posttoday

ชาวม้งภูทับเบิกยันปลูกมันฝรั่งรายได้ดีกว่าผักปลอดสารพิษ

26 ตุลาคม 2559

เพชรบูรณ์-ชาวม้งภูทับเบิกแจงปลูกมันฝรั่งบนภูทับเบิกสร้างรายได้งามกว่าปลูกผักปลอดสารพิษ เข้าใจความหวังดีรองผู้ว่าฯแต่จะให้เปลี่ยนแนวคิดต้องใช้เวลา

เพชรบูรณ์-ชาวม้งภูทับเบิกแจงปลูกมันฝรั่งบนภูทับเบิกสร้างรายได้งามกว่าปลูกผักปลอดสารพิษ เข้าใจความหวังดีรองผู้ว่าฯแต่จะให้เปลี่ยนแนวคิดต้องใช้เวลา

เมื่อวันที่ 26ต.ค.59 นายใจ แซ่เถา ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 14 บ้านทับเบิก ต.วังบาล อ.หล่มเก่า เกษตรกรผู้ปลูกมันฝรั่งบนภูทับเบิก กล่าว่ากรณีนายไกรสร กองฉลาด รองผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบูรณ์ โพสเฟซบุ๊กส่วนตัวคัดค้านการปลูกมันฝรั่งบนภูทับเบิก อ้างเรื่องเกษตรพันธะสัญาที่จะผูดมัดชาวบ้าน และการใช้ปุ๋ยยาจนสร้างมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม และยังขัดต่อแนวทางที่ทางจังหวัดกำลังเร่งขับเคลื่อนส่งเสริมการปลูกผักปลอดสารพิษ ว่า เข้าใจถึงความหวังดีของรองผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นอย่างดี แต่การปรับเปลี่ยนแนวความคิดของชาวบ้านคงต้องใช้ระยะเวลาที่สำคัญการปลูกมันฝรั่งได้รับรายได้ที่ค่อนข้างสูงคือแรงจูงใจสำคัญ ส่วนผักปลอดสารที่ทางจังหวัดพยายามส่งเสริมอยู่นั้นเป็นโครงการที่ดีมาก แต่ห้างให้โควต้ารับซื้อแค่ราว 2% ของพื้นที่เพาะปลูกเท่านั้น ส่วนอีก 98% ก็ยังปลูกกันแบบปกติ และส่งขายที่ตลาดกลางค้าพืชผักที่อ.หล่มสักเป็นส่วนใหญ่

"การปลูกมันฝรั่งในพื้นที่ภูทับเบิกนั้นทางเอกชนได้เข้ามาส่งเสริมให้ชาวบ้านปลูกเป็นเวลาราว 10 ปีแล้ว โดยพื้นที่เพาะปลูกแต่ละปีจะไม่เท่ากันต่ำสุดราว 400 ไร่ และสูงสุดราว 1,000 ไร่ ส่วนการใช้สารเคมีก็ใช้น้อยกว่าการปลูกกะหล่ำปลีการที่เอกชนประกันราคาโดยรับซื้อผลผลิตในกิโลกรัมละ 14 บาท ทำให้เกษตรกรมีความพึงพอใจ เพราะในการเพาะปลูกใช้ระเวลาราว 90 วันก็สามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตส่งขายให้เอกชนได้แล้ว ขณะเดียวกันรายได้ต่อไร่ก็ค่อนข้างสูง จึงทำให้เกิดแรงจูงใจจนชาวบ้านหันไปเพาะปลูก" นายใจกล่าว

ส่วนกรณีที่เอกชนจะนำเข้าหัวพันธุ์มันฝรั่งมาเพาะปลูกนั้น ก็ได้รับการชี้แจงว่าแม้ต้นทุนอาจจะสูงขึ้น แต่ผลผลิตก็จะได้มากและมีคุณภาพตามขึ้นไปด้วย แต่การจะนำเข้าได้นั่นจำเป็นต้องได้รับยืนยันถึงแหล่งเพาะปลูกจริง ฉะนั้นเกษตรกรชาวภูทับเบิกเกือบ 100 รายพื้นที่เพาะปลูกราว 1,020 ไร่ จึงร่วมกันลงชื่อยืนยัน โดยมีเกษตรอำเภอและทางอำเภอหล่มเก่าให้การรับรอง ซึ่งทราบจากทางเอกชนว่าขณะนี้ขั้นตอนนี้ผ่านไปถึงทางจังหวัดแล้ว ซึ่งพวกเราก็คาดหวังว่าในฤดูกาลเพาะปลูกหน้าโดยในราวเดือนเมษายนปี 2560 จะได้เริ่มลงมือเพาะปลูกมันฝรั่งที่ใช้หัวพันธุ์จากต่างประเทศ