ชาวบ้านกลับได้เงินชดเชยจากการเวนคืนเพียงไร่ละ 7,000- 1.2 หมื่นบาทเท่านั้น"

โดย...ธนวัฒน์ เพ็ชรล่อเหลียน

ศักยภาพการค้าชายแดน อ.แม่สอด จ.ตาก สูงที่สุดในจุดผ่านแดนตะวันตก เนื่องจาก จ.ตาก อยู่ประชิดประเทศเมียนมา ซึ่งมีประชากร 55.26 ล้านคน และยังตั้งอยู่บนแนวเส้นทางการพัฒนาการค้า การลงทุน East West Economic Corridor เชื่อมต่อกับท่าเรือดานัง ประเทศเวียดนาม ที่มีประชากรมากถึง 89.71 ล้านคน

มูลค่าการส่งออกผ่านทาง อ.แม่สอด ในปีงบประมาณ 2558 สูงถึง 64,240 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2557 ถึง 14.8%

หากเทียบเคียงตัวเลขย้อนหลัง 5 ปี คือตั้งแต่ปี 2554-2558 จะพบว่าเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2554 มีมูลค่าการส่งออกรวม 17,491 ล้านบาท และเพิ่มขึ้นเป็น 35,131 ล้านบาท 41,463 ล้านบาท 55,957 ล้านบาท และ 64,240 ล้านบาท ตามลำดับ

นอกจากนี้ ด่านศุลกากรแม่สอดเพียงด่านเดียว มีสินค้าผ่านแดนและสินค้าถ่ายลำมูลค่าสูงถึง 16,114 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดจากปี 2554 ที่มีเพียง 4,615 ล้านบาทเท่านั้น

เมื่อพิจารณาตัวเลขการส่งออกและสินค้าผ่านแดน-สินค้าถ่ายลำแล้ว ไม่น่าเชื่อว่า “การขนส่งทางบก” จะมีเพียงสะพานแห่งที่ 1 จุดผ่านแดนถาวรตามข้อตกลงไทย-เมียนมา ซึ่งมีแค่ 2 เลนเท่านั้น สภาพปัจจุบันจึงเนืองแน่นไปด้วยรถบรรทุกจอดเรียงรายเป็นแถวยาว ส่วน “การขนส่งทางน้ำ” ทุกวันนี้มีท่าข้ามแม่น้ำเมยจำนวน 22 จุด

เป็นที่มาของการสร้างสะพานมิตรภาพไทย-พม่า แห่งที่ 2 แม่สอด-เมียวดี เพื่อลดความแออัด สะพานแห่งนี้มีความยาวทั้งสิ้น 760 เมตร มี 4 ช่องทางจราจร และจะเชื่อมต่อกับถนน 4 เลน ระยะทางประมาณ 17 กิโลเมตร ซึ่งกรมทางหลวงเตรียมดำเนินการขยาย

ขณะเดียวกัน ศุลกากรได้ขอใช้พื้นที่จากกรมป่าไม้-ส.ป.ก. จำนวน 319 ไร่ เพื่อสร้างด่านศุลกากรแม่สอดแห่งใหม่ บริเวณสะพานมิตรภาพฯ แต่ที่ประชุมประชาคมชุมชนหมู่ 2 และ 7 บ้านวังตะเคียนใต้ ต.ท่าสายลวด  อ.แม่สอด มีมติไม่ยินยอม นั่นเพราะพื้นที่ดังกล่าวมีชุมชนหนาแน่นตั้งอยู่

ความเชื่อมโยงของนโยบายการพัฒนา ทั้งการสร้างสะพานมิตรภาพฯ แห่งที่ 2 การขยายถนนเพิ่มเป็น 4 เลน การสร้างด่านศุลกากรแห่งใหม่ รวมถึงพื้นที่อีก 2,181 ไร่ ที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้อาศัยอำนาจตามมาตรา 44 เพิกถอนป่าสงวน ป่าถาวร ที่ดินสาธารณประโยชน์ใน ต.ท่าสายลวด เพื่อมอบให้การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) บริหาร 836 ไร่ และให้กรมธนารักษ์บริหารอีก 1,287 ไร่ อยู่ในผืนดินผืนใหญ่ติดต่อกัน

บริเวณแห่งนั้นมีคนเล็กคนน้อยชาววังตะเคียน หมู่ 4 และหมู่ 7 จำนวน 950 ครัวเรือน 2,297 ราย อาศัยอยู่ เขาเหล่านั้นยังชีพด้วยการทำนา เลี้ยงสัตว์ ทำสวนและทำไร่ แน่นอนว่าในอนาคตอันใกล้คนทั้งหมดจะไม่มีที่อยู่ ไม่มีที่ดินทำกิน

“เราเอาสะพาน เอาการพัฒนา แต่ไม่เอานิคมอุตสาหกรรม” ชาวบ้านวังตะเคียน ระบุ

พนม แสงแปง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลท่าสายลวด ให้ภาพว่า ต.ท่าสายลวด มีด้วยกัน 7 หมู่บ้าน ประชากรประมาณ 4,000 ราย ส่วนใหญ่ทำการเกษตร ขณะนี้ชาวบ้านต้องการความชัดเจนว่าเมื่อเอาที่ดินของชาวบ้านไปแล้วจะให้ไปอยู่ที่ไหน และคุ้มค่ากับที่ต้องสูญเสียที่ดินไปหรือไม่ ส่วนตัวเชื่อว่าจะเกิดปัญหาแน่ เนื่องจากชาวบ้านประกาศจุดยืนชัดเจนว่าจะไม่ยินยอมออกจากพื้นที่

“ชาวบ้านในพื้นที่ไม่ได้ขัดขวางนโยบายเขตเศรษฐกิจพิเศษ เพียงแต่ต้องการความชัดเจนที่จะเกิดขึ้นกับอนาคตของเขา” ผู้นำท้องถิ่นรายนี้ ระบุ

ชมพูนุท เครือคำวัง กลุ่มคนแม่สอดรักษ์ถิ่น บอกว่า ปัจจุบันที่ดินใน อ.แม่สอด มีราคาพุ่งสูงถึงไร่ละ 12-25 ล้านบาท จากเดิมเพียงไร่ละ 1 ล้านบาท แต่ชาวบ้านกลับได้เงินชดเชยจากการเวนคืนเพียงไร่ละ 7,000-1.2 หมื่นบาทเท่านั้น

ภราดร กานดา รองประธานหอการค้าจังหวัดตาก กล่าวว่า บรรพบุรุษของชาวบ้านเข้ามาอยู่ในพื้นที่ตั้งแต่มี อ.แม่สอด เกิดขึ้น ดังนั้นต้องถือว่าเขาเป็นผู้บุกเบิก ไม่ใช่เป็นผู้บุกรุก คำถามคือเมื่อมีความเจริญเหตุใดจึงต้องไล่เขาออกไป

ตัวเลขทางเศรษฐกิจชัดเจนว่า อ.แม่สอด มีศักยภาพสูงและสมควรได้รับการส่งเสริม แต่การพัฒนาต้องไม่ไปทำร้ายทำลายชาวบ้าน-คนเล็กคนน้อยในสังคม

เป้าหมายดีแต่วิธีการไม่ถูกต้อง จำเป็นต้องทบทวน

มาตรวัดชีวิตไม่อาจตีมูลค่าเป็นตัวเงิน ถึงเขาจะส่วนน้อยแต่ก็เป็น “คน” เท่ากัน